ศาลฎีกาฯนัดชี้ชะตา”ยิ่งลักษณ์”คดีจำนำข้าว 25 ส.ค. กำหนดแถลงปิดคดี 1 ส.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 กรกฎาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยวันนี้ทนายความฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย นำพยานเข้าไต่สวน3ปาก โดยเป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย

จากนั้นเวลา 15.00 น. ศาลอ่านกระบวนวิธีพิจารณา ว่าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 อัยการสูงสุดยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่15 มกราคม 2559

วันนี้เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย ศาลไต่สวนพยานจำเลยจนจบ 3 ปาก ทนายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 และ 17 กรกฎาคม 2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3, 25, 235 วรรคหก โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และคำร้องโต้แย้งคัดค้านเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 มาตรา 5 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 277 บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 235 วรรคหก จะใช้ถ้อยคำว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ก็มีความหมายเดียวกัน ดังนั้น บทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักกการสำคัญของระบบไต่สวน ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย

ศาลอนุญาตให้จำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจา วันที่1สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี

คดีเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น.

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุที่ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีโครงจำนำข้าว ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ตรงกับสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจี ที่มีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวกซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และนิติบุคคลกับกรรมการผู้มีอำนาจในนิติบุคคล รวม 28 ราย เป็นจำเลยด้วย เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวนมีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้งสองสำนวน

ADVERTISMENT

 

ที่มา : มติชนออนไลน์