แก้กฎหมายเลือกตั้งครึ่งทาง พปชร.ตัดกำลังเพื่อไทย-สกัดพรรคเล็ก

เลือกตั้ง

อาจกล่าวได้ว่า เกมแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านมาเกือบครึ่งทาง

ประเด็นหลัก ๆ ทยอยถูกแก้กันหมด และเข้าทางกับพรรคการเมืองที่กุมอำนาจในรัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชารัฐ

ปมแรก ประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คนละเบอร์ หมายความว่า บัตรเลือกตั้ง
ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กับบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ต่างเบอร์กัน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มี “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน ได้ลงมติให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คนละเบอร์ เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่อยากได้

โดย กมธ.ลงมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 32 ต่อ 14 เสียง ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นคนละเบอร์กัน ตามร่างหลัก

32 เสียง ประกอบด้วย กมธ.จาก ส.ว. 14 เสียง คณะรัฐมนตรี 7 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 5 เสียง พรรคภูมิใจไทย 3 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 1 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 1 เสียง และพรรคเศรษฐกิจไทย 1 เสียง

ส่วน กมธ.ฝ่ายค้าน 14 เสียง ประกอบด้วย พรรค พท. 8 เสียง, พรรค ก.ก. 3 เสียง, พรรค สร. 1 เสียง รวมถึงเสียง กมธ.จากพรรค ปชป.ที่แบ่งมาให้ 2 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง คือ “ประธานสาธิต”

เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ กมธ.แขวนเอาไว้ ยังไม่ได้หารือกัน แต่เห็นเค้าลางว่าจะเกิดปรากฏการณ์เสียงแตก คือ การคำนวณสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งแยกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพรรคใหญ่ พรรคกลาง เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ชูโมเดล ตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ยึดตามมาตรา 91

โดยวิธีคำนวณให้ดูผลคะแนนเลือกตั้งรวมของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งประเทศ จากนั้นหารด้วย 100 เช่น ในปีการเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ลงคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ 35 ล้านเสียง นำมาหาร 100 ก็จะได้สัดส่วนคะแนนที่จะได้ ส.ส.พึงมี 350,000 ต่อ ส.ส. 1 คนขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนน ซึ่งหากไม่ได้ 1% ก็จะไม่ได้ ส.ส.ในกรณีที่เหลือเศษ ก็จะดูว่าที่ได้ “1% ขึ้นไป” นั้น พรรคไหนที่เหลือเศษมากที่สุดก็จะได้ ส.ส.เพิ่ม

อีกฝ่ายคือพรรคกลาง-พรรคเล็ก อาทิ พรรคพลังธรรมใหม่ อาจจะมีพรรคก้าวไกลแอบลุ้นอยู่ข้าง ๆ 1.ให้นำคะแนนพรรคทั่วประเทศหารด้วย 500 เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ 1 ส.ส.พึงมี จากนั้นจึงจะไปคิด ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคได้ เมื่อได้ ส.ส.พึงมีออกมาก็จะสามารถคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยเอา ส.ส.พึงมีลบด้วย ส.ส.เขต ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตมากหรือไม่ หากพรรคใดที่ได้ ส.ส.เขตมากก็ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ในประเด็นนี้ยังต้องอาศัยการถกเถียงระหว่างนักเลือกตั้งหลังสงกรานต์

ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีการตกผลึกเป็นมติแล้ว อาทิ ที่ประชุมมีมติ 24 ต่อ 19 เสียง ตีตกร่างที่เสนอโดยนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญที่ชงให้คืนสิทธิ ส.ว. หรือผู้เคยเป็น ส.ว. ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดไม่ถึง 2 ปี ร่วมก่อตั้งพรรคได้ ในมาตรา 98 (14) รวมถึงผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทำผิดต่อหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทำผิดกฎหมายว่าด้วยการฉ้อโกงประชาชน, ยาเสพติด, การพนัน, ค้ามนุษย์, ฟอกเงิน ในมาตรา 98 (10) รวมถึงอดีตแกนนำ กปปส.

ให้กลับไปใช้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองในฉบับปัจจุบันที่มีการบังคับใช้อยู่ เพราะเสียงข้างมากเกรงว่า หากเปิดช่องจะทำให้เกิดคำถามจากสังคม และสร้างปัญหาตามมา เพราะกลุ่มบุคคลที่รัฐธรรมนูญกำหนดห้าม เช่น ต้องคดีร้ายแรง อาทิ คดีฉ้อโกง ทุจริต คอร์รัปชั่น ร่ำรวยผิดปกติ

อีกประเด็นหนึ่งที่ กมธ.ตัดสินใจแก้ไข เพื่อ “ลดเพดาน” ค่าสมาชิกพรรค โดยมติเสียงข้างมาก 29 ต่อ 10 งดออกเสียง 2 เสียง เห็นว่า ค่าบำรุงพรรคการเมืองรายปีจะอยู่ที่ 20 บาท และค่าบำรุงตลอดชีพอยู่ที่ 200 บาท

ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังมีปมร้อนที่รอการพิจารณา คือ หลักการไพรมารี่โหวต ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ กมธ.ต้องคุยกันอีกยาว

เนื่องจากร่างของพรรคร่วมรัฐบาลใช้วิธีการแบบให้ตัวแทนจังหวัดในการที่จะสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเสนอกรรมการบริหารพรรค แต่ในร่างของคณะรัฐมนตรี ให้ใช้ไพรมารี่โหวตแบบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน

ให้แต่ละเขตเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องมีการเรียกประชุมสาขาพรรค ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน ถ้ามี 400 เขตเลือกตั้ง ก็จะต้องประชุมกันทั้ง 400 เขต เพื่อลงมติเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งพรรคการเมืองมองว่า “ยุ่งยาก”

หลังสงกรานต์ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งทั้ง 2 คณะ เป็นองค์คณะชุดเดียวกัน ต้องเร่งปิดจ็อบก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคม

แต่ผ่านมาครึ่งทาง พรรคที่ได้ประโยชน์ที่สุดหนีไม่พ้นพรรคใหญ่