สำเร็จอย่างสวยงามสำหรับงานสัมมนาแห่งปี หัวข้อ “Thailand 2024 Beyond Red Ocean เส้นทางใหม่ เป้าหมายใหม่ ที่มั่นคง” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ แกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
โดยมี “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ Beyond Red Ocean โดยถอดโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของแสนสิริ สร้างผลประกอบการทุบสถิตินิวไฮทั้งด้านรายได้และกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัทในปี 2566 นำเสนอมุมมองและทิศทาง ที่จะก้าวข้ามการแข่งขันสูงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในปี 2567 มีรายละเอียด ดังนี้
กะเทาะปัจจัยท้าทาย 4 ด้าน
“อุทัย” เปิดประเด็นด้วยการฉายภาพธุรกิจแสนสิริทำเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตคู่กับเศรษฐกิจประเทศไทย โดยธุรกิจอสังหาฯมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเติบโตของจีดีพีประเทศ
สำหรับมุมมองตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 สะท้อนออกมาเป็นสูตร “4+3” แบ่งเป็นปัจจัยความท้าทาย 4 ด้าน กับโอกาสอีก 3 ด้าน
เริ่มต้นจาก “ปัจจัยความท้าทาย” ได้แก่ 1.อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย มีคนเคยศึกษาว่าทุก ๆ 1% ของดอกเบี้ยที่มีการปรับขึ้น มีผลกับอำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยประมาณ 8% ความสำคัญของดอกเบี้ยเพราะพฤติกรรมการซื้อบ้านส่วนใหญ่เกิน 90% ขอสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียม เดิมดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก (ดอกเบี้ยโปรโมชั่นของแบงก์) อยู่ที่ 3% ปัจจุบันขยับขึ้นเป็น 3-4%
ผลกระทบคือ อำนาจในการซื้อ จากเดิมคนเคยซื้อบ้านราคา 100 บาทได้ ตอนนี้มีอำนาจในการซื้อเหลือ 98 บาท โดยที่มีความสามารถในการผ่อนเท่าเดิม เพราะดอกเบี้ยมีการปรับสูงขึ้น
2.สถานการณ์เงินเฟ้อ-ราคาวัสดุก่อสร้าง พบว่า ในปี 2565 ที่เริ่มมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันแพง สร้างผลกระทบเยอะมากกับเรื่องผลผลิต เรื่องวัสดุก่อสร้าง
“ผมจับตัวเลขอินแฟลชั่นในแง่การก่อสร้าง ค่าก่อสร้างขึ้นประมาณ 8% แต่ปีนี้ดีหน่อย ราคาน้ำมันเริ่มคงที่ อัตราเงินเฟ้อในแง่ต้นทุนการก่อสร้างใกล้ ๆ 0 หรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา แสดงว่าเฉลี่ย 2 ปี (2565-2566) เงินเฟ้อประมาณ 4%”
3.ค่าแรง/ค่าจ้างขั้นต่ำ ประเด็นอยู่ที่ธุรกิจอสังหาฯค่อนข้างจะเป็น labor intensive (ใช้แรงงานเข้มข้น) เพราะฉะนั้น ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงค่าแรงจะมีผลกระทบเข้ามา มีข้อมูลคร่าว ๆ ว่า ถ้าหากค่าแรงปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน จาก 300 กว่าบาท จะมีผลกระทบกับต้นทุนก่อสร้างขึ้น 3-4% หรือผลกระทบต่อราคาขาย 2-3%
และ 4.หนี้ครัวเรือน-ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนประเทศไทยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 90% ถ้าหนี้ครัวเรือนสูง จะส่งผลกระทบต่ออำนาจในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง
