“ไข้ห่า” ระบาดสมัยรัชกาลที่ 2 “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” 13 วันไข้ระงับ

ในขณะที่ประเทศไทย พ.ศ. 2563 กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน

ประวัติศาสตร์ เมื่อ 200 ปีก่อน ในสมัยรัชกาลที่ 2 สยามประเทศเกิด “ไข้ห่า” ระบาด หรือชื่ออย่างอื่นว่า โรคอหิวาต์ ,ไข้ป่วง ,ไข้ป่วงใหญ่, โรคลงราก

ไข้ห่า หรือโรคอหิวาต์ ระบาดใหญ่ในเวลานั้น (ปี 2363) รุนแรงในระดับที่ เพียงระยะเวลาการระบาดประมาณ 15 วัน ประชาชนประมาณ 20% ต้องเสียชีวิตจากอหิวาต์

“ครอว์เฟิรด” ซึ่งเป็นทูตจากประเทศอังกฤษในสมัยนั้น เขียนถึงเหตุการณ์ระบาด จากคำบอกเล่าของเจ้าพระยาพระคลัง คาดว่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตราว 1 แสนคน คะเนจากในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้อาศัยประมาณครึ่งล้านคน

การแพทย์จารีตไทยในสมัยนั้น ไม่สามารถเยียวยาได้ ทำให้พลเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ทำ “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” ซึ่งเป็นพระราชพิธีไล่ผี เป็นขวัญและกำลังใจให้ประชาชน

“รศ. พิเศษ นพ.เอกชัย โควาวิสารัช”  โรงพยาบาลราชวิถี เขียนไว้ในบทความ “ชันสูตรประวัติศาสตร์ : ไข้ห่าระบาดใหญ่ในสยามสมัยรัชกาลที่ 2 ‘จริงหรือที่หายเพราะพระราชพิธีอาพาธพินาศ’   ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ตอนหนึ่งว่า …

สำหรับพระราชพิธีอาพาธพินาศนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ทำพระราชพิธีอาพาธพินาศในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2354-55 เป็นเวลา 12 เดือน รายละเอียดของพระราชพิธีอาพาธพินาศมีปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ดังความตอนหนึ่งว่า

“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ความไข้ซึ่งบังเกิดทั่วไปแก่สมณชีพราหมณ์แลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินครั้งนี้เพื่อกรรมของสัตว์ ใช่จะเป็นแต่กรุงเทพมหานครก็หาไม่ เมืองต่างประเทศแลเกาะหมากเมืองไทรก็เป็นเหมือนกัน ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไขด้วยคุณยาเห็นจะไม่หาย

จึงให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบค่ำ…

บรรดาไพร่ซึ่งนอนเวรประจำของรักษาพระราชวังชั้นในแลชั้นนอก ก็ให้เลิกปล่อยไปบ้านเรือน โดยทรงพระเมตตาว่า ประเพณีสัตว์ทั่วกัน ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกัน จะได้ไปรักษาพยาบาล ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์มิได้ไปนั้น ก็พระราชทานเงินตราให้ความชอบ…”

มาตรการหลักในพระราชพิธีอาพาธพินาศ ประกอบด้วย 1. ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร 2. ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนยังรุ่ง 3. อัญเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ และพระราชาคณะออกแห่และโปรยทรายประน้ำ 4. พระมหากษัตริย์ทรงศีล 5. ขุนนางตั้งใจทำบุญ สวดมนต์ ให้ทาน 6. ประชาราษฎร์ห้ามมิให้เที่ยวฆ่าสัตว์ ให้อยู่แต่ในบ้าน

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ยังบันทึกต่อไปว่า หลังพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตรแล้ว ชั่วเวลาเพียง 13 วัน (วันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 10 ค่ำ – วันเสาร์ เดือน 7 แรม 7 ค่ำ) ปรากฏว่า ความไข้ก็ระงับโดยเร็ว ซึ่งแสดงว่าพระราชพิธีอาพาธพินาศได้ผลดี

แต่ในรัชกาลที่ 5 กลับทรงเห็นว่าพระราชพิธีอาพาธพินาศ ไม่ได้ผล

พระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ในรัชกาลที่ 5 เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวว่า

“การพระราชพิธีจึงไม่ได้มีประโยชน์อันใด…คนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่มาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก และตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น ด้วยอากาศยิ่งร้อนจัด หนักขึ้นตามธรรมดาฤดู คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ ผีมีกำลังมากกว่า…”

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 บอกว่า ภายใน 13 วัน โรคระบาดนี้ดีขึ้น ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้สอดคล้องกับข้อเขียนของครอว์เฟิร์ด (ทูตชาวอังกฤษในสมัยนั้น) ที่ว่า โรคระบาดนี้เกิดขึ้นประมาณ 15 วัน แต่ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไม่ได้เขียนไว้ว่า โรคระบาดนี้เกิดขึ้นนานเพียงใด

 

**ติดตามข้อมูลเจาะลึกพร้อมรายละเอียดของบทความ ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563

***พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ลด 40% จากราคาเต็ม 1,440.- เหลือเพียง 850.- ส่งถึงบ้าน 12 ฉบับ (ค่าส่งธรรมดาเพิ่ม 120.- | ค่าส่งลงทะเบียน 252.-) เฉพาะสมัครวันนี้ถึง 31 พฤษภาคม 2563