เพิ่มโอกาสเข้าถึง ‘ยานวัตกรรม’ สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ผ่านมุม PReMA

3 ระบบใหญ่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการเข้าถึงระบบสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ยารักษาโรค’ หนึ่งในปัจจัย 4 ที่ยังคงสำคัญไม่เปลี่ยน แน่นอนว่าการเน้นผลิตยาสามัญให้ผู้คนเข้าถึงได้ในวงกว้างด้วยราคาย่อมเยาถือเป็นเรื่องที่ดี แต่แนวโน้มแห่งอนาคต ทั้งสังคมสูงวัย ภาวะสุขภาพจิต และโรคอุบัติใหม่ กำลังเตือนให้ฉุกคิดว่า เพียงยาสามัญแบบเดิม ๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป

วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ นำสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับโรคเดิม ๆ ที่ยังไม่มียารักษา ในช่วงเวลาที่การแพทย์ยุคใหม่ก้าวหน้าไปด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกิดขึ้นของ ‘ยานวัตกรรม’ ที่สามารถต่อสู้กับโรคเหล่านี้ได้ จึงช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง 

แน่นอนว่าการจะผลิตยาใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาด จำเป็นต้องมีการลงทุนมหาศาล ผ่านการวิจัยและทดลองมากมาย เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงความปลอดภัยก่อนส่งถึงมือผู้ป่วย เบื้องหลังนวัตกรรมยาเหล่านี้ จึงมีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการด้านยา ในกลุ่มอุตสาหกรรมยา ทำหน้าที่วิจัย ค้นคว้า พัฒนา ผลิต และยังมีอีกหนึ่งองค์กรผู้คอยสนับสนุนการสร้างสรรค์และพัฒนายานวัตกรรม เปิดมุมมอง สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PReMA ที่พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ให้กระบวนการทั้งหมดเป็นรูปธรรม

หนทางที่ดีกว่า สู่ทางเลือกคุณภาพชีวิตที่เป็นไปได้

เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา อุตสาหกรรมยาจึงต้องเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวตามไปด้วย เพราะเมื่อ ‘โลก’ เปลี่ยน ‘โรค’ ต่าง ๆ ก็พัฒนาเช่นกัน โดย นันทิวัต ธรรมหทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PReMA ได้เล่าถึงบทบาทสำคัญ ของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์  ที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้พัฒนายานวัตกรรม นำความก้าวหน้าด้านการวิจัยพัฒนา สนับสนุนการผลิตยาคุณภาพเพื่อใช้ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้ อบรม จัดสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมความเข้าใจในประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอันสอดคล้องกับปรัชญาที่ว่า นวัตกรรมยา เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

โรคอุบัติใหม่ที่ขาดยารักษา และโรคที่มีอยู่เดิมแต่ได้ยาใหม่ที่ดียิ่งกว่า จึงถือเป็นความท้าทายของการผลิตยานวัตกรรม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่คาดการณ์ว่า จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี พ.ศ. 2576 สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน ซึ่งยานวัตกรรมจะมีส่วนสำคัญในการเป็นปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ เห็นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และคลี่คลายลงได้หลังจากมียานวัตกรรมรองรับ รวมไปถึงโรคที่มีอยู่เดิม เช่น HIV หรือ NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่แม้ปัจจุบันจะมียารักษา แต่หากในอนาคตจะมียานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า หรือรักษาให้หายขาดได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย

“ยามีส่วนสำคัญที่ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ดูแลเรื่องสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาโรค ตอบโจทย์เรื่องสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของคนเราได้ด้วย ดังนั้น หากไม่มีบริษัทยาที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อคิดค้นนวัตกรรมป้องกันและรักษาโรคที่ยังรักษาไม่ได้ หรือโรคที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ย่อมส่งผลต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยอีกเรื่อย ๆ” นันทิวัต ให้ความเห็น

