“บิ๊กตู่” ประกาศ “จะไม่ทนต่อการทุจริต” ส่วนตัวระวัง ไม่เคยเปิดบ้านต้อนรับใคร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มอบรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2559-2560 (ITA Awards) และรางวัลประกวดคำขวัญ “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” พร้อมเป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชัน สากล (ประเทศไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนต้องตื่น เพราะเราจะไม่ทนต่อการทุจริต อย่าร่วมมือกับการโกง รัฐบาลขอยืนยันว่า เราพร้อมร่วมมือกับสากล ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่การประเมินความโปร่งใสใน 176 พบว่าประเทศไทยอยู่ใน 120 ประเทศ ที่มีคะแนนไม่ถึง 50% ดังนั้นเราต้องตั้งวัตถุประสงค์ว่า จะต้องทำให้ประเทศหลุดพ้นจากจุดนี้ให้ได้ คะแนนความโปร่งใสจะต้องมากกว่า 50% ให้ได้ โดยเราจะต้องทำให้เร็วที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เราได้กำหนดให้ทุกคนในประเทศตระหนักถึงความร้ายแรง และอันตรายที่เกิดขึ้นจากการคอร์รัปชัน โดยรัฐบาลได้ร่วมมือกับ ป.ป.ช. องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน และเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานวันต่อต้านการคอรัปชั่นสากลขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนที่มีร่วมกัน ในการไม่ยอมรับการทุจริต แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาเหล่านี้ได้สั่งสมมานาน การจะทำให้หมดสิ้นไปในทันทีนั้น เป็นเรื่องยาก โดยทุกอย่างอยู่ที่ความจริงใจและจิตใจของทุกคน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลายคนต้องการทำความดี ดังนั้นเราต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีแก่คนไทย แม้จะยากพอสมควร แต่ต้องเร่งสร้างการรับรู้ สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้น โดยไม่ยอมรับการทุจริต ไม่ยอมให้มีการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส ป้องกันการให้สิทธิประโยชน์ และใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง การคอร์รัปชัน ไม่ใช่แค่ให้เงินให้ทอง แต่มีในลักษณะการเอื้อประโยชน์ต่อกัน หรือที่เรียกว่าการอำนวยความสะดวก ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นได้ทุกที่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาการทุจริตคอรัปชัน โดยได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เรามีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีกลไกตรวจสอบจำนวนมาก เหล่านี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะไม่ว่าจะเขียนกฎหมายอย่างไร หรือตั้งคนอย่างไรเข้ามา ถ้าไม่เกิดเป็นรูปธรรม หรือจิตใจคนยังไม่เปลี่ยน การแก้ปัญหาก็ลำบาก เพราะการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องทำตามขั้นตอนกติกา ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะวุ่นวาย จนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในกระบวนยุติธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ร่างระเบียบการนำยุทธศาสตร์ และการพัฒนาในภาครัฐ เพื่อให้มีการดำเนินการในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพื่อรู้ถึงพิษภัยและอันตรายในการทุจริต โดยต้องเริ่มที่สังคม เริ่มจากตัวเอง ถ้าทำได้ทุกอย่างจะเบาลงและหมดไปในที่สุด ปัจจุบันแม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะดีขึ้น คนทุจริตได้ถูกต่อต้าน และถูกลงโทษ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำต่อไป แม้จะมีการต่อต้านจากผู้ที่กระทำความผิด แต่รัฐบาลก็ต้องทำต่อไป เพราะเรายอมรับไม่ได้ เราต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการทุจริตเราต้องเร่งสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่เสี่ยง

นายกฯ กล่าวว่า การทุจริตมีอยู่ 2 ทาง คือผู้ให้และผู้รับ มีทั้งทางตรงและทางอ้อม และบางครั้งก็มีนายหน้าก่อให้เกิดการทุจริต เราต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ถ้ามีแอบอ้างไม่ว่าจะชื่อนายกฯหรือชื่อใครเพื่อทุจริต ขอให้ส่งเรื่องมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตนจะดูแลอย่างเต็มที่ ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ไม่ได้ ทุกอย่างก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ ประเทศไทยมีระบบเครือญาต พรรคพวก และคนรู้จัก ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็รักระมัดระวังตัวเองมาโดยตลอด

“จะเห็นว่า ผมไม่ไปยุ่งกับใคร ไม่คบกับใคร โดยเฉพาะคนที่จะมาให้ประโยชน์กับผม และใครจะมาหาผมที่บ้าน ผมก็ไม่ให้มา ไม่เคยเปิดที่บ้านต้อนรับใคร เราต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน และนอกจากปัญหาผู้ให้และผู้รับ ปัญหากลุ่มนายหน้า เรายังต้องไปดูด้วยว่า เงินที่สะพัดออกมาจากธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ ถูกนำไปใช้ในที่ต่างๆอย่างไร เพราะเงินพวกนี้ใช้ง่าย ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้กับผู้มีรายได้น้อย แล้วก็ถูกบิดเบือน ข้อมูลถูกแพร่สะพัดในทางที่ไม่ถูกต้อง รัฐบาลจึงต้องเอาจริงเอาจัง เร่งสร้างความเข้มแข็ง กระจายรายได้ แก่ประชาชน เช่น โครงการบัตรผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลพยายามตรวจสอบในทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่หรือโครงการเล็ก ”นายกฯ กล่าว

ด้าน นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (UNODC) แถลงสารองค์กรสหประชาชาติ ตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีในภารกิจด้านการต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลไทย สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ภาพความสำเร็จของไทยในการจัดการกับปัญหาทุจริตคือการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำให้เกิดการพัฒนาด้านกฏหมายและการปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตอย่างชัดเจน ซึ่งการกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับบริษัทที่กระทำผิดนั้น จะทำให้นักลงทุนซึ่งที่ทำธุรกิจในประเทศไทยควรตระหนักถึงความเสี่ยงและความรับผิดชอบที่จะต้องทำตามกฏหมายในเรื่องนี้ด้วย เพราะบริษัทก็สามารถถูกลงโทษได้ นอกจากนั้นการที่กฏหมายดังกล่าวกำหนดให้การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศเป็นความผิดทางอาญานั้น ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ นอกจากนั้นการทำงานของ ป.ป.ช.ที่ร่วมพัฒนาแนวทางสำหรับภาคธุรกิจในการนำไปปฏิบัติ ก็สัมฤทธิ์ผลแล้ว เพราะจากผลสำรวจของเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ประเมินความซื้อสัตย์ทางธุรกิจในอาเซียน พบว่าหลายบริษัทในประเทศไทยมีระดับของการเปิดเผยวิธีการปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตสูงที่สุด และนำหน้าหลายๆประเทศ แต่ก็ยังคงมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม UNODC พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนในความพยายามต่อต้านการทุจริตในอนาคต

 

ที่มา มติชนออนไลน์