ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ฝ่าเกมคดีเสี่ยง กลับประเทศไทย ได้หรือไม่

ถ้อยคำของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในนาม “พี่โทนี่” ในคลับเฮาส์ CARE Talk x CARE ClubHouse ในตอน “ถอดบทเรียนสึนามิเพื่อกู้วิกฤติโควิด ประเทศจะรอดผู้นำต้องฉลาดจริงไหม?” เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม 2565 บอกภารกิจ เมื่อตนเองกลับถึงบ้านอย่างน่าสนใจ

ตอนหนึ่งว่า ในปี 2565 ขอให้คนไทยใช้ความอดทนใน 1 ปีที่ผ่านมาเป็นจุดแข็งให้ท่านอดทนต่อไป ส่วนตัวอยากอวยพร แต่ไม่รู้อวยพรหรือเป็นการสาปแช่งคนที่ไม่ชอบหน้าตนหรือเปล่า เพราะจะขออวยพรให้ตนได้กลับบ้าน ให้ตนไปช่วยงาน เอาไปใช้งาน ผมเนี่ยกลับบ้าน ผมต้องการอะไรรู้ไหม

  1. อยากเลี้ยงหลานในเวลาที่เหลือ
  2. ใครเป็นรัฐบาลก็ช่าง ถ้าอยากให้ช่วยคิดแก้ปัญหาให้ ตนพร้อมไม่คิดเงิน
  3. จะรับจ้างบรรยายให้โอเลี้ยงแก้วหนึ่งก็พอ
  4. จะไปชวนบรรดาเศรษฐีในเมืองไทย มาลงขันช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

เพราะว่าเศรษฐีแต่ละคนมีธุรกิจของตัวเอง พวกสตาร์ทอัพก็กลัวถูกกลืน ไม่กล้าเข้าไปใช้ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมมา เศรษฐีทั้งหลายเอาตังค์มาลงขันกับผม ผมจะลงด้วย แล้วเราก็จะมาส่งเสริมสตาร์ทอัพให้คนรุ่นใหม่ แล้วถ้ามาเสนอไอเดียไม่ได้เรื่อง ผมก็จะบอกว่าไม่ได้เรื่องอย่างไร จะช่วยสอน ไปทำมาใหม่ ทำดีเมื่อไหร่มาเอาตังค์ อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ

ก่อนปิดท้ายว่า “ผมกลับไปผมก็ไปเป็นเพื่อนตีกอล์ฟคุณประยุทธ์ได้ แต่ว่าผมตีไม่เก่งเท่าคุณประยุทธ์นะ”

เป็นอีกครั้งที่ “ทักษิณ” ออกคำอ้อนขอกลับบ้าน ก่อนหน้านี้ 13 กรกฎาคม 2564 “พี่โทนี่” ก็พูดถึงเรื่องกลับบ้าน แถมเข้าประตูหน้าสนามบินสุวรรณภูมิอีกต่างหาก

“ยืนยันอีกครั้งนะครับกลับแน่ แต่ขอบอกเวลาทีหลัง วันนี้ยังไม่บอก แล้วก็สุวรรณภูมิยังไง ไปประตูหน้า ไม่ไปประตูหลังแน่นอนครับ เอาไว้เมื่อถึงเวลาแล้วผมจะบอกเป็นขั้นตอนไป ผมไม่มีอะไรปิดบังครับ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถึงเวลา ผมไม่เคยกลัวอะไรซักอย่าง เพียงแต่ว่าผมไม่อยากสร้างปัญหา ต้องใช้เวลาให้มันเหมาะสม”

ทำเอาแฮชแท็ก “#พี่โทนี่กลับไทยแน่” ทะลุติดเทรนด์ทวิตเตอร์

และทุกครั้งเมื่อ “ทักษิณ” พูดถึงเรื่องกลับเมืองไทย ก็จะเจอแรงต้านจากศัตรู – คู่แค้นการเมือง ออกมาพูดถึง “เงื่อนไข” การรับโทษในคดีต่าง ๆ เหมือนกันทุกรอบ

โอกาสของ ทักษิณ ว่ากันตามคดีและความเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังต้องเล่นเอาล่อเอาเถิด กับผู้มีอำนาจ อีกหลายยก

และในระนาบอำนาจนายกรัฐมนตรีไทย ในอดีตที่ประสบชะตากรรมไปอยู่เมืองนอกแล้ว ไม่ได้กลับมาไทยอีกเลย มีเพียงแค่ 3 คน ในอดีตที่ถูกพิษทางการเมืองจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

คนแรก “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” นอกจากได้เป็นนายกฯคนแรกแห่งประเทศสยามแล้ว ยังเป็นนายกฯคนแรกที่ต้องลี้ภัยการเมือง หลังเหตุการณ์ข้อพิพาท เค้าโครงเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกเหลือง” ของ “ปรีดี พนมยงค์” พระยามโนฯได้กระทำการรัฐประหารเงียบด้วยการใช้อำนาจนายกฯปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ และเนรเทศ “ปรีดี” ออกนอกประเทศไปอยู่ฝรั่งเศส