ความเป็นไปได้ใหม่ สู่นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตยานวัตกรรม 1 ชนิด อาจต้องใช้เวลาในกระบวนการต่าง ๆ ถึง 10 ปีเป็นอย่างน้อย อีกทั้งยังต้องลงทุนมหาศาลระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สำคัญ ยังต้องผ่านการทดลอง การทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้ได้ยาที่ดีที่สุด PReMA จึงมุ่งมั่นทำภารกิจในการเชื่องโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนให้เข้าถึงแนวทางหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องผลักดัน เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนายานวัตกรรม เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการรักษา พร้อมส่งเสริม สื่อสารถึงความจำเป็น ข้อดีข้อเสีย รวมถึงแสวงหาหนทางเพื่อการเข้าถึง และทำให้ยานวัตกรรมเหล่านั้นได้รับการยอมรับเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ ทั้งในการรักษาโรคเดิม โรคใหม่ หรือทดแทนยานวัตกรรมชนิดเดิมที่มีเพื่อสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้นของคนไทย 

แต่หากเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย ยานวัตกรรมบางชนิดอาจมีราคาสูงจนหลายคนไม่สามารถเข้าถึงได้ นันทิวัต แชร์มุมมองในเรื่องนี้ว่า PReMA ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงพยายามหาแนวทางร่วมกันระหว่างบริษัทผู้ผลิตยานวัตกรรม ภาครัฐ สมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้คนสามารถเข้าถึงได้เป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยจัดว่ามีความเข้มแข็งทางสาธารณสุขไม่แพ้หลาย ๆ ประเทศ บุคลากรและเครื่องมือต่าง ๆ ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้า อีกทั้งยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถึง 3 ระบบ ครอบคลุมระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมในทุกกลุ่มคน แต่อีกสิ่งสำคัญที่นันทิวัตมองว่าจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม คือ กลุ่มสตาร์ตอัป (Start Up) หรือ ผู้พัฒนาและรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ (Contract Development and Manufacturing Organization) ซึ่งหากมีมากขึ้น ย่อมเห็นถึงความเป็นไปได้ที่คนไทยจะเข้าถึงยานวัตกรรม ได้มากกว่าเดิมเช่นกัน

นอกจากนี้ PReMA ยังได้เสนอแนะแนวทาง Alternative Financing หรือ การเงินทางเลือกผ่านช่องทางอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้การเข้าถึงยานวัตกรรมมีโอกาสสูงขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยาเหล่านี้ผ่านการสั่งจ่ายของแพทย์ได้กว้างขึ้น ถือเป็นความเป็นไปได้สำหรับอุตสาหกรรมยาในอนาคต 

“สิ่งที่ PReMA อยากชวนคิดคือ การสร้างระบบสุขภาพที่ให้คุณค่าของยานวัตกรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการเริ่มก็จำเป็นต้องมาจากการที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ยานวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็น มากกว่านั้นคือการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคสาธารณสุข เพื่อชี้วัดและประกันเรื่องสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของคนไทยต่อไป” นันทิวัต กล่าว พร้อมเสริมสิ่งที่อยากสะท้อนถึงภาครัฐและหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ถึงความร่วมมือในการผลักดันให้ยานวัตกรรมเข้าถึงได้ง่าย แม้อาจจะมีความเสี่ยงในการลงทุน แต่เมื่อผลตอบแทนเหล่านั้นจะส่งต่อไปถึงประชาชนในท้ายที่สุด ก็ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและลงแรง

“การเดินหน้าของอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะยานวัตกรรมของประเทศไทยถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งหากโครงสร้างนี้สมบูรณ์ ผู้ประกอบการในประเทศก็จะเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น PReMA เองก็ยังคงยืนหยัดในแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานวัตกรรมต่อไป เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพด้านยานวัตกรรมเทียบเท่าสากล โดยผู้ป่วยและประชาชนสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมได้เร็วขึ้น มากขึ้น” นันทิวัต กล่าวส่งท้าย

เชื่อว่า ไม่ว่าโลกจะเหวี่ยงโรคร้ายมาอีกสักเท่าไร หรือโรคเดิมยังไม่เลือนลางจางหายไป เพียงแค่มีคนคิด มีคนพัฒนายาใหม่ๆ ตอบโจทย์ห้วงเวลาที่เดินหน้าอย่างรวดเร็วนี้ เรื่องเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ก็จะผ่านพ้นไปได้เสมอ