รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายคืบหน้ากว่า 97% เปิดหวูดช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ก.ย.62

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา คิดเป็น 97.69% มีแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เปิดเดินรถสายใต้ ช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ – หลักสอง ในเดือนกันยายน 2562

และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือ ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ตามลำดับ จะทำให้สามารถเปิดให้บริการตลอดสาย ทุกสถานี ทั้งโครงการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีระยะทางรวม 27 กม. แบ่งเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. สถานียกระดับ 15 สถานี และโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. สถานีใต้ดิน 4 สถานี โดยแนวเส้นทางเชื่อมต่อแบบวงกลมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ)

เมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้ว จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (ช่วงเตาปูน – บางซื่อ) ได้ที่สถานีเตาปูน เกิดเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

“ต้นปีหน้าจะมีรถขบวนใหม่เพิ่ม 3 ขบวน จะมีการทดสอบการเดินรถและกลางปีหน้าจะนำมาวิ่งบริการได้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่มีความแออัดในช่วงเช้าและเย็นของสายสีน้ำเงินจะคลี่คลายลง”

จากนั้น นายไพรินทร์ และคณะ ได้เดินตรวจเยี่ยมงานสถาปัตยกรรมภายในสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกร ซึ่งมีรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีนและยุโรป หรือที่เรียกว่า สไตล์ชิโนโปรตุกิส ทำให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนและย่านการค้าเก่าแก่

โดยได้นำลวดลาย ‘มังกร’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวจีน ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองและการนำมาซึ่งความสุข มาเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่ง เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ลวดลายส่วนหัวและท้องมังกรมาตกแต่งบริเวณทางลงสถานี เพดาน เพื่อนำสายตาลงไปยังชั้นจำหน่ายตั๋ว การใช้ลวดลายมังกรสลับกับลายดอกบัวประดับบนผนังทั้งสองด้านตลอดแนวทางเดิน

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งลายประแจจีนที่ส่วนหัวเสาสถานี ซึ่งทั้งหมดล้วนตกแต่งด้วยสีแดงสลับกับสีทอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมไทย – จีน

ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรก็จะนับเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของการท่องเที่ยวประเทศไทย เพราะเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงาม เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย สถานีรถไฟฟ้าอิสรภาพ และสถานีรถไฟฟ้าสามยอด ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