มองโอกาส 3 ด้านโค้งท้ายปี’66
ถัดมา “ปัจจัยโอกาส” 3 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวฟื้น-หนุนกำลังซื้อต่างชาติ โดยรัฐบาลใหม่มีนโยบายเกี่ยวกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามา มีการเก็บสถิติทุก ๆ ครั้งที่ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย จะเห็นผลที่ชาวต่างชาติอยากซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองไทย ซึ่งค่าครองชีพไม่สูง คนไทยเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ อาหารการกินราคาถูก ทำให้ทุกครั้งที่ตัวเลขการท่องเที่ยวเราสูงขึ้น การขายคอนโดฯให้ชาวต่างชาติก็จะสูงขึ้น
2.รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจอสังหาฯมีความสัมพันธ์ทางตรงกับจีดีพีประเทศ ดูง่าย ๆ จีดีพีประเทศไทย ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2% กว่าเกือบ 3% อสังหาฯโดยรวมก็จะโต 4-5% ถ้าหากปีหน้า (2567) มองว่าจีดีพีโตสัก 3% ธุรกิจอสังหาฯก็จะโตสัก 5-6%
และ 3.ค่าเงินบาทอ่อนตัว ดึงดูดความสนใจนักลงทุน ซึ่งแสนสิริกำลังมอนิเตอร์อยู่ว่าเรื่องเกี่ยวกับนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามา รวมทั้งนักท่องเที่ยว หรือคนที่อยากมาซื้ออสังหาฯในเมืองไทย ก็ซื้ออสังหาฯในราคาที่ถูกลง
ติดทำเนียบ 1 ใน 50 บริษัทในฝัน
ภายใต้สถานการณ์โควิด การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยค่อนข้างรุนแรงมาก มีการคุยกันว่าองค์กรแสนสิริต้องมีการปรับเปลี่ยน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่แล้วที่มีการพูดถึงดิสรัปทีฟ การนำเทคโนโลยีเข้ามา จุดหนึ่งที่มองคือทำยังไงให้องค์กรแสนสิริของเรามีไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์
โดยที่ในยุคนั้นเอง มีเจเนอเรชั่นที่เข้ามาเรื่อย ๆ คือเจเนอเรชั่น Z เป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง ใช้โมบายค่อนข้างเยอะ บุคลากรกลุ่มเจน Y ที่เริ่มเข้ามาในองค์กร แสนสิริทำยังไงที่จะมีคนที่มีความสามารถเข้ามาในองค์กรได้อย่างไร
“เราก็มีการปรับเปลี่ยน มีการรีโนเวตออฟฟิศใหม่ จัด way of working วิธีการทำงานใหม่ ๆ ของพนักงาน ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราสามารถดึงดูดพนักงานที่มีอายุน้อย ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับเรา และเกิดการสร้างไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์ให้กับองค์กรขึ้นมา”
และ “เวย์ออฟเวิร์กกิ้งอีกเรื่องหนึ่งคือ สปีดทูมาร์เก็ต โลกธุรกิจวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงแม้จะเป็นเรื่องธุรกิจอิฐ หิน ปูน ทราย ก็มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เราต้องการให้เด็กคนรุ่นใหม่มาทำงานกับเรา มีการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ได้มีข้อมูลที่เหมาะสม เพื่อสามารถที่จะตัดสินใจ และผู้บริหารระดับสูงถึงแม้จะใช้เทคโนโลยีไม่ได้เก่งมาก ก็ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้”
