อภิชาติ จูตระกูล 40 ปีแสนสิริ Resilient Growth

อภิชาติ จูตระกูล
อภิชาติ จูตระกูล

“แสนสิริในวันนี้ เราเป็นสถาบันแล้ว”

1 ในผู้ร่วมก่อตั้งแสนสิริเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว “อภิชาติ จูตระกูล” วันนี้ในวัย 63 ปี กับโชคชะตาที่ถูกขอร้องให้นั่งเก้าอี้ CEO แสนสิริ รับไม้ต่อจาก “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ก้าวสู่วงการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

ในโอกาสการทำหน้าที่ CEO เพื่อประกาศ Business Direction 2024 ถือเป็นแมตช์แรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา “อภิชาติ” ให้สัมภาษณ์ในบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง ย้อนรำลึกประสบการณ์ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา มองไปข้างหน้าทศวรรษต่อไปที่อยากเห็นและอยากให้เป็น

รีเฟรชองค์กร-รีเฟรชผู้บริหาร

สำหรับปี 2567 แผนธุรกิจถูกนำเสนอในธีม Resilient Growth-ยืนหยัด ยั่งยืน

“40 ปี แสนสิริผ่านร้อนผ่านหนาว ประสบการณ์ทำให้เราหล่อหลอม Resilient กับพนักงาน 4,000-5,000 คน ต้องทำงานอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว DNA ของเราต้องสปีดทูมาร์เก็ตพัฒนาโครงการด้วยความเข้าใจ และนำมาต่อยอด ส่งมอบสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคที่ตรงใจ การที่เราเป็นบริษัทชั้นนำ เราให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมและการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทแสนสิริ นี่คือความเชื่อของเราเช่นนั้น”

เรื่องใหม่ของแสนสิริในปี 2567

“วันนี้มุ่งทรานส์ฟอร์มเป็นบริษัททันสมัย มีการแต่งตั้งคนรุ่นใหม่สู่ตำแหน่งบริหาร ในฐานะซีอีโอ ผมมีหน้าที่ให้แนวทาง ให้การสนับสนุน เพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรเราเติบโตและแข็งแกร่ง ภายใต้ผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ และทำให้แสนสิริมีการต่อยอด อยู่อย่างยั่งยืนอีกยาวนาน”

โดย 2 ผู้บริหารคนรุ่นใหม่ของแสนสิริ ประกอบด้วย “นางสาวศรีอำไพ รัตนมยูร” ประธานผู้บริหารสายงานการตลาด รับผิดชอบทางด้านการตลาดแบรนด์แคมเปญต่าง ๆ ภาพลักษณ์องค์กร และสื่อสารประชาสัมพันธ์ กับ “ภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ” ประธานผู้บริหารสายงานกลยุทธ์ ดูแลฝ่ายการเงิน การบัญชี บริหารการขาย ทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีและสารสนเทศ

เป้าผู้นำ-All Time High

ที่ผ่านมา แสนสิริเปิดตัว 44 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 65,000 ล้านบาท สร้างสถิติใหม่ All Time High เทียบกับปี 2565 เติบโตถึง 50% และเติบโต 10 เท่าจากยุคโควิด ตัวเลขรัว ๆ มียอดขาย 49,000 ล้านบาท ยอดโอน (รวมโครงการร่วมทุน) 39,000 ล้านบาท สามารถ Sold out หรือปิดการขายได้มากถึง 28 โครงการ มูลค่ารวม 51,000 ล้านบาท

แผนลงทุนปี 2567 วางเป้าเปิดตัว 46 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 61,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 26 โครงการ 35,000 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 20 โครงการ 26,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 52,000 ล้านบาท และเป้ายอดโอน 43,000 ล้านบาท

ปีมังกรทอง แสนสิริต้องการสร้างสถิติ All Time High ต่อเนื่องจากปี 2566…อีกครั้ง

ตัวชี้วัดอยู่ที่ผลดำเนินการ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2566) มีกำไรสุทธิ 4,760 ล้านบาท มากกว่าปี 2565 เต็มปี สถิติน่าสนใจเป็นเรื่องการจ่ายเงินปันผลที่พบว่า Dividend Yield ปีล่าสุด 2566 อยู่ที่ 12.4%

ตลาดต่างจังหวัดที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ปีนี้วางแผนเปิดตัว 13 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2566 เติบโตถึง 170% โดยมีโครงการสะสมทั้งเก่าและใหม่คิดเป็นยูนิตพร้อมขาย 146,000 ล้านบาท ส่งผลให้แสนสิริจะมีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีหน้า

ติดหัวรบตลาดล่าง-กลาง-บน

โครงการไฮไลต์ในปีนี้ ประเดิมด้วยบ้านเดี่ยวซูเปอร์ลักเซอรี่แบรนด์ “นาราสิริ บางนา ก.ม.10” ราคาเริ่ม 45-70 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 3,800 ล้านบาท และต่อยอดแบรนด์ยอดนิยม “เศรษฐสิริ” 7 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 14,400 ล้านบาท ยังมีบ้านเดี่ยวแบรนด์ราคาเข้าถึงง่าย “สราญสิริ” 6 โครงการ มูลค่ารวม 9,100 ล้านบาท จุดขายบ้านเดี่ยวหลังแรกของครอบครัว กับแบรนด์ “อณาสิริ” 4 โครงการ มูลค่ารวม 4,100 ล้านบาท

เรื่องใหม่มาพร้อมกับเตรียมเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ “ณริณสิริ” บ้านเดี่ยวใหม่ระดับพรีเมี่ยม อวดโฉมโครงการแรกทำเลกรุงเทพกรีฑา กับแบรนด์ “มาเบิล” เซ็กเมนต์ 5-7 ล้านบาท

