LGBT : จากห้องเรียนสู่โลกการทำงาน

กลุ่มหลากหลายทางเพศมีเสรีมากแค่ไหนในประเทศไทย? หากตอบอย่างหยาบๆ ก็คงจะบอกว่า “อิสระเสรี” ไม่มีข้อจำกัดใดๆ จะเปิดตัวแรงแค่ไหนเราคนไทยก็ยอมรับ ยิ่งไปกว่านั้น LGBT ยังเป็นที่ชื่นชอบเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ความตลกโปกฮา เล่นใหญ่ และความโนสนโนแคร์ใดๆ !

หากแต่ภาพลักษณ์ที่เราคิดว่า LGBT เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ และประเทศไทยเปิดเสรีเต็มที่…คำถามนี้จึงต้องถามกลุ่ม LGBT ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งดีและร้ายโดยตรงว่า “ชีวิต LGBT สบายดีจริงๆ หรือ?”

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปคุยกับ “เจส เจษฎา” กับ “เจ ปรเมศวร์” 2 ผู้เข้าประกวดเวที Mr.Gay World Thailand แชร์ประสบการณ์ช่วงชีวิตหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอในพื้นที่การเรียนและการทำงาน ตั้งแต่การถูกตีตราไปจนถึงการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเป็น LGBT พร้อมทั้งร่วมสะท้อนมุมมองต่อปัญหาและทางออกของเรื่องราวการเหยียดที่มีผลกระทบทั้งรูปธรรมและนามธรรม ว่าท้ายที่สุดแล้วหนทางแก้ไขปัญหาลูกโซ่นี้ต้องเริ่มจากอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร หรือสุดท้ายแล้วก็ต้องวกกลับไปสู่พื้นฐานของความคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” กันแน่?

การประกวดเวที Mr.Gay World Thailand เปิดกว้างพื้นที่เป็นเวทีแสดงศักยภาพของคนได้อย่างไม่จำกัด โดยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกตัวแทนเกย์ไปประกวดเวที Mr.Gay World 2019 ที่กรุงเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ เดือนเมษายน 2562 สำหรับแนวคิดหลักของปีนี้คือ “Dare to shine” หรือ “เกย์กล้าก้าว” คือความภูมิใจในตนเอง ไม่ยอมให้เพศสภาพมาบั่นทอนจิตใจหรือลดทอนศักยภาพในตนเอง