แต่ไม่นานเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนฯและเนรเทศไปยังปีนังด้วยรถไฟ และอยู่ที่ปีนังกระทั่งวาระสุดท้าย

คนที่สอง “ปรีดี พนมยงค์” มันสมองของคณะราษฎร ที่ได้ลิ้มรสชาติของการถูกเนรเทศมาแล้ว แต่เมื่อได้กลับคืนมาตุภูมิอีกครั้ง ได้เป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการ แต่ชีวิตมีขึ้นย่อมมีลง “ปรีดี” ต้องเผชิญมรสุมการเมืองหลังเหตุการณ์สวรรคต รัชกาลที่ 8 จนต้องลาออกจากตำแหน่ง

แม้จะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯอีกครั้งแต่ก็ปฏิเสธ โดยให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ส.ส.อยุธยา ขึ้นเป็นนายกฯแทน กระทั่งเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ปรีดีต้องหนีลงเรือรับจ้างออกจาก “ทำเนียบท่าช้าง” บ้านพักก่อนจะถูกยิงด้วยรถถัง เขาลี้ภัยอยู่สิงคโปร์ประมาณ 2 ปี ไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 21 ปี

แม้มีบางช่วงที่ “ปรีดี” หวนกลับเข้าเมืองไทยเพื่อยึดอำนาจคืนแต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งไปใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศสจวบจนลมหายใจสุดท้าย

คนที่สาม จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกฯ เจ้าของสมญา “จอมพลกระดูกเหล็ก” เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ช่วงเวลา ผ่านนาทีเฉียดตายมาหลายครั้ง ทั้งถูกยิง วางยาพิษ และรอดจากการถูกทิ้งระเบิดจมเรือรบหลวงศรีอยุธยาในกบฏแมนฮัตตันซึ่งเขาถูกจับเป็นตัวประกัน แต่ช่วงปลายของอำนาจ ถูกนายทหารรุ่นน้อง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกให้ยึดอำนาจ จอมพล ป.หลบหนีไปด้วยรถยนต์ข้ามเรือฝ่าคลื่นลมทะเลไปกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ญี่ปุ่นและจบชีวิตที่นั่น

ขณะที่ 2 นายกฯ ชินวัตร คือ ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์ หลบลี้พิษคดีต่าง ๆ ไปอยู่ที่มหานครดูไบ ยังมีโอกาสกลับมาสู่มาตุภูมิ แม้ว่าในห้วงเวลานี้ ยังมีเกมเสี่ยงที่ว่าด้วยคดีอีกหลายขั้นตอน

ทักษิณ หลังถูกยึดอำนาจข้ามโลกระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก ในคืน 19 กันยายน 2549 ต้องมีคดีทุจริตติดตัวนับสิบคดี เขาใช้เวลาต่อสู้จนรัฐบาลนอมินีในนามพรรคพลังประชาชนได้สถาปนาอำนาจเป็นรัฐบาล ทำให้เขาได้กลับมากราบแผ่นดินเกิดอีกครั้ง

และใช้สิทธิต่อสู้คดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะคดีทุจริตที่ดินรัชดา แต่ระหว่างทางการสู้คดีได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเพื่อหนีคดี

หลังจากนั้น “ทักษิณ” พยายามส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจ ขอเจรจาทั้งเรื่องคดีความเพื่อนำไปสู่การกลับเข้าประเทศหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ กลับไทยไม่ได้จนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม คดีความของ “ทักษิณ” ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ทั้งหมด 4 คดี ประกอบด้วย 1.คดีทุจริตที่ดินรัชดา ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 2.ทุจริตโครงการหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 3.คดีปล่อยเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ ให้รัฐบาลเมียนมา ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 4.คดีแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อบริษัทชินคอร์ป ศาลสั่งจำคุก 5 ปี

อยู่ระหว่างไต่สวนอีก 2 คดี ใน ป.ป.ช. คือ คดีระบายข้าวแบบจีทูจี ล็อต 2 และ การสั่งซื้อเครื่องบินเครื่องบินแอร์บัส A340-500 A340-600 ของการบินไทย

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องหนีภัยไปอยู่กับ “พี่ชาย” ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากกรณีปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว

นอกจากนี้ขณะที่ยิ่งลักษณ์ ยังมีบ่วงคดี 1.คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 คดีนี้มีนักการเมืองและผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 71 ราย ไต่สวนพยานไปแล้ว 90 ราย ป.ป.ช.คาดว่าคดีนี้จะแล้วเสร็จในปี 2565 และ 2.คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 81 ราย คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2565 ซึ่งมีชื่อ “ยิ่งลักษณ์” ติดบ่วงอยู่ทั้ง 2 คดี