เทียบต่อมจริยธรรม 3 รัฐบาล 10 รัฐมนตรี ไม่หนี-ไม่ออก-ไม่ถอดใจ

รอง

มีรัฐมนตรี 2 คนเป็นอย่างน้อยในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/4 ที่ (รอ) เป็นตัวชี้วัดระดับจริยธรรม-ธรรมาภิบาลของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้ารัฐบาล-เจ้าของพรรคภูมิใจไทยยังคง “ถือหาง” ท่องคาถา “ให้เป็นไปตามกฎหมาย”

รายแรก-แซงทางโค้ง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ค่ายพรรคภูมิใจไทย ที่มี “ชนักติดหลัง” ในคดีรุกป่า

ถึงแม้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จะประทับรับฟ้อง และนัดสอบคำให้การในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 แล้ว แต่นางกนกวรรณ “ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่”

รายที่สอง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ จำนวน 2 คัน เป็นเงิน 50.85 ล้านบาท ให้แก่บริษัทคู่สัญญา

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ อบจ.สงขลา ชำระเงิน 52,062,041 บาท ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 64 และดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 64 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็น “ผู้ฟ้องเอง” ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ

มิหน้ำซ้ำ ยังมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายว่า คดีเกิดขึ้นขณะนายนิพนธ์ดำรงตำแหน่ง “นายก อบจ.สงขลา” ไม่ใช่เก้าอี้ มท.2

หากเทียบฟอร์มจริยธรรมของรัฐบาล 3 ยุคก่อนหน้านี้ คือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนมีระดับความเข้มของธรรมาภิบาลที่แตกต่างกัน

ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พยายามชูภาพลักษณ์คนดี-มือสะอาด รัฐมนตรีทุกคน-พัวพันข้อครหาไม่ชอบมาพากล มักจะถูกกดดันให้แสดงสปิริตทางการเมืองลาออก

1.นายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ : นายวิฑูรย์ ตั้งโต๊ะแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบและเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ กรณีทุจริตของบริจาคถุงยังชีพ-ปลากระป๋องเน่า จังหวัดพัทลุง

2.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข : ประกาศลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากกรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง

3.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข : บ้านใหญ่นพอมรบดี ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ติดร่างแหทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งเช่นเดียวกัน

4.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี : ถูกขยับออกจาก ครม.อภิสิทธิ์ ไปนั่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จากกรณีทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง

5.นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง : ลาออกหลังจากถูกพรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนัก กรณีถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5

เอฟเฟ็กต์จากที่สำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และมีมติเสียงข้างมากส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี

ขณะที่ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีชนักติดหลังหลายคน “ขอพิสูจน์ตัวเอง” จนวินาทีสุดท้าย หรือถูกกระแสคนในพรรค-นอกพรรคกดดัน

1.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย : ประกาศทิ้งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี-รมว.มหาดไทย เพราะเคยถูก อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติไล่ออกจากราชการ จากเอฟเฟ็กต์คดีที่ดินอัลไพน์

การลาออกของ “ยงยุทธ” ทั้ง 2 ตำแหน่ง มีปัจจัย 2 เหตุผล 1.แรงบีบจากกลุ่มสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ต้องการผลักดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี และ 2.แรงกดดันจากคนในพรรคโดยเฉพาะจาก “ยิ่งลักษณ์” และ “พ.ต.ท.ทักษิณ” เจ้าของพรรค

2.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : หลังถูกพรรคฝ่ายค้าน-ประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนัก กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยืนกรานจะไม่ปรับนายบุญทรงออกจากตำแหน่ง ทว่า สุดท้ายแล้วก็ถูกปรับออกจากตำแหน่ง และให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นั่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แทน

3.นางนลินี ทวีสิน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี : มีการเปิดเผยจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ระบุว่า “ติดแบล็กลิสต์” สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลัง ทำเนียบขาว

สุดท้ายนั่งอยู่บนเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เพียง 10 เดือน

ส่วนยุค รัฐบาลประยุทธ์ รัฐบาลที่กำเนิดมาจาก คสช. ผู้กำกับการเขียน “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ทว่า การปรับ ครม.มักจะเป็นเพียงการ “ปรับออก” เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง-เสถียรภาพของ พล.อ.ประยุทธ์

รวมถึงเสถียรภาพของพรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น

ทั้งกรณีการปรับรัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมาร-อดีตผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐขณะนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน-เลขาธิการพรรค

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม-รองหัวหน้าพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง-โฆษกพรรค

รวมถึง “ที่ปรึกษาใหญ่” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี-ผู้มีบารมีและอยู่เบื้องหลังการตั้งพรรค

ก่อนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ 3 ป. ประธานยุทธศาสตร์พรรคในขณะนั้นจะเข้ามา “ยึดพรรค” กุมบังเหียนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-มุ้งบ้านป่ารอยต่อพาเหรดเข้ามาเสียบเก้าอี้รัฐมนตรี

“รู้สึกลำบากใจ รู้สึกแย่ ไม่รู้จะพูดต่อหน้าอย่างไร” ไลน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ส่งถึงนายสมคิดระบุ

แม้กระทั่งการ “ปลดฟ้าผ่า” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยเฉพาะ “ผู้กองธรรมนัส” หัวหน้ากลุ่มปฏิวัติ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เมื่อแผนลับ-แผนล้ม ถูกล้วง โดย 1 ในไส้ศึกใน “กลุ่ม 4 ช.” จนเกิดการหักหลัง-หักเหลี่ยมโหด “แผนแตก” เสียก่อน

จุดพลิกผันของ “แผนล้มประยุทธ์” จนกลายเป็นหมัน-กบฏธรรมนัส คือ เสียงคำรามของพี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร จนมีวรรคทอง-วลีเด็ดว่า “จะให้ทรยศน้องกูเหรอ”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงให้พรรคอันดับสอง-ภูมิใจไทย พรรคอันดับสาม-ประชาธิปัตย์ “คิดเอง” เพื่อรักษาน้ำใจพรรคร่วมรัฐบาลให้เป็น “นั่งร้าน” ค้ำยันรัฐบาล 3 ป.ต่อไป