นอกเหนือจากความเร็วแล้ว Attention to detail การดูดีเทลทุกตัว ไม่ปล่อยออกไปโดยที่ไม่มีการดูหรือมีการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว จนกระทั่งกลายเป็น DNA ของชาวแสนสิริ ไฮไลต์อยู่ที่องค์ประกอบเหล่านี้ ทำจนกระทั่งแบรนด์ของแสนสิริเป็น top of mind ของวงการอสังหาริมทรัพย์จนถึงทุกวันนี้
โดยมีบริษัททำรีเสิร์ชในปี 2565 พบว่า แสนสิริเป็น 1 ใน 50 บริษัทในฝัน ที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย โดยแสนสิริรั้งอันดับที่ 25
ลงทุนซื้อการเติบโตอนาคต
จากการเป็นองค์กร 30 ปีที่ผ่านมา แสนสิริสะสมแคช (เงินสด) จึงเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจที่อยู่อาศัย แต่ยังมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ นำมาสู่การลงทุนขนานใหญ่ ประกอบด้วย
1.ลงทุนฮอสพิทาลิตี้ ด้วยการเทกโอเวอร์บริษัท เดอะสแตนดาร์ด โฮเทล ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือเดอะสแตนดาร์ด 20 กว่าแห่งกระจายอยู่ทั่วโลก 2.ลงทุนบริษัท เอ็กซ์สปริง ทำดิจิทัลไฟแนนซิ่ง
3.ลงทุนบริษัท ไอออน เอ็นเนอร์จี้ ซึ่งแสนสิริทำโซลาร์รูฟ เพราะหลังคาที่เป็นโซลาร์เซลล์ทุกวันนี้ก็เป็นพลังงานทางเลือก 4.ลงทุนธุรกิจบริษัท พรอสเพ็ค ดีเวลลอปเม้นท์ ก็เป็นบริษัทเรียลเอสเตตทางด้านอินดัสเตรียลเอสเตต
5.ลงทุนบริษัท Charge เป็นอีวีชาร์จเจอร์ และ 6.ลงทุนบริษัท greenphyto เป็นบริษัทจากสิงคโปร์ ในการปลูกผักโดยใช้ระบบปิด เป็นเทคโนโลยีบางอย่างที่เราเริ่มสนใจ และมีการรีเลตกับธุรกิจที่อยู่อาศัย
ต่อจิ๊กซอว์ 8 ด้านสู่องค์กร ESG
เมกะเทรนด์รอบใหม่แห่งยุค ว่าด้วย ESG-Environment, Social, Governance ปัจจุบัน แสนสิริมีแนวทางดำเนินธุรกิจโดยมอง ESG เป็นแผนงานในแง่การทำงานทุกกระบวนการ
จุดเน้นอยู่ที่แสนสิริเป็นบริษัทแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการประกาศเกี่ยวกับเรื่องของ Net Zero เริ่มมีการนำมาปรับภายในองค์กร เริ่มมีการกำหนดแผนดำเนินงานระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เป้าหมายระยะยาวจะเป็นบริษัทเน็ตซีโร่ภายในปี 2050
“เรื่องแรก เรากำลังดูว่าจะทำยังไงให้บ้านมีการใช้พลังงานที่ค่อนข้างต่ำ และใช้พลังงานสะอาด เพราะฉะนั้น จึงต้องมองเรื่องกรีนแมทีเรียล โซลาร์เซลล์ อีวีชาร์จเจอร์ หรือแม้แต่เรื่องต้นไม้ที่อยู่ภายในบ้าน สิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้บ้านในอนาคต เป็นบ้านที่ใช้พลังงานได้ต่ำมาก หรือสามารถเจเนอเรตพลังงานใช้ได้ด้วยตัวเอง โดยนำร่องในโครงการบุราสิริ กรุงเทพกรีฑา”
เรื่องที่ 2 อีวีชาร์จเจอร์ แสนสิริมีการติดตั้งอีวีชาร์จเจอร์เป็นรายแรกในธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยติดตั้งเครื่องแรกเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่คอนโดฯ ควอทโทร บาย แสนสิริ ทำเลทองหล่อ (Quattro by Sansiri) ล่าสุดในปี 2566 ติดตั้ง 1,000 กว่าจุดแล้ว ในโครงการบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ
