ครม. เท 5.18 หมื่นล้าน เติมบัตรคนจน – เราเที่ยวด้วยกัน – คนละครึ่งเฟส 4

ครม.เทกระจาดกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 กว่า 51,870 ล้านบาท ทั้ง คนละครึ่ง เฟส 4 วงเงิน 34,800 ล้านบาท คนละ 1,200 บาท 29 ล้านสิทธิ เปิดลงทะเบียนสิทธิใหม่ 1 ล้านสิทธิ 10 ก.พ. สิทธิเก่ากดยืนยันผ่าน “เป๋าตัง” 1 ก.พ. เติมเงินบัตรคนจน เฟส 4 จำนวน 8,070.724 ล้านบาท 1 ก.พ. เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 จำนวน 2 ล้านสิทธิ วงเงิน 9,000 ล้านบาท

วันที่ 24 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมติอนุมัติโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 กรอบวงเงิน 34,800 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงิน ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และเป็นการลดภาระ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่ เดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน 2565 โดยรูปแบบการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับคนละครึ่ง เฟส 3 คือ ภาครัฐร่วมชำระค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไปในอัตรา ร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคน ต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนทั้งโครงการ

นายธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีความเห็นพิจารณาปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จากเดิมที่กำหนดไว้ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ไม่เกิน 29 ล้านคน และร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ประมาณ 28 ล้านคน

สามารถยืนยันตัวตนและเริ่มใช้สิทธิตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ขณะเดียวก็เปิดสิทธิเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิให้สำหรับผู้สนใจและยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการโดยเปิดลงทะเบียนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ โดยจะสามารถใช้สิทธิโครงการฯ ได้ตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นี้

นายธนกรกล่าวว่า โครงการ คนสะครึ่ง เฟส 4 มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งมีการขยับช่วงเวลา เริ่มต้นของโครงการด้วย ให้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บรรเทาค่าครองชีพในภาวะปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณ อย่างคุ้มค่าและเหมาสมด้วย

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 กรอบวงเงิน 8,070.724 ล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 กรอบวงเงิน 1,351.981 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ต้องการ ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2565

นายธนกรกล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้มีความเห็นให้ พิจารณาปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จากเดิม ที่กำหนดไว้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ถือบัตรในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 13.45 ล้านคน (ณ วันที่ 25 มกราคม 2565)

และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 จำนวน 2.25 ล้านคน ให้สามารถซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า ร้านค้า หรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ

ทั้งนี้ ได้มีพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการ ให้สอดคล้องกับ การปรับช่วงเวลาเริ่มต้นของโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่าครองชีพ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตาม การดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันการแสวงหา ประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบได้ อาทิ ร้านค้าที่รับสแกนสิทธิแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดอีกด้วย

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ ครม.เห็นชอบโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กรอบวงเงิน 9,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยให้มีระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมตั้งแต่เดือน ก.พ. – มิ.ย. 2565 เป็นตั้งแต่เดือน ก.พ. – ก.ค. 2565

สำหรับการดำเนินโครงการนั้น รัฐจะสนับสนุนค่าโรงแรมที่พัก คนละไม่เกิน 10 ห้อง ร้อยละ 40 ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน จำนวน 2 ล้านสิทธิ แต่ครั้งนี้ ได้ปรับลดสิทธิสำหรับบัตรค่าโดยสารเครื่องบินลงเหลือ 6 แสนสิทธิ เนื่องจากการดำเนินโครงการในระยะที่ผ่านมาในส่วนของบัตรโดยสาร ปรากฏว่าผู้ร่วมโครงการไม่ได้มีการใช้สิทธิเต็มสิทธิที่ให้อยู่แล้ว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้ประชาชนมีเกิดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล

ครม. ยังมอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พิจารณากำหนด มาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตาม การดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันการแสวงหา ประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการ เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถ ตรวจสอบได้ต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้เห็นชอบให้ ททท. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการทัวร์เที่ยวไทย โดยปรับลดจำนวนสิทธิโครงการ จากเดิม 1 ล้านสิทธิ เป็น 2 แสนสิทธิ ทำให้กรอบวงเงินดำเนินโครงการลดลงจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้มีการเดินทางเป็นหมู่คณะ และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ก.พ. 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนพ.ค. 2565 พร้อมกับมอบหมายให้ ททท. กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการฯ โดยเคร่งครัดด้วย