มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียว พรรคภูมิใจไทยผลักตกราง ครม. 7 ครั้ง

รถไฟฟ้า

รายงานพิเศษ

7 ยอดมนุษย์การเมือง รัฐมนตรีแห่งภูมิใจไทย แท็กทีมบอยคอตการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) “วาระร้อน” ขอความเห็นชอบผลการเจรจา-ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต่อสัมปทาน 30 ปีให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม-BTS

ร่อนหนังสือค้าน 8 ฉบับ

แม้ 7 รัฐมนตรีภูมิใจไทย แสดงตัวไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพ ในการ “ชี้ขาด” ส่งเพียงหนังสือ “โหวตโน” เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้าของรหัสเรียกขาน “ราชรถ 1” ส่งความเห็นประกบการคัดค้าน 8 ฉบับ

ฉบับแรก หนังสือด่วนที่สุดที่ คค 0208/6941 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เรียนปลัด กทม. ขอทราบรายละเอียดแนวทางการอนุญาตเข้าพื้นที่กรณีการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2

ฉบับที่สอง หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เรียนเลขาธิการ ครม. ให้ความเห็นเพิ่มเติม อาทิ ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 46 และมาตรา 47 การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อพิพาททางกฎหมาย

ฉบับที่สาม หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0208/147 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ขอข้อมูลเพิ่มเติม-ยังขาดรายละเอียดจาก กทม. อาทิ ขาดรายงานผลการเจรจาโดยละเอียด ขาดแบบจำลองทางการเงินที่แสดงปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะใช้บริการตลอดอายุสัญญา ถึงปี 2602 ขาดประมาณการรายได้ในอนาคตถึงปี 2602

ฉบับที่สี่ หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0208/203 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ข้อมูลที่ กทม.ส่งมาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ยังขาดรายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญ อาทิ ขาดรายงานผลการเจรจาโดยละเอียด ขาดแบบจำลองทางการเงิน ขาดข้อมูลรายได้เชิงพาณิชย์ ปี 2563-2572 ขาดข้อมูลค่าใช้จ่ายรายปีบางส่วนที่สำคัญ ขาดค่าจ้างบริหารจัดการเดินรถจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาจ้างเดินรถ (ว่าจ้างถึงปี 2585) ขาดภาคผนวกของสัญญาร่วมลงทุน ขาดผลการศึกษาบทอื่น ๆ

ฉบับที่ห้า หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0208/269 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 กระทรวงคมนาคมยืนยันตามความเห็นเดิมตามหนังสือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ขอให้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. ตามหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง

ฉบับที่หก หนังสือด่วนที่สุดที่ คค 0208/8089 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เรียน ปลัด กทม. ขอทราบความชัดเจนแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 เพื่อประกอบการจัดทำค่าใช้จ่ายโครงการ

ฉบับที่เจ็ด หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0208/363 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 มีความเห็นว่า 1.กรอบระยะเวลาในการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชน กทม. ระหว่าง กทม.กับผู้รับสัมปทาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535

2.การดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ 3.สรุปผลการเจรจาต่อรองผู้รับสัมปทานและร่างสัญญาร่วมลงทุนไม่เกิดประโยชน์ต่อรัฐและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ

ฉบับที่แปด-ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0208/28 เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของ กทม.แล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม”

ครม.ชักเข้า-ชักออก 7 ครั้ง

เป็นการสกัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ในวาระการประชุม ครม. 6 ครั้ง ในรอบวาระรัฐบาล 3 ปี

ครั้งแรก 17 เมษายน 2562 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 วันที่ 11 เมษายน 2562

ครั้งที่สอง 12 พฤศจิกายน 2562 หลังจากได้เจรจากับ BTS ในช่วง “ต่อเวลา” 10 ครั้งหลังสุด ตลอดจนผ่านการตรวจร่างของอัยการสูงสุด และเห็นชอบตาม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 6/2562

ครั้งที่สาม 30 มิถุนายน 2563 ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร

ไม่เห็นด้วยจะให้ กทม.ขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส เนื่องจากเห็นว่า สัญญาสัมปทานที่เหลือระยะเวลา 10 ปี (สิ้นสุดสัญญา พ.ศ. 2572) ควรจะทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ไปก่อน รอจนถึงปี พ.ศ. 2572

ครั้งที่สี่ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 กระทรวงมหาดไทยขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการสายสีเขียว

ครั้งที่ห้า 17 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงมหาดไทยขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการสายสีเขียวอีกครั้ง

โดยมีความเห็นแย้งของกระทรวงคมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง ความเห็นเพิ่มเติม

ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสม ควรคิดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมและถูกลงกว่า 65 บาทได้ ข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อสัญญา จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไป

ครั้งที่หก 19 ตุลาคม 2564 ครม.ตั้งวาระพิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง และต้องถอนเรื่องออกไปเพราะมีความเห็นแย้งจากกระทรวงคมนาคม

ครั้งที่เจ็ด ล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2565 วันที่ 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย พร้อมใจกันไม่เข้าร่วมประชุม ครม.

ร่อนตะแกรง 14 วงย่อย

ก่อน-หลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 และระหว่างทางก่อนจะเข้า ครม.แต่ละครั้ง ยังผ่านการประชุมย่อย ระดับหน่วยงาน-กระทรวงอีก 10 ครั้ง อาทิ วงแรก-ก่อนออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2558 วันที่ 10 มิถุนายน 2558 มติเห็นชอบให้ กทม.รับผิดชอบเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

วงที่สอง ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 รฟม.จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ไม่รวมอาคารจอดรถจอดแล้วจร)

นอกจากนี้ยังเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินของ รฟม.ให้ กทม. และรับทราบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สิน

ยืดเวลา 30 วัน เจรจา 10 ครั้ง

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติขยายเวลา คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 (ครั้งที่ 1) ออกไปอีก 30 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2562-3 สิงหาคม 2562 ได้มีการประชุมกรอบแนวทางและประเด็นเจรจา 10 ครั้ง บางครั้งพิจารณาร่วมกับ BTS พิจารณาหลักเกณฑ์และการแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

และพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งกระทรวงการคลังได้จัดประชุมหารือในประเด็นเกี่ยวกับรายงานผลการศึกษา เพื่อรับฟังคำชี้แจงจาก กทม.

แม้กระทั่งการหารือกับฝ่ายกฎหมายของประเทศ ระหว่างกระทรวงการคลัง กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุดในประเด็นเรื่องของกรรมสิทธิ์และการแก้ไข หรือยกเลิกสัญญา

ทั้งหมดนี้คือ เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังไม่ถึงสถานีจบ