เรื่องที่ 3 โซลาร์เซลล์ ตอนนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของราคาบ้านแล้ว กำลังดูว่าถ้าต้นทุนโซลาร์เซลล์ถูกลงในอนาคต บ้านของแสนสิริจะเจเนอเรตการใช้ไฟเอง รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้ในบ้าน ภายใน 2-3 ปีคาดว่าแบตเตอรี่น่าจะมีราคาถูกลง สามารถผลิตไฟจากหลังคาโซลาร์ และนำมาใช้ในบ้านที่สามารถนำมาใช้ในยามค่ำคืนได้
เรื่องที่ 4 เกี่ยวกับต้นไม้ เหตุผลจากการทำหมู่บ้านจัดสรรเรื่องความร่มรื่นมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้น แต่ละปีบริษัทปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1 แสนกว่าต้น ใน 60 โครงการ ช่วยในเรื่องดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ คำนวณสูงถึง 35 ตัน/ปี และเป็นส่วนหนึ่งในการที่แสนสิริจะเติบโตต่อไป
เรื่องที่ 5 การทำโรงงานผลิตแผ่นพรีแคสต์ (ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป) ใน 1 ปีผลิตพรีแคสต์เพื่อจะทำบ้าน 4,000 หลัง คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ของความต้องการใช้ป้อนให้กับโครงการในเครือ โรงงานถือเป็นมาตรฐานกรีนเพราะเราได้ ISO 9001:2015 และ ISO 14001:2015 ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ 6 การดูแลสังคม แสนสิริเป็นองค์กรหนึ่งที่อยากมี good citizen ดังนั้นจึงนำเสนอ Good Citizen Campaign ทำเรื่องเกี่ยวกับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ มีโครงการดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์การยูนิเซฟ ทำเรื่องการศึกษา สุขภาพ และกีฬา ที่แสนสิริมีอะคาเดมีสอนเด็กเกี่ยวกับฟุตบอล
เรื่องที่ 7 บริษัทมีแคมเปญเกี่ยวกับความเท่าเทียม equality เราผลักดันเพื่อให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
เรื่องที่ 8 การมีส่วนร่วมของ stakeholder กับพาร์ตเนอร์ พยายามดึงพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานร่วมกับแสนสิริ เข้ามามีส่วนร่วมในแง่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม
มือรางวัล No.1 Branding
บรรทัดสุดท้ายของ ESG แสนสิริทำวิจัย หรือร่วมมือทำวิจัยกับองค์กรที่ ผลลัพธ์ที่ได้ทุกครั้ง บริษัทเป็น No.1 Brand เบอร์หนึ่งในแง่อสังหาริมทรัพย์ และเป็นเทรนด์เซตเตอร์ในแง่การออกแบบดีไซน์
“รางวัลเราได้รับทุกปีไม่เคยตกหล่นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่าง เช่น Most Admired Brand, Best Housing Development, The Best Luxury Residence, International Award, Most Powerful Brand และรางวัลอีกมากมายที่ผ่านมา เกิดจากการสร้างแบรนดิ้ง ที่มีองค์ประกอบหลายเรื่อง ไม่ว่าโปรดักต์ เซอร์วิส หรือเทคโนโลยีที่เราใส่เข้ามา”
อัพเดต ณ ปี 2566 Baramizi Group สำรวจแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุด พบว่า แสนสิริเป็นบริษัทที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ อยู่ที่ 14,604 ล้านบาท รองลงมา เอพี ไทยแลนด์ 14,283 ล้านบาท, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 12,287 ล้านบาท, พฤกษา โฮลดิ้ง 8,837 ล้านบาท และศุภาลัย 7,923 ล้านบาท
โชว์เคส-บ้านทุกเซ็กเมนต์
