พฤกษา พลิกเกมพรีคาสต์ ปิดดีลสวอปหุ้น GEL จับมือกันโต

พฤกษา

เปิดศักราชปี 2566 ด้วยดีลธุรกิจที่มีการสวอปหุ้นระหว่าง “พฤกษา โฮลดิ้ง” กับ “GEL”

นับเป็นการพลิกเกมธุรกิจก่อสร้างสำเร็จรูปหรือระบบพรีคาสต์ของพฤกษาฯ แบบก้าวกระโดดก็ว่าได้

โดยมี “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารคีย์แมนที่อยู่เบื้องหลังดีลสวอปหุ้นเพื่อสร้างโมเดล “วิน-วินเกม” ในครั้งนี้

กำลังผลิตพุ่ง 5.2 ล้าน ตร.ม./ปี

ทั้งนี้ พฤกษา โฮลดิ้งมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยแยกหน่วยธุรกิจพรีคาสต์ออกมา จัดตั้ง “บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด” ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายพรีคาสต์

ไฮไลต์อยู่ที่มีโรงงานพรีคาสต์สีเขียว (Green Factory) แห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” (Zero Waste) และนำเข้าเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (Carbon Cure) เข้ามาใช้เป็นรายแรกในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สามารถผลิตแผ่นพรีคาสต์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast)

ล่าสุด สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการก่อสร้างสำเร็จรูป จากดีลการสวอปหุ้นของ “อินโน พรีคาสท์” สัดส่วน 51% ไปชำระมูลค่าหุ้น ให้แก่ “GEL-บมจ.เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง” โดย GEL จะออกหุ้นใหม่และจัดสรรให้แก่พฤกษา โฮลดิ้ง ในราคา 0.37 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วันทำการ ร้อยละ 37 (รวมมูลค่า 582 ล้านบาท) โดยคาดว่าจะสามารถทำรายการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2566

การสวอปหุ้นในครั้งนี้ประเมินว่าจะนำมาสู่โมเดล “วิน-วินเกม” โดย GEL ในฐานะผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีชื่อเสียง มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัสดุก่อสร้างหลักหลากหลาย ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พรีคาสต์ เสาเข็มเจาะ เสาเข็มดินซีเมนต์ ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานสาธารณูปโภค ฯลฯ

ดีลสวอปหุ้นครั้งนี้ GEL มีโอกาสในการเติบโตเพิ่มขึ้น ด้วยการขยายอัตรากำลังการผลิตพรีคาสต์ที่สูงขึ้น สามารถลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย (Economy of Scale) จากคำสั่งซื้อของพฤกษามากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี และลูกค้ารายอื่นที่มีแบ็กล็อก (ออร์เดอร์รอส่งมอบ) อีก 500 ล้านบาทในอนาคต เพิ่มโอกาสสร้างรายได้สูงขึ้นจากเป้าเดิมที่ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท

โดยสรุป ดีลครั้งนี้ GEL จะกลายเป็นผู้ผลิตพรีคาสต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากเดิม 8 แสนตารางเมตร/ปี เพิ่มทันทีทันใดอีก 4.4 ล้านตารางเมตร/ปี รวมเป็น 5.2 ล้านตารางเมตร/ปี

อุเทน โลหชิตพิทักษ์ พฤกษา
อุเทน โลหชิตพิทักษ์

กำไรทางบัญชี 700 ล้านบาท

ในขณะที่ “พฤกษา โฮลดิ้ง” จะสามารถลดต้นทุนการซื้อวัสดุก่อสร้างในการพัฒนาโครงการ และมีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากการลงทุนผ่าน GEL

รวมถึงประโยชน์จากความร่วมมือทางธุรกิจจะส่งผลให้ “พฤกษา โฮลดิ้ง” เพิ่มโอกาสรับรู้รายได้ประจำ (Recurring Income) จากการถือหุ้นร้อยละ 18.26 ใน GEL และร้อยละ 49 ในอินโนพรีคาสท์

นอกจากนั้น คาดว่ากำไรสุทธิของพฤกษา โฮลดิ้ง ในปี 2566 จะเติบโตจากการรับรู้กำไรทางบัญชี (Accounting Gain) 700 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากราคาหุ้น GEL ที่ราคา 0.37 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ GEL ยังมีผลิตภัณฑ์คอนกรีตหลากหลาย อาทิ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ชิ้นส่วนคานสำเร็จรูปสำหรับอาคารและงานสาธารณูปโภค ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง มีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจผลิตลวดเหล็กกล้าแรงดึงสูง (PC Wire, PC Strand และ Cold Drawn) และเสาสปัน (spun pile) ซึ่งจะช่วยทำให้อินโน พรีคาสท์เติบโตจากการใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่

