ทักษิณ เร่งปิดบัญชีว่าที่ ส.ส. เพื่อไทย เคลียร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้ พรรคเพื่อไทย หัวกระไดไม่แห้ง เป็นพรรคเนื้อหอม หลังจากกติกาเลือกตั้งหวนกลับไปใช้สูตรสำเร็จที่พรรคเพื่อไทยถนัด-ชนะเลือกตั้งได้ทุกครั้ง

ภายหลังภาพของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” นักการเมืองรุ่นเก๋า กลับเข้าสู่บ้านหลังเก่า “พรรคเพื่อไทย” นับแต่ออกผจญภัยในทฤษฎีแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย โดยเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ

แม้ว่าจะเคยไปอยู่ในวงโคจรพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลระยะหนึ่ง ก่อนรวบรวมสมัครพรรคพวกเริ่มต้นพรรคการเมืองชื่อว่า “เส้นทางใหม่”

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน “จาตุรนต์” จึงกลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง พร้อมด้วยน้องชาย-น้องสาว นายวุฒิพงศ์ และนางฐิติมา ฉายแสง

ท่ามกลางการต้อนรับจากคณะผู้บริหารพรรค-ทีมงานกลุ่มแคร์กลุ่มผู้มีอำนาจนำ บรรจงกลัดเข็มกลัดพรรคให้

แต่ในทางพฤตินัย “จาตุรนต์” ยังไม่ได้ใส่เสื้อคลุมพรรคเพื่อไทย ตามธรรมเนียมที่ย้ายเข้าพรรคการเมือง ก็เพราะว่า…“ไม่สามารถบอกว่าผมสวมเสื้อคลุมเพื่อไทยได้ เพราะทีมงานเตรียมเสื้อไซซ์ผิด” จาตุรนต์เล่าแบบอารมณ์ดี

ส่วนบุคคลที่ตามมาติด ๆ คือ “สามารถ แก้วมีชัย” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ปลายปี 2562 ตัดสินใจลาขาดจากพรรคเพื่อไทย ด้วยความขัดแย้งเรื่องการส่งคนลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ที่พรรคเพื่อไทยเลือก “วิสารตี เตชะธีราวัฒน์” ลงสมัครนายก อบจ.เชียงราย แทนคนที่นายสามารถสนับสนุน

ก่อนโคจรไปยังร่วมหาสมาชิกพรรคให้ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กว่า 3 เดือน ซึ่งนักเลือกตั้งภาคเหนือปักใจเชื่อว่า “สามารถ” ลุยงานการเมืองกับไทยสร้างไทยแน่นอน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามคาด

มีการประเมินในพื้นที่ว่า ณ ขณะนี้ “สามารถ” ไม่มีคะแนนส่วนตัวในพื้นที่ เลือกตั้งครั้งหน้าอาจไปเดี่ยว ๆ กับพรรคเกิดใหม่ไม่ไหว จึงต้องกลับพรรคเพื่อไทย

ผ่านไป 2 ปีพอดี “สามารถ” กลับเข้าพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่หนีไปไหนอีก

นอกจาก จาตุรนต์-สามารถ ยังมีบุคคลที่ติดสอยห้อยตามกันมา อาทิ “นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ” ที่เคยย้ายไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ เมื่อการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา

วิชิต ปลั่งศรีสกุล เลขาธิการมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ซึ่งก่อนหน้านี้ไปเป็นผู้สมัครนายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่นการเมืองท้องถิ่นในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อสอบตกก็กลับมาอยู่วงใน

คณวัฒน์ วศินสังวร อดีตทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่หายหน้าหายตาไปนานก็ปรากฏตัว บอกว่า ไม่ไปไหนไกล ก็อยู่แถวนี้ (พรรคเพื่อไทย)

คนเก่า-หน้าเก่า ทยอยกลับมา เป็นจังหวะเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยกำลัง “จัดทัพ” ใหม่ เพื่อให้พร้อมสู้ศึกการเลือกตั้ง รับศึกอุบัติเหตุการเมือง

แม้ที่จริงแล้วการเลือกตั้งยังอีกยาวไกล เมื่อผู้มีอำนาจ 3 ป. ส่งสัญญาณทอดยาวการเลือกตั้งอยู่จนครบวาระปี 2566 แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ประมาท เพราะการเมืองปี 2565 จะรุนแรงขึ้น ภายหลังจากโควิด-19 ซาลง การเรียกร้องรัฐธรรมนูญการชุมนุมไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ในจังหวะที่ก้ำกึ่งว่าอยู่ในอำนาจครบ 8 ปี หรือไม่ จะกลายเป็นวาระร้อนที่รอปะทุ

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยประเมินว่า การยุบสภาอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดอาจเป็นช่วงมีนาคม-กรกฎาคม 2565

หลังฉากอีเวนต์ “เปิดตัว” บิ๊กเนม ไปเมื่อ 14 ธันวาคม 2564 พรรคเพื่อไทยยังจัดตัวผู้สมัครในพื้นที่ 400 เขตอย่างต่อเนื่อง

นายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร” หารือกับผู้บริหารพรรค ใช้หลักการในการจัดทัพห้วงเวลานี้ คือ คนเดิม (ส.ส.) ต้องจัดให้เสร็จในสิ้นปี 2564 ส่วนคนที่จะเข้ามาใหม่ต้องได้ข้อสรุปไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2565 เพื่อเตรียมรับอุบัติเหตุทางการเมือง หากมีการเลือกตั้งแบบปัจจุบันทันด่วน

จึงมีข่าวหนาหูออกมาจากพรรคเพื่อไทยว่า ในช่วงเปิดศักราชใหม่ 2565 “ทักษิณ” อาจเปิดบ้านที่ดูไบ เคลียร์บัญชี ส.ส.