ในแง่การทำโปรดักต์ แสนสิริให้ความสำคัญกับการออกแบบ และฟังก์ชั่นของบ้าน ธุรกิจขายที่อยู่อาศัย คือ ขายสเปซ ขายอินโนเวชั่นบางอย่างเกี่ยวกับหน้าตาของบ้าน พื้นที่ที่มีการใช้สอยประโยชน์ได้จริง
ตัวอย่าง “นาราสิริ วัชรพล” โครงการไฮเอนด์แบรนด์ ราคา 40 ล้านบาทอัพขึ้นไป เปิดขายแล้วได้รับความนิยมสูง หน้าตาของบ้าน คลับเฮาส์ ใช้ความพิถีพิถันในการเลือกใช้วัสดุ ใช้ดีไซเนอร์ที่บางทีต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูของและดูเทรนด์ใหม่ ๆ เอามาประกอบใช้กับการพัฒนาโครงการ
แบรนด์ “บูก้าน” ดีไซน์เป็นแบบบ้านทำเลอยู่ในเมือง มีพื้นที่ (ที่ดิน) ไม่เยอะ เป็นบ้านเดี่ยว 3 ชั้น พื้นที่ใหญ่หน่อย 500-700 ตารางเมตร (ตัวบ้าน) รูปแบบดีไซน์สระว่ายน้ำอยู่ในบ้านเลย เพราะมีการทำรีเสิร์ชวิเคราะห์กับลูกค้าที่เป็นตัวคนจริง ๆ ว่าความต้องการเขาคืออะไร แล้วเอาสิ่งเหล่านี้มาปรับ เปลี่ยน และนำมาพัฒนาโครงการ
แบรนด์ระดับบน “เศรษฐสิริ” เป็นแบรนด์เรือชูธงของแสนสิริ ปีนี้มีการลอนช์ในแง่ดีไซน์ 4 แบบออกมา กระจายอยู่ใน 10 กว่าโครงการรอบกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยแบบบ้านโมเดิร์นคลาสสิก จอร์เจี้ยน เบอร์ลิน อาร์ตเดโค่ เป็นแบบรุ่นใหม่ที่มีการกระจายและทำในปี 2566 นี้
แบรนด์เล็กลงมา “สราญสิริ” ราคา 5-10 ล้านบาท แบบซีรีส์ใหม่คือโมเดิร์นฟาร์มเฮาส์ กับเลย์เอาต์ที่มีการพัฒนาตลอดเวลา ปีนี้มี 4 โครงการ และแบรนด์ “อณาสิริ” ราคา 3-8 ล้านบาท บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด แบบบ้านซีรีส์ใหม่ ได้แก่ เมดิเตอร์เรเนียน, ลากอม Lagom ของสแกนดิเนเวียน,โมเดิร์นเจแปนนีส และโมเดิร์นบาร์นเฮาส์
ได้เวลาบุกคอนโดฯไฮเอนด์
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แสนสิริไม่ได้เปิดคอนโดฯมากนัก ปี 2566 เป็นปีที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเข็นแพ็กเกจออกมา ได้แก่ โครงการ Via Ari ทำเลอารีย์ที่ขออนุมัติผลกระทบสิ่งแวดล้อมยากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ใช้เวลา 14-15 เดือน แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเปิดมาแล้วได้รับการตอบรับค่อนข้างดีมาก
อีกแบรนด์ คือ “SHUSH ราชเทวี” คอนโดฯโครงการที่ 2 ที่เป็นไฮเอนด์ ให้ความสำคัญกับเรื่องการออกแบบดีไซน์ การเลือกวัสดุค่อนข้างมาก
สร้างจุดแข็งบริการหลังการขาย
ในด้านบริการหลังการขาย แสนสิริมีโฮมแอปพลิเคชั่น ทำเป็นเจ้าแรกเกือบ 10 ปีแล้ว เป็นแอปที่ใช้สื่อสารในแง่โอเปอเรชั่นระหว่างแสนสิริกับลูกค้า ปัจจุบันมีลูกค้าในการดูแล 115,000 ครอบครัว
นอกจากนี้ มี “LIV 24” ระบบเอไอทางด้าน CCTV (กล้องวงจรปิด) มีเอไอแฝงอยู่ในเครื่อง ช่วยดูเรื่องเกี่ยวกับซีเคียวริตี้ ความปลอดภัยของลูกค้า ปัจจุบันห้องบัญชาการเอไอดูเรื่องซีเคียวริตี้ให้กับลูกค้าเกือบ 200 หมู่บ้าน
เซอร์วิสอื่น ๆ “โฮมเซอร์วิส โฮมแคร์” ปัจจุบันโฮมแคร์รวมอยู่ในโฮมเซอร์วิสแล้ว ทำให้ลูกค้าเราสามารถติดต่อซ่อมแซมบ้านได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความพึงพอใจลูกค้ามีสกอร์ที่ดีขึ้น และเก็บงานได้อย่างรวดเร็วมาก มีการคอนโทรลด้านระยะเวลา