จุดลงตัว การขาย-การผลิต

“อุเทน” กล่าวถึงเหตุผลในการสร้างดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้ว่า สถานการณ์โควิดเป็นตัวแปร จากเดิมการลงทุนโรงงานพรีคาสต์ของพฤกษาฯ มีไว้สำหรับใช้ป้อนให้กับการพัฒนาโครงการในเครือ ไม่เคยคิดทำการตลาดขายคนภายนอกแต่อย่างใด

ต่อมายุคโควิดปี 2564-2565 โจทย์หลักคือมีการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ถ้วนหน้า ส่งผลให้กำลังการผลิตพรีคาสต์เหลือเฟือ ปี 2565 หลังจากแตกบริษัทลูก “อินโน พรีคาสท์” จึงเป็นปีที่เริ่มต้นหันไปทำการตลาดผลิตป้อนดีเวลอปเปอร์ทั่วไป และมีผลประกอบการทำ backlog (ออร์เดอร์รอส่งมอบ) เกิน 500 ล้านบาทในมือ

“ทำการตลาดปีเดียวมีแบ็กล็อก 500 กว่าล้าน ทำให้เราเห็นว่า 1.มีโอกาสเติบโตจากการขายให้กับดีเวลอปเปอร์รายอื่น 2. ยังมีการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเก่า แต่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งระบบพรีคาสต์เข้าไปทดแทนได้โดยตรง”

จุดลงตัวอยู่ที่ “พฤกษา โฮลดิ้ง” มีกำลังผลิตแต่มีปัญหาการขาย ส่วน GEL การขายดีเกินกำลังผลิตตัวเอง จนต้องไปจ้างคนนอกผลิตให้ เมื่อโคจรมาเจอกันจึงทำให้เกิดสมการพลิกเกมธุรกิจพรีคาสต์ดังกล่าว

พฤกษาเซฟต้นทุน 300 ล้าน

คำถามอยู่ที่การสวอปหุ้น เทียบกับต่างคนต่างอยู่ มีข้อแตกต่างอย่างไร

“เรื่องแรก พฤกษาฯ ใช้พรีคาสต์ในเครือแต่กำลังการผลิตเพิ่งใช้ไป 50% ทาง GEL เข้ามาเติมเรื่องการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100% ซึ่งหากเป็นไปตามโมเดลนี้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายประจำของแผ่นพรีคาสต์แต่ละชิ้นได้ เพราะว่าค่าใช้จ่ายประจำจะโดนหารจากพานที่ใหญ่ขึ้น 2.วันนี้พฤกษาฯ ซื้อเหล็กแต่สเกลสั่งซื้อไม่ใหญ่พอ ส่วน GEL มีฐานลูกค้าเยอะ ทำให้เราสามารถซื้อวัตถุดิบในต้นทุนที่ต่ำลง”

ประการที่ 2 นอกเหนือจากพรีคาสต์ที่พฤกษาฯ ผลิตเอง ยังมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ไม่ผลิต เช่น เสาเข็ม โดยให้ GEL เป็นผู้ป้อนวัสดุให้

ทั้ง 3 ข้อนี้ ประเมิน cost saving ของพฤกษา โฮลดิ้ง จบที่ปีละ 100-300 ล้านบาทแบบทันตาเห็น

“ไม่ใช่ทางผมเซฟอย่างเดียว ทาง GEL ก็มีประโยชน์ 1.ผมเชื่อว่าไปด้วยกันด้วยวอลุ่มที่ใหญ่มาก ๆ อันนี้เซฟได้แน่นอน 2.เรื่องของเทคโนโลยี โนว์ฮาว เรื่องของกรีน โลว์คาร์บอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่ค่อนข้างฮิต ภาวะอากาศของบ้านเราและทั่วโลกทำให้เราตื่นตัวกับเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ และตื่นตัวก่อนที่โลกจะออกกฎเกณฑ์มาด้วยซ้ำไป เราก็ได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ไปด้วย”

คำถามสำคัญคือ หลังดีลธุรกิจครั้งนี้ จะทำให้ราคาพรีคาสต์แพงขึ้นหรือไม่

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราคุยกัน มันจะต้องถูกลงในเรื่องของต้นทุน คนทำโรงงานอยากได้ที่สุดคือออร์เดอร์ที่มั่นคง บวกกับมีพันธมิตรที่ค่อนข้างแข็งแรง มีส่วนช่วยทำให้ต้นทุนลดลง”