6 อีเวนต์ฝ่ายค้านเขย่ารัฐบาลปี’65 เกมนับองค์ประชุม ซักฟอก บี้ยุบสภา

ปี 2565 เป็นปีที่นับถอยหลัง เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังระบาดไม่หยุด กินเวลาร่วม 2 ปีกว่า เขย่าเศรษฐกิจติดลบ ส่งผลกระทบปากท้องชาวบ้าน ประชาชนนับวันรอเลือกตั้ง

ด้วยปัจจัยข้างต้น ขมวดเป็นความไม่สงบภายในประเทศ ทั้งเรื่องการเรียกร้องปัญหาปากท้อง การเกษตร ผนวกกับวิกฤตการเมือง ความแตกแยกภายในพรรคแกนนำรัฐบาล

6 พรรคฝ่ายค้าน อันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย เป็นพี่ใหญ่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และ พรรคพลังปวงชนไทย เปิดวงคุยวิเคราะห์สถานการณ์-ประเมินว่า เสถียรภาพของรัฐบาลจะไม่เสถียรมั่นคง และรัฐบาลจบไม่ครบเทอมปี 2566

ในปี 2565 พรรคฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค นอกจากเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ที่รัฐบาลอาจเกิดอุบัติเหตุแหกโค้งได้ทุกเมื่อ ยังเตรียมเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลคืนอำนาจ ไม่ว่ายุบสภา-ลาออก

“ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กางเป้าหมายเขย่ารัฐบาลในปี 2565 ผ่านการเคลื่อนไหว 6 ระดับ 6 ช่วงเวลา

เป้าหมายสำคัญเราต้องพยายามให้ พล.อ.ประยุทธ์คืนประชาธิปไตย คืนอำนาจให้กับประชาชนให้ได้ เป็นเป้าหมายสูงสุด ฝ่ายค้านเรียกร้องให้คืนในวิถีประชาธิปไตย จะคืนด้วยการลาออกเราก็ไม่ว่า หรือยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ เรายิ่งเห็นชอบด้วย ให้ประชาชนตัดสินกันใหม่ว่าจะมอบอำนาจให้ใคร ฝ่ายค้านจะทำให้เกิดเหตุการณ์นี้

Movement ที่ 1 เกมนับองค์ประชุม : เราได้พยายามทำมาตลอด โดยใช้กลไกสภา ที่สำคัญคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้งที่ผ่านมา หลักฐาน เหตุผลของฝ่ายค้านชัดมาก สามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลก็ยื้อยุดอยู่อย่างนี้ ทำอะไรไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายค้านทำคือเพิ่มความเข้มข้นในปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนเป็นสัญญาณไปสู่รัฐบาลว่า ถ้ายังไม่มีศักยภาพก็ไม่ควรบริหารประเทศต่อไป ดังนั้น การขับเคลื่อนในปี 2565 เราจะตรวจสอบอย่างเข้มข้นทั้งฝ่ายบริหารและสภา

“เมื่อคุณเป็นเสียงข้างมาก ต้องเป็นเสียงข้างมากอย่างแท้จริง หมายความว่า ถ้าเป็นเสียงข้างมากไม่แท้จริง องค์ประชุมล่มตลอด ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เราหวังว่าจะทำให้รัฐบาลตัดสินใจว่าเขาอยู่ไม่ได้ ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน หรือเปลี่ยนรัฐบาล จะปรับปรุงอย่างไรให้เป็นเสียงข้างมากที่มากพอ”

Movement ที่ 2 อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ : จะเกิดขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ 2565 คืออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ถามข้อเท็จจริง เสนอแนะให้กับประเทศชาติบ้านเมือง แม้ไม่ลงมติ แต่เราไม่อ่อนข้อแน่ มีผลสะเทือนแน่นอน ประกอบกับความเดือดร้อนของประชาชนที่คุกรุ่น
นอกสภา

Movement ที่ 3 ทวงคืนสมบัติชาติ : ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่กับนานาประเทศ เช่น คดีเหมืองทองอัครา ที่อนุญาโตตุลาการเลื่อนการออกคำชี้ขาดจากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 เนื้อในต้องชี้ให้เห็นว่า ประเทศชาติจะได้ จะเสีย เรื่องอะไร

กับการยอมเอาทรัพย์สมบัติของชาติไปแลกเปลี่ยนอย่างนั้น เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ออกมาปกป้องทรัพย์สมบัติชาติทั้งในและนอกสภา รวมถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของชาติ เรื่องธงชาติถูกแบน ถูกห้ามจัดกีฬานานาชาติ

Movement ที่ 4 เร่งแก้กฎหมายลูก : ในช่วงมีนาคม-เมษายน ถึงช่วงการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรามีส่วนร่วมแน่ เพราะเราอยากให้ใช้ในการเลือกตั้ง หากมีการยุบสภา และไม่ได้หมายความว่าจะใช้กฎหมายเลือกตั้ง เพื่อประวิงเวลาไม่ให้เกิดการยุบสภาได้

Movement ที่ 5 เปิดศึกซักฟอกรัฐบาล : ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายนเป็นสมัยแห่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมุ่งเน้นการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจครบ 8 ปี ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ยอมรับว่าตนเองหมดวาระด้วยการยอมออกไป

จะมีการใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าควรต้องออกไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางตรงกันข้ามก็จะมีเอฟเฟ็กต์มาก

Movement ที่ 6 การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอีเวนต์ที่สำคัญ รอร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังแก้ไขอยู่ขณะนี้บังคับใช้ เมื่อมีการบังคับใช้ ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องที่เห็นควรให้มีการลงประชามติผ่านรัฐสภา ไปยังรัฐบาล ถ้าข้อบังคับเสร็จเร็วก็สามารถยื่นภายในสมัยประชุมนี้ได้ทันที และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังบุคคลภายนอก เพื่อให้เคลื่อนไหวการแก้รัฐธรรมนูญ

ถ้าไม่ทันก็จะไปถึงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะตรงกับกลุ่มผู้ริเริ่มเชิญชวนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เตรียมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาในเวลานั้นพอดี

ทั้ง 6 Movement เป็นภาพใหญ่ ๆ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หรือผู้ใช้อำนาจขณะนี้คิดหนัก หรือเห็นว่าต้องคืนอำนาจจริง ๆ ไม่สามารถอยู่ครบเทอมได้แล้ว

“หมอชลน่าน” เชื่อว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยื้อยุด ลากรัฐบาลให้ไปถึงการประชุมเอเปก ผ่านกฎหมายงบประมาณปี 2566 หรือแต่งตั้งข้าราชการเดือนกันยายน เพื่อให้เป็นคุณเป็นโทษแก่เขาก็จะยากขึ้น เป้าหมายฝ่ายค้านปี 2565 คือทำอย่างไรให้ พล.อ.ประยุทธ์คืนอำนาจให้ประชาชน

ในปี 2565 ปฏิบัติการของฝ่ายค้านจึงโหมไฟการเมืองตั้งแต่ต้นปี คู่ขนานกับการเคลื่อนไหวของม็อบต่าง ๆ ซ้ำเติมปัญหาภายในรัฐบาล ขึ้นอยู่กับ “พล.อ.ประยุทธ์” และองคาพยพจะต้านทานไหวหรือไม่