มกุฎราชกุมาร ซาอุฯ ตอบรับเยือนประเทศไทย “ดอน” แจ้งวุฒิสภา

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (ภาพจาก AFP)

รมว.การต่างประเทศ ตอบวุฒิสมาชิก มกุฎราชกุมาร ซาอุฯ เตรียมเยือนไทยปีนี้ มีทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบียคนแรกในรอบ 30 ปี ขนหอการค้า เยือน 25 ก.พ.นี้ 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายดอน ปรมัติถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามสดในที่ประชุมวุฒิสภา ต่อกรณีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับประเทศซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เยือนราชอาณาจักรซาอุฯ เมื่อ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตั้งถามโดย นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.

นายดอนกล่าวว่า การเข้าพบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องกะทันหัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยที่ซาอุฯ ปรับท่าทีและให้ความสำคัญกับประเทศไทย ซึ่งข้อเท็จจริงมีหลายองค์ประกอบ โดยเริ่มต้น จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จัดการประชุมภาคธุรกิจในกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งแรก หรือ ACD Connect 2016 และใช้เวลาบริหารจัดการให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง ถึง 6 ปี จนนำไปสู่การเยือนอย่างเป็นทางการในปี 2565

รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า “เพราะเขามา ไม่ใช่ว่าวางแผนจะมาปี 2559 ไม่มีท่าทีจะส่งใครมา แต่การประชุมใน ACD นั้น สมประโยชน์ระดับหนึ่งกับซาอุฯ และรมว.การต่างประเทศซาอุฯ เดินทางมาเยือน และสร้างความสัมพันธ์ ทั้งนี้มิตรประเทศคือ บาห์เรน ร่วมผลักดันในระดับสูง ต่อ ๆ ไปมีความหมาย การช่วยเพราะมิตรไมตรีที่ได้รับจากไทยในอดีตทำให้ทุกอย่างลงตัว คำเชิญให้นายกฯ ไปซาอุฯ ไม่ได้เกิดในปี 2565 แต่เริ่มปี 2560 โดยได้รับเชิญด้วยวาจา แต่มีปัญหาภายในประเทศการพบปะจึงถูกเลื่อน”

นายดอนกล่าวด้วยว่า สำคัญ คือ ปี 2562 ในการประชุม จี20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำของ 2 ประเทศพบกัน ในการประชุมถือว่าได้ตัดสินใจทางการเมือง และได้ใช้เวลาในการฟื้นความสัมพันธ์ คำเชิญทางการเป็นหนังสือ มีมาในเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 แต่มีปัญหา ทำให้การเจรจาปรับเวลาจึงลงตัวที่ปี 2565

“สำหรับการหารือที่ไป ไม่ได้ต้อนรับปกติ เพราะไทยไม่มีความสัมพันธ์เป็นปกติ แต่ประเทศซาอุฯ ทำให้เป็นปกติ มีความสมบูรณ์ และชื่นใจ โดยการพบปะพูดคุย ไม่ใช่แค่เรื่องฟื้นความสำคัญ แต่พูดเรื่อยๆ ที่ผู้นำทั้ง 2 คุยแบบเอ็นจอย ทุกเรื่อง และลงรายละเอียด”

“เมื่อหารือเสร็จมกุฎราชกุมาร แลกหมายเลขโทรศัพท์กับนายกฯ เพื่อคุยกันต่อหลังจากออกห้องประชุม นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน มกุฎราชกุมารคุยสนุก นั่งหัวเราะ พูดคุยคลุมถึงสุขอนามัย การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กีฬา แอนิเมชั่น อีสปอร์ต ฟอร์มูล่าวัน เรื่องที่มกุฎราชกุมารสนไปใจซื้อทีมกีฬานิวคาสเซิล เป็นต้น เสมือนคุยกันแบบคนในครอบครัว”

“บรรยากาศที่เห็นจริงจังนั้น เป็นเรื่องอธิบายความได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น 2 ประเทศ เป็นนิมิตที่ดี แต่จำเป็นต้องช่วยกันประคองให้มั่นคงยั่งยืน โดยต้องเร่งรัดสิ่งที่พึงเกิดขึ้นให้เกิดขึ้นจริงและสมประโยชน์ ตามการปรับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและทุกส่วน รวมถึงประชาชนได้รับประโยชน์ จากการปรับความสัมพันธ์”

รมว.การต่างประเทศระบุว่า “โดยมกุฎราชกุมาร พูดในห้องหารือลำดับแรกว่าประชาชนสนใจไปมาหาสู่กัน ต้องหาทางทำให้เป็นจริง ซึ่งนายกฯ เตรียมดำเนินการ เช่น สายการบินจากซาอุฯ – ไทย เป็นต้น นอกจากนั้น นายกฯ กำชับว่าขอให้ทำให้ทุกอย่างลุล่วง เพราะขณะนี้ได้เริ่มต้นแล้วในระดับผู้นำ”

นายดอนกล่าวด้วยว่าทั้ง 2 ผู้นำกำชับเป็นการเฉพาะ คือให้ผู้ร่วมประชุม เรื่องต่าง ๆ ต้องเดินอย่างรวดเร็วไม่ช้า ให้ระยะเวลาไว้ด้วย บางเรื่องตั้งแต่ 2 เดือน บางเรื่อง 2 ไตรมาส โดยให้ทำโรดแมป ซึ่งได้ชี้ให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศดำเนินการ รวมถึง เรื่องพลังงาน และแรงงานด้วย เราถือว่าก้าวย่างถูกทาง ถูกจุด เหมาะสม

สิ่งที่ทำต่อไปคือ วันนี้ ( 7 กุมภาพันธ์) จะมีประชุมตัวแทนจากสภาหอการค้าฯ เพื่อเยือนซาอุดีอาระเบีย และเริ่มไปเยือนตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ จากนั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่จะคุยเรื่องแผนงานที่เดินหน้าร่วมกันเป็นโรดแมปความสัมพันธ์ให้มั่นคงและประโยชน์กับประชาชนสองประเทศ และสิ่งสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศต้องทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือ การหาทูตประจำประเทศซาอุดีอาระเบียคนแรกในรอบ 30 ปี

“หลายปีที่ผ่านมาไทยกับโอไอซี มีปฏิสัมพันธ์ระดับหนึ่ง คือ เชิญสมาชิกโอไอซี รับรู้เรื่องราวในประเทศไทยและได้รับการตอบรับอย่างดี ต่อการหาทางปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลประเทศไทย โดยปีนี้ เลขาธิการโอไอซี ตอบรับเยือนไทย รวมถึงมกุฎราชกุมาร จะมาเยือนประเทศไทยในปี 2565 เมื่อโรดแมปเรียบร้อย”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุด้วยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเชิญเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีกลาโหม เสด็จฯ เยือนประเทศไทย ต่อจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศของไทย มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งพระองค์ทรงตอบรับคำเชิญ