ปรับหลักเกณฑ์โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ดักทางฝ่ายค้านซักฟอก?

โควิด-19 โรคประจำถิ่น ด้อยค่า-ดักทางฝ่ายค้านซักฟอก

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข เตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น”

แซงทางโค้ง ก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มี “เสี่ยงปริ่มน้ำ” ทั้งแบบไม่ลงมติในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติทันทีที่เปิดสภาสมัยสามัญในเดือนพฤษภาคม

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เห็นชอบประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ภายใต้หลักเกณฑ์-เงื่อนไข  ดังนี้

  1. ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน
  2. อัตราป่วยตายน้อยกว่า ร้อยละ 0.1
  3. เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10
  4. กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80

กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข่าวการประชุมดังกล่าว ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม

นายอนุทินกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Omicron ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี

“ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1)เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น

ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และ 2) เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น”

ทันทีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โควิด-19 เป็น โรคประจำถิ่น “นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ทางการสั่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว 28/1/65 พร้อมกับตั้งคำถาม ผลต่อเนื่องจากนี้หมายความ

-โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย?
-ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว?
-ไม่ต้องมีการรายงาน?
-ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคนเช่นใช้บัตรทอง?
-ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?
-การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง?
-วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น

และปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่ ?

คำถามของ “หมอธีระวัฒน์” แสดงให้เห็นถึงช่วงโหว่-ช่องว่างของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ “ไฟเขียว” ให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น”

ขณะที่ “หมอยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ความหมายของคำว่า “โรคประจำถิ่น” เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565 ระบุว่า

ในระยะนี้เราจะได้ยิน โรคโควิด 19 กับ โรคประจำถิ่น คำว่า “โรคประจำถิ่น” ที่จริงมาจาก “endemic” เป็นการที่โรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่นโรคไข้เหลือง เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โรคปอดบวมตะวันออกกลาง (MERS) ประจำถิ่นอยู่ในตะวันออกกลาง และถ้าระบาดใหญ่ทั่วโลก ข้ามทวีป ก็เรียกว่า “pandemic”

โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาศที่จะเกิดเฉพาะถิ่น หรือ ประจำถิ่น

โรคระบาดเราจะมีโรคติดต่อทั่วไป (communicable disease) เช่น หัด คอตีบ และโรคติดต่อ ที่เราพบมาตั้งแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีน เราก็ไม่เรียกว่า โรคประจำถิ่น

โรคติดต่อ มีจำนวนมากมาย ถ้าโรคนั้นมีความร้ายแรง มีความรุนแรง อัตราตายสูง หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศ เป็น “โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง” เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย และเรายังมี พรบ โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้นจะอยู่ในบัญชีของพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

โรค covid19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคนี้จึงอยู่ในบัญชีตามพระราชบัญญัติ เพื่อใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล

ถ้าในอนาคต โรค covid 19 มีความรุนแรงน้อยลง และเราต้องอยู่กับโรคนี้เหมือนกับ อยู่กับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ ที่จะมาตามฤดูกาล เราก็ไม่ได้ถึงกับควบคุมดูแลแบบโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
ดังนั้นโรคโควิด-19 จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็น “โรคประจำถิ่น” เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น

แต่ถ้าในอนาคต โรคโควิด-19 ความรุนแรงน้อยลง และมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาล ไอซียู เสียชีวิต ลดลงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ตัวไวรัสเองลดความรุนแรงลง

และถ้าโรคนี้ คล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะเรียกว่าโรคโควิด 19 ตามฤดูกาล เช่นจะระบาดมากในฤดูฝน หรือ “โรคติดต่อทั่วไป” โดยที่การดูแลและควบคุม และ กฎเกณฑ์ การรายงาน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันตามปกติคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่นไข้หวัดใหญ่

ขณะที่การแถลงของศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ประจำวันที่ 30 มกราคม 2565 พบว่า ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่-ผู้เสียชีวิต ทั่วโลก 221 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อ 2,639,603 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 373,006,494 คน มีผู้เสียชีวิต 7,647 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิต 5,676,020 คน

โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ฝรั่งเศส 332,398 คน อันดับ 2 อินเดีย 229,576 คน และ อันดับ 3 บราซิล 207,316 คน

ขณะที่ประเทศแถบเอเชีย-เพื่อนบ้านอย่างอาเซียน ยังมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคน เช่น ญี่ปุ่น 80,994 คน เกาหลีใต้ 17,540 คน ฟิลิปปินส์ 17,382 คน เวียดนาม 15,150 คน อินโดนีเซีย 11,588 คน
สำหรับไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,444 คน และมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 12 คน สะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,157 คน

การออกมาประกาศให้เตรียมการโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ก่อนที่องค์การอนามัยโลก จะประกาศอย่างเป็นทางการ จึงถูกนักการเมือง ตั้งคำถามว่า เป็นการลดกระแสการเมืองในสภา-ด้อยค่าพรรคฝ่ายค้านที่กำลังทำการบ้านซักฟอกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่บริหารโควิด-19 ผิดพลาดล้มเหลวหรือไม่?

เพราะยังมีเงื่อนไข-ข้อกฏหมาย และแนวปฏิบัติของส่วนราชการ ที่ต้องผูกพัน หากเป็นโรคประจำถิ่น

ฝ่ายการเมือง จึงวิเคราะห์ว่า มติดังกล่าว อาจจะเป็นการเอาสุขภาพ-ชีวิตประชาชนมาเป็นเดิมพันทางการเมือง-เอาตัวรอดในเกมซักฟอกในสภาที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญหน้ากับ “เสี่ยงปริ่มน้ำ” หรือไม่ ?