“ท่านทักษิณก็คงไม่อยากให้การจัดตัวยืดเยื้อ” แหล่งข่าวที่รู้เห็นความเป็นไปในการจัดทัพเลือกตั้งของเพื่อไทยกล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้ ภาคเหนือ-อีสานยังเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคเพื่อไทย

ภาคเหนือ ส.ส.ในพรรคยังมั่นใจว่า พรรคอื่นเจาะเพื่อไทยลำบาก แม้ในเชียงใหม่-เชียงราย พรรคภูมิใจไทยจะขยายอิทธิพล ใช้พลังดูด ส.ส.จากอนาคตใหม่-ก้าวไกล มาเป็นพวก แต่เมื่อกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนไป ผู้สมัครมีคะแนนความนิยมของพรรคตุนอยู่ในกระเป๋า 35% น่าจะเอาชนะคู่แข่งได้ไม่ยาก

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงกล่าวว่า การเข้ามาของนายสามารถจะทำให้ยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรคประสบความสำเร็จมากขึ้น

ทั้งนี้ อย่างน้อย “สามารถ” ก็เก๋า-เก่าในพื้นที่

ขณะที่แหล่งข่าวแกนนำเพื่อไทย โซนภาคอีสาน เชื่อมั่นว่า คนอีสานยังต้อนรับพรรคเพื่อไทยอยู่ ยังรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ให้ได้ “จากการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้ 84 ที่นั่ง ในภาคอีสาน เมื่อเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ส.ส.อีสานเพิ่มขึ้น จึงคาดหวังไว้ว่าจะได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้น และครองหัวใจคนอีสานได้เหมือนเดิม”

แม้ในพื้นที่อีสานแย่งกันหลายพรรค พรรคเพื่อไทยสู้อย่างเต็มที่ อาวุธของพรรคเพื่อไทยคือต้องใจประชาชน จริงอยู่อาจดูเหมือนว่า เลือกตั้ง อบต.มีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเงิน เข้ามาเกี่ยวข้องแต่การเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ปัจจัยการเงินไม่ใช่เป็นปัจจัยชี้ขาดทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ยังห่วงใยประเทศอยู่ เป็นเรื่องผู้ปกครองประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าเพื่อไทยจะรักษาฐานที่มั่นภาคอีสานได้

“งวดนี้เราเชื่อว่าประชาชนรู้จัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยอะขึ้น การเลือกตั้งคงแบ่งฝ่ายชัดเจน ส่วนฝ่ายรัฐบาลทั้งพรรคพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย ยังใช้ทั้งอำนาจรัฐ-พลังเงิน ผู้บริหารพรรคเพื่อไทยวิตกแค่เรื่องนี้”

ทั้งนี้ อีสานปรับเขตเลือกตั้งใหม่ เพิ่มขึ้นมาเป็น 126 เขต จาก 116 เขตเลือกตั้ง เพิ่ม ส.ส.อีก 10 คน แต่จังหวัดที่จะต้องยื้อแย่งกันหลายพรรค คือ จ.นครราชสีมา ที่มีส่วนแบ่งจากพรรคชาติพัฒนา พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย

รองลงมาคือ จ.บุรีรัมย์ ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะเจาะได้อย่างน้อย 2 เขต จ.สุรินทร์ ที่เพิ่มขึ้นมา 1 เขตเลือกตั้งยังต้องสู้กับพรรคพลังประชารัฐ และภูมิใจไทยที่ได้แค่เก้าอี้เดียว ในการเลือกตั้งปี 2562 จึงตั้งเป้าว่าอยากเจาะเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ให้มากขึ้นกว่าเดิม

ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยต้องเสีย ส.ส.หน้าเก่าไปถึง 3 คน ที่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องโหวตสวนมติพรรค สลับขั้วไปซบพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ ทำให้ต้องเร่งหาคนลง แต่มั่นใจว่าเที่ยวนี้ยังรักษาพื้นที่เดิมไว้ได้ หนึ่งในคนที่ถูกวางตัวคือ “นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ” ที่เพิ่งคัมแบ็กกลับเพื่อไทย พร้อม “จาตุรนต์”

อุบลราชธานี ซึ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มมาจาก 10 เป็น 11 เขตเลือกตั้ง เพื่อไทยเคยได้ 7 เขต คราวนี้ตั้งเป้าคว้าเก้าอี้ 8 เขต

ส่วนจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยมั่นใจสุด ๆ ว่าไม่มีปัญหา รักษาที่มั่นเดิมไว้ได้ อาทิ อำนาจเจริญ ยโสธร มหาสารคาม มุกดาหาร

แต่มีจังหวัดที่ยังหวั่นไหวคือ จังหวัดอ่อนไหว จังหวัดนครพนม ซึ่งมีข่าวว่า ส.ส.คนเดิม ปันใจไปอยู่ภูมิใจไทย-ไทยสร้างไทย ขณะที่ขอนแก่น จาก 10 เขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ 8 เขต ยังต้องจัดคนสู้ใหม่ โดยเฉพาะเขตที่ยังปวดหัวคือ เขต 8 มีชื่อ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ซึ่งเป็นลูกสาวของ “พงศกร อรรณนพพร” ที่ย้ายไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย

ซึ่งมีข่าวว่า “น.ส.สรัสนันท์” ขอลงต่อที่เพื่อไทย แต่ระดับแกนนำพรรคคิดหนักว่า ในสภาพพ่อ-ลูกอยู่คนละพรรค จะตอบชาวบ้านยาก แกนนำเลยต้องคิดหนัก

เพื่อไทยเร่งจัดทัพ-ทักษิณรอเคลียร์บัญชี ใครลง-ใครถอนตัวในยกแรก ต้องชัดเจน มกราคม 2565