สินค้าคอนโดมิเนียม เคาะแผนเปิดตัว 20 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท ไฮไลต์เปิดขาย “เดอะ สแตนดาร์ด เรสซิเด้นซ์ หัวหิน” มูลค่าโครงการ 4,100 ล้านบาท เจาะตลาด Branded Residence แห่งแรกในเอเชีย และแห่งที่ 3 ของโลก ภายใต้เดอะ สแตนดาร์ด แบรนด์บูทีคโฮเทล และไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลกที่แสนสิริเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ควบคู่เปิดตัวแบรนด์ VIA 2 โครงการใหม่ บนสุดยอดทำเลที่มีดีมานด์สูง แต่ซัพพลายน้อย ในย่านสุขุมวิท 34 และ 61

ตลาดกลาง-ล่างราคาเข้าถึงง่ายอย่างแบรนด์ “ดีคอนโด” แคมปัสคอนโดวางแผนเปิด 3 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 2,800 ล้านบาท ยังมี “เดอะ มูฟ” และ “คอนโดมี” รวมทั้งรีเฟรชแบรนด์ “เดอะ เบส” อีก 3 โครงการ มูลค่าราว 4,500 ล้านบาท

ส่งมอบบ้านพลังงานสะอาด

หนึ่งในสถานะผู้นำของแสนสิริ มุ่งมั่นเดินหน้าในพันธกิจสีเขียว และเป็นอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (2593) ผ่านการขับเคลื่อน 4 แก่นสำคัญ “Process-Product-Partner-Investment” วางแผนส่งมอบทุกโครงการใหม่ของแสนสิริด้วยนวัตกรรมบ้านสีเขียว-Green Living Designed Home เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง จนถึงการส่งมอบบ้านพลังงานสะอาด เป็นตัวช่วยประหยัดพลังงาน โดย 1 ครัวเรือน สามารถลดการใช้พลังงานสูงสุด 18% ต่อปี

การต่อยอดขยายผลสู่คอนโดฯ เดอะเบสทุกโครงการใหม่ในปี 2567 พื้นที่ส่วนกลางจะมีการนำแนวทาง Green Living Designed Home นำมาปรับใช้ ตั้งเป้าลดใช้พลังงานในช่วงแรก 6%

จิ๊กซอว์ธุรกิจอีกตัวที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาแสนสิริ ภายใต้โมเดล Sansiri Community ซึ่งทำสำเร็จแล้ว 8 คอมมิวนิตี้ ได้แก่ กรุงเทพกรีฑา, บางนา-เลค 26, รังสิต-บางพูน, ราชพฤกษ์-346, กรุงเทพฯ-ปทุมธานี, เวสต์เกต, พระราม 2-วงแหวน และประชาอุทิศ 90 ปีนี้ทำเพิ่มอีก 4 คอมมิวนิตี้ที่ ศรีนครินทร์-แพรกษา, บางนา กม. 10, ศรีวารี และวงแหวน-ลำลูกกา

องค์กรแสนสิริบียอนด์ 40 ปี

มี 3 คำถาม ปีนี้ครบรอบ 40 ปี อยากเห็นแสนสิริเป็นอย่างไร

“คนรุ่นใหม่ องค์กรใหม่ที่พัฒนา อย่าลืมว่าแต่ก่อนปีเดียวเราทำโครงการเดียว แต่ตอนนี้ปีเดียวทำ 40-50 โครงการ ก็ต้องทำวิธีใหม่ องค์กรก็ใหญ่ขึ้น นวัตกรรมก็มากขึ้น ถ้าคุณอยู่เรื่องเดิมตลอด ก็ตายไป แสนสิริต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ พัฒนาคน พัฒนาองค์กร เป็นธรรมดาผมก็ต้องหลุดไป คนใหม่ก็ต้องขึ้นมา องค์กรที่อยู่เฉย ๆ คือองค์กรที่ตาย มีแสนสิริที่เป็นสถาบัน ก็ต้องพัฒนาเรื่อย ๆ พัฒนาตัวเอง พัฒนาบุคลากร มีคนรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า ๆ”

มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้

“อยู่ที่จีโอโพลิติกส์ ภาพโดยรวมเวลาใน 1 ปีเทรนด์มันไม่ได้หนีกว่ากันเท่าไหร่หรอก อย่างที่ผมบอก เราเหมือนสถาบัน จะซื้อบ้านคนก็ดูแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็ต้องดูแสนสิริ เราไม่ได้ทำอะไรที่เหมือนเดิม เพราะทำมา 30-40 ปีแล้ว เราไม่ใช่มือใหม่ เราทำเยอะมาก แสนสิริ DNA อยากทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา แต่เราทำในสิ่งที่คิดว่าทำให้ธุรกิจ Sustainable ได้ตลอดเวลา”

และแสนสิริในฐานะสถาบัน จะถูกต่อยอดยังไงในอนาคต

“เราไม่อยากเป็นแค่ไฟที่วูบมา 40 ปีแล้วดับไป เพราะฉะนั้น แสนสิริจะต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ เป็นองค์กรอายุ 50-60-80 ปี และอย่างที่ผมบอก แสนสิริเป็นสถาบัน เราต้องการให้ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองได้ พูดจริง ๆ แล้วเป็นความฝัน ว่าเราเป็นสถาบันแล้ว เราสามารถจะขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องผมหรือใครแต่องค์กรให้ขับเคลื่อนตัวเอง วิชั่นเป็นของเรา แต่การขับเคลื่อนเป็นขององค์กร”