“พฤกษา” กว้านซื้อที่ดินหมื่นไร่ปลูกป่าลดคาร์บอน

พฤกษาฯ ขับเคลื่อนความยั่งยืนและสร้างการเติบโตในระยะยาว ประกาศรับซื้อที่ดินเสื่อมโทรม 5,000-10,000 ไร่ ปั้นโครงการปลูกป่าเพื่อสะสมคาร์บอนเครดิตเป็นรายแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ ระบุเงื่อนไขต้องเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิโฉนด-น.ส. 3 ก. ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนและ ส.ป.ก. กระจายทำเล 21 จังหวัด 179 อำเภอ รองรับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนดำเนินธุรกิจปี 2567 นอกจากพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การลงทุนเกี่ยวเนื่องกับอีโค่ซิสเต็มเพื่อยกระดับการอยู่อาศัยในบ้านและคอนโดมิเนียมของพฤกษาฯ ภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข” จุดเน้นของบริษัทในการดำเนินงานก้าวต่อไป พฤกษาฯมุ่งมั่นสู่การสร้างความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

ลดปล่อยคาร์บอนหมื่นตัน

ล่าสุด ผลงานในปี 2566 กลุ่มพฤกษา โฮลดิ้งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 10,000 ตัน จากการติดตั้งโซลาร์หรือพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์, การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน (Passive Home), การใช้เทคโนโลยี Smart Home, โครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ, การใช้คอนกรีตสำเร็จรูปชนิดมีรูกลวง (Hollow Core) ลดการใช้ซีเมนต์, การใช้เทคโนโลยีสีเขียว หรือคาร์บอนเคียว (CarbonCure) โดยนโยบายเสาหลักในด้านความยั่งยืน บริษัทตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573 และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593

“ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พฤกษาฯให้ความสำคัญมาโดยตลอด มีตัวชี้วัดจากโรงงานพฤกษาพรีคาสต์ ที่ได้เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าคาร์บอนเคียว ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผสมในคอนกรีต สามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในการผลิต โดยที่ยังคงประสิทธิภาพและคุณภาพของคอนกรีต ซึ่งพฤกษาฯเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกในไทยที่ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้เข้ามาใช้งาน สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลงได้ถึง 1,000 ตันต่อปี”

สำหรับแผนลงทุนเพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในระยะยาว หนึ่งในจิ๊กซอว์ที่บริษัทวางแผนไว้นำเสนอภายใต้โครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศโดยบริษัทอยู่ระหว่างประกาศรับซื้อที่ดินที่มีลักษณะเป็นที่ดินเสื่อมโทรม โฟกัสในพื้นที่ 21 จังหวัด จำนวน 179 อำเภอ กระจายอยู่ในโซนภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคกลาง เพื่อนำมาปลูกป่าเป็นหลัก โดยประกาศรับซื้อ 300-2,000 ไร่

ซื้อที่ดินเสื่อมโทรม-ปลูกป่า

นายอุเทนกล่าวว่า ปัจจุบัน พฤกษาฯมีโครงการร่วมกับกรมป่าไม้ ทำโครงการปลูกป่าบนพื้นที่ 370 ไร่ ที่ห้วยด่านขุนทด แต่มีข้อจำกัดที่มีอายุการเช่าเพียง 10 ปี ซึ่งโครงการอยู่ในระยะเริ่มต้น จะหมดอายุในปี 2576 ดังนั้นมองในเทอมของความยั่งยืน บริษัทจึงต้องการมีที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อปลูกป่า สำหรับสะสมเครดิตคาร์บอนสำหรับใช้ในกิจการของพฤกษาฯโดยตรง

“โปรเจ็กต์ที่เราทำเริ่มต้นกับกรมป่าไม้ ทำเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต แต่ระยะเวลาใช้สิทธิคาร์บอนเครดิตแค่ 10 ปี และได้สิทธิสัดส่วน 90% ของคาร์บอนเครดิตที่คำนวณได้ หลังจากนั้นสิทธิการใช้เครดิตคาร์บอนจะเหลือศูนย์ จึงมองว่าถ้าเป็นที่เช่าปลูกป่าก็ไม่ยั่งยืน สำหรับกลุ่มพฤกษาฯการซื้อที่ดินเสื่อมโทรมปลูกป่าจึงเป็นนโยบายที่เราต้องการทำจริงจัง”

“งบฯจัดซื้อที่ดินไม่เยอะ เพราะเน้นที่ดินเสื่อมโทรมอยู่แล้ว ให้นึกภาพเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ยีลด์เชิงเกษตรกับผลผลิตต่ำ ซึ่งกรมมีงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งสำหรับทุกคนที่ต้องการปลูกป่าอยู่แล้ว ในอนาคตเมื่อทำสำเร็จ ที่ดินปลูกป่าของพฤกษาฯเท่ากับเป็นการบูรณะที่ดิน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพราะชุมชนจะได้ผืนป่ากลับคืนมา”

ปลูกสารพัดพืชดูดซับคาร์บอน

นายอุเทนกล่าวต่อว่า สำหรับโมเดลธุรกิจในการปลูกป่าเพื่อสะสมคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันคำนวณความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพฤกษาฯ มีจำนวน 20,000 ตันคาร์บอนต่อปี ในระยะยาวคาดว่าบริษัทมีแผนสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าตัวเลขน่าจะขยับไปถึง 40,000 ตันคาร์บอนต่อปี

“ในส่วนของการปลูกป่า เราจะปลูกพืชทุกอย่างที่ดูดซับคาร์บอน ซึ่งมีพันธุ์พืชให้เลือกได้หลากหลายมาก เป็นผลจากการเรียนรู้จากกรมป่าไม้ด้วย อาทิ ต้นมะค่าโมง, ต้นขี้เหล็ก, ต้นพะยูง, ต้นประดู่, ต้นประดู่แดง, ต้นกระพี้จั่น, ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์, ต้นอินทนิล, ต้นชงโค, ต้นเสลา, ต้นหางนกยูