โปรเจ็กต์ EEC ไฮสปีดเทรนไม่คืบ รถไฟเร่งปูทางแจ้งเกิดมักกะสัน

แอร์พอร์ตลิงก์

แกะรอยเมกะโปรเจ็กต์ EEC ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน “ไม่คืบ” การรถไฟฯชี้ติดหล่ม 3 เงื่อนไขเดิม รอ ครม.ทุบโต๊ะแก้สัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ อธิบดีกรมรางยันข่าวลือเอกชนทิ้งสัมปทานไม่เป็นความจริง รัฐเร่งปูทางเคลียร์ที่ดินมักกะสัน-แอร์พอร์ตลิงก์

การแก้สัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เป็นเอกชนผู้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี

ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สกพอ. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) เพื่อเจรจาหาข้อยุติในร่างสัญญาร่วมกัน เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 นั้น ล่าสุด สัญญาดังกล่าวยังรอความเห็นและการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ติดปัญหา 3 เงื่อนไขเดิม

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการรออนุมัติร่างสัญญาฉบับแก้ไขตามที่เคยเป็นข่าวไป
ซึ่งมีสาระสำคัญเรื่องการแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ 1.การชำระสิทธิบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จากเดิมต้องจ่ายก้อนเดียว 10,671 ล้านบาทนั้น เป็นแบ่งจ่าย 7 งวด โดย 6 งวดแรกนั้น จ่ายงวดละ 1,067.11 ล้านบาท และในงวดที่ 7 จะชำระคืนที่เหลือทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ด้วยเหตุผลจากผลกระทบต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2.แก้เงื่อนไขการจ่ายเงินร่วมลงทุน จากเดิมภาครัฐจะจ่ายเงินลงทุนในโครงสร้างงานโยธาของโครงการในปีที่ 6-15 เป็นระยะเวลา 10 ปี ตกปีละ 14,965 ล้านบาท เป็นรัฐเริ่มจ่ายในปีที่ 2-8 รวม 7 ปี ปีละ 18,922 ล้านบาท

3.การก่อสร้างงานโยธาในพื้นที่ช่วงทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีระยะทางร่วมทับซ้อนกันระหว่าง “บางซื่อ-ดอนเมือง”

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติร่างสัญญาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบการแก้ไขร่างสัญญาดังกล่าว จากเดิมคาดหมายว่าจะดำเนินงานตามขั้นตอนได้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้การแก้สัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ก่อนจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเป็นทางการในเดือนมกราคม 2566”

โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่านับแสนล้านบาท ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย และเป็นหมุดหมายของการยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาแห่งอนาคต ซึ่งมีบางประเด็นเกี่ยวโยงกับข้อกฎหมายและเงื่อนไขพื้นที่ทับซ้อน ทำให้ทุกฝ่ายรอการตัดสินใจจากรัฐบาล

ขณะที่ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับข่าวลือเรื่องเอกชนที่ได้รับสัมปทานจะทิ้งสัญญานั้น เป็นเพียงข่าวลือ ไม่มีข้อมูลรองรับใด ๆ ทุกอย่างยังดำเนินงานตามขั้นตอนอยู่

นายวศิน วรรณพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจองค์กร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด อดีตผู้บริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแม้เอกชน
จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ แต่เนื่องจากทาง ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้รับชำระค่าสิทธิบริหาร ดังนั้น ค่าโดยสารที่จัดเก็บได้ในทุกวันนี้จะโอนไปยังบัญชีกลาง

เดินหน้าปูทางมักกะสัน

มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ขณะที่เมกะโปรเจ็กต์อีอีซี โดยเฉพาะโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าจะเป็นโครงการใหญ่ระดับชาติ เพราะติดเงื่อนไขที่ละเอียดอ่อนนั้น ขณะเดียวกัน โครงการขนาดใหญ่ในเชิงพาณิชย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องถึงกันมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณที่ดินโรงงานมักกะสัน ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญาได้ เนื่องจากติดปัญหาลำรางสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในเชิงกฎหมาย

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้โครงการดำเนินการต่อไปได้ในบริการด้านขนส่งรถไฟ ครม.ได้เห็นชอบตามที่ สกพอ.เสนอแก้ไขปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยขอความเห็นชอบจาก ครม.ตามมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สกพอ. และกรมที่ดินได้ประชุมร่วมกัน โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่เห็นชอบให้ สกพอ. กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย เร่งสรุปปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ทั้งนี้ ที่ประชุมระหว่าง สกพอ.และกรมที่ดินเห็นควรเสนอให้มีการแก้ไข หรือทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 กรณีที่ใช้บังคับในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันระเบียบดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สะดวก ล่าช้า ซ้ำซ้อน หรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการรถไฟสามสนามบินได้เต็มศักยภาพ

ซึ่งเสนอให้แก้ไขหรือทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทย อาทิ ข้อ 25 วรรคสอง ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้การอนุญาต ให้อนุญาตตามกำหนดเวลา ซึ่งสมควรกับกิจการที่กระทำภายในกำหนดไม่เกินห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต และข้อ 27 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่กระทำให้พื้นดินที่ได้รับอนุญาตหรือพื้นที่ซึ่งติดต่อเสียสภาพตามสมควร เช่น ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่าห้าเมตร
ดังนั้น หากกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไข หรือทบทวนระเบียบมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตตามมาตรา 9 พ.ศ. 2543 แล้ว โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินก็จะสามารถพัฒนาฟื้นที่ดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์โดยไม่ติดขัดปัญหาและอุปสรรค

สกพอ.จึงได้ดำเนินการยื่นขอเพิกถอนลำรางสาธารณะดังกล่าวตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป สกพอ.ในฐานะหน่วยงานเลขานุการ กพอ. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน และโครงการดังกล่าวจะได้รับมอบพื้นที่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งทางเอกชนคู่สัญญาหลังได้รับทราบความคืบหน้าแล้วก็พร้อมจะเริ่มงานก่อสร้างในส่วนอื่นก่อน เพื่อไม่ให้โครงการในภาพรวมล่าช้าไปกว่าที่กำหนด