อัพเดตไฮสปีดเทรนเจ้าสัว “ซี.พี.” รับอานิสงส์อีอีซี กทม.-หัวหิน ลุ้น “เจริญ” ตีตั๋วลงทุน

ไฮสปีดเทรน
นับจากเดือน มี.ค. 2558 ที่สองเจ้าสัวของเมืองไทย “ซี.พี.-ไทยเบฟฯ” ยกขบวนทีมงานบุกกระทรวงคมนาคม ประกาศก้องจะช่วยรัฐบาลทหารลงทุนรถไฟความเร็วสูง 2 สายทาง “กทม.-หัวหิน” และ “กทม.-ระยอง” จนได้รับความสนใจอย่างคึกคัก

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ดูเหมือนรถไฟความเร็วสูงสาย “เจ้าสัว ซี.พี.” กำลังจะรุดหน้าไปด้วยดี หลังมี “อีอีซี-เขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” มาเป็นจุดเร่งเร้าให้โครงการ

โดยมี “คณิศ แสงสุพรรณ” อดีตคนคุ้นเคย ซี.พี. ที่ศึกษารถไฟความเร็วสูงสายนี้เมื่อหลายปีก่อน มานั่งเป็นเลขาธิการอีอีซี ร่วมผลักดันโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว หวังใช้เป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนลงพื้นที่อีอีซี

ปัจจุบันจากรถไฟความเร็วสูง “กทม.-ระยอง” ระยะทาง 193 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 1.52 แสนล้านบาท ถูกแปลงร่างกลายมาเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ด้วยระยะทาง 226 กม. วิ่งจากสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost 50 ปี ก่อสร้าง จัดหาระบบ เดินรถ พัฒนาพื้นที่สถานีและที่ดินมักกะสันและศรีราชา รวมถึงได้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เตรียมประกาศทีโออาร์ภายในเดือน มี.ค.นี้

และชื่อ “ซี.พี.” ยังคงอยู่ในทำเนียบอันดับต้น ๆ ที่สนใจจะทุ่มเงิน 2 แสนล้านมาลงทุนโครงการ เพื่อต่อยอดธุรกิจในเครือที่มีทั้งอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม ส่วนจะร่วมลงขันกับใครบ้างก็ยังเป็นที่น่าติดตาม

ว่ากันว่า น่าจะมีหลากหลายธุรกิจ และบริษัททั้ง “ไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป” เพราะโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้คงไม่ง่ายที่ ซี.พี.จะลงทุนคนเดียว เพราะกว่าโครงการจะลืมตาอ้าปากได้ ใช้เวลานับ 10 ปีเป็นต้นไป

ขณะที่ไฮสปีดเทรนสายเจ้าสัว ซี.พี.กำลังรุดหน้าไปถึงขั้นเปิดประมูล ย้อนดูรถไฟความเร็วสูงสาย “กทม.-หัวหิน” ที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็สนใจใคร่จะลงทุน

ถึงขั้นส่งเขยเล็ก “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ผู้กุมบังเหียน บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ บุกถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อพบเจ้ากระทรวงเมื่อปี 2558

เมื่อปี 2559 “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เคยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางไทยเบฟฯไม่ได้เป็นผู้เข้าไปดูแลโดยตรง แต่ทีซีซีกรุ๊ป เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทางกรุ๊ปมองว่าการขนส่งทางระบบรางมีความสำคัญ และมีประโยชน์ที่ดี เพราะประเทศทีพัฒนาแล้วก็มีการใช้บริการกันอย่างแพร่หลาย

ล่าสุดดูเหมือนทางฝั่ง “ไทยเบฟฯ” ยังเงียบ แต่ว่ากันว่า “เจ้าสัวเจริญ” ยังไม่ทิ้งความตั้งใจ แต่กำลังซุ่มเตรียมข้อมูล อย่างที่รู้ ๆ กันราชันย์น้ำเมาตุนที่ดินย่านหาดชะอำไว้นับ 1 หมื่นไร่ เพื่อพัฒนาเป็นอสังหาฯเชิงท่องเที่ยว

เพียงรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันโปรเจ็กต์ได้เมื่อไหร่ และมีเงื่อนไขอะไรที่จูงใจให้เอกชนลงทุนบ้าง เนื่องจากผลการศึกษาที่ออกมาผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ไม่ถึงเกณฑ์ 12% อยู่ที่ 9.66%

ต้องรอลุ้น “เจ้าสัวเจริญ” จะอัดเงินแสนล้านช่วยรัฐบาล คสช.ปักตอม่อรถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้อย่างที่วาดฝันไว้หรือไม่