ยังมี “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” เป็นบริษัทลูกและโตมาพร้อมกับแสนสิริ 30 ปีแล้ว ดูแลเรื่องส่วนกลางทั้งหมด ดูแลบริการหลังการขาย นิติบุคคลอาคารชุด ระบบรักษาความปลอดภัย ความสะอาด ปัจจุบันดูแล 400 กว่าอาคาร นอกจากนั้นมีการดูแลเรื่อง CRM ดูแลความพึงพอใจของลูกค้าด้านต่าง ๆ
ยืน 1 ตลาดอสังหาฯภูเก็ต
อีกเรดโอเชี่ยนหนึ่งที่น่าสนใจมาก โซนรองจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ก็คือ “จังหวัดภูเก็ต” โดยแสนสิริลงทุนในภูเก็ต 12 ปีแล้ว พัฒนาโครงการรวม 21 โครงการ มูลค่ารวม 21,000 ล้านบาท
“
ตลาดภูเก็ตวันนี้เราจะทำต่อ เราจะขยายใหญ่ขึ้น เพราะดูจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่แล้ว จะมีการนำงบประมาณลงไปภูเก็ตเยอะขึ้นตามที่เราฟังข่าวมาด้วยกัน เพราะฉะนั้น เรดโอเชี่ยนใหม่ ๆ ของแสนสิริ ก็คือภูเก็ต มีการแข่งขันสูง ต่างชาติเยอะ ในแง่การทำธุรกิจของเราเองก็มีการทำที่จะเติบโตได้”
ตัวอย่างที่เพิ่งประกาศความสำเร็จ คือ คอนโดฯ เดอะเบส บูกิต เปิดขายเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับดี มียอดขายแล้ว 200 กว่ายูนิต เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ในภูเก็ต นอกจากโครงการพูลวิลล่า หมู่บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว
“สำหรับแสนสิริ จริง ๆ ภูเก็ตต้องบอกว่ายอดขายต่าง ๆ เป็นรองจากกรุงเทพฯ และพัทยา”
อยู่อย่างผู้นำ “Trend Setter”
“อุทัย” สรุปรวบยอดตอนท้ายว่า โดยรวมทั้งหมด อยากเรียนให้ทราบว่า ในแง่ของการทำแบรนดิ้ง ในแง่ของการทำธุรกิจ แสนสิริให้ความสนใจกับแบรนดิ้งมาก ไม่ว่าการพัฒนาโปรดักต์ในเรื่องของแบรนด์ดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซอร์วิสที่พยายามจะดูเรื่องเซอร์วิสต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกบ้านอยู่กับเรา และทำให้ลูกบ้านสามารถไปบอกต่อกับลูกค้าในอนาคตได้
รวมทั้งดูเรื่องความปลอดภัย เรื่องความสะดวกสบาย เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ในบ้าน อินฟราสตรักเจอร์ที่จะเตรียมต่อไปในอนาคต ในเรื่องพลังงานสะอาด อีวีชาร์จเจอร์ โซลาร์รูฟ หรือแบตเตอรี่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แสนสิริเราก็เป็นองค์กรที่พยายามจะเซต เป็น Trend Setter ที่เราบอกแล้วว่า ต่อไปนี้ธุรกิจอสังหาฯ เราจะเดินไปทางไหน อะไรบ้างที่เป็นส่วนสำคัญและเราเติมเข้ามา
ในอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราก็ไม่นึกเลยว่าอีวีชาร์จเจอร์ จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบอินฟราสตรักเจอร์หรือเปล่า โซลาร์เซลล์เราศึกษามาสิบกว่าปี จนกระทั่งภายใน 2-3 ปีนี้ ก็เริ่มกระบวนการเอาแมทีเรียลเหล่านี้เข้ามา
ทั้งหมดนี้เป็นภาพโดยรวมว่า การแข่งขันอสังหาฯค่อนข้างสูงมาก องค์กรใหญ่ ๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยน มีการพัฒนาทางธุรกิจต่าง ๆ ให้สปีดทูมาร์เก็ต เทคโนโลยีก็ต้องเรียนรู้ เป็นองค์ประกอบทั้งหมดของ Beyond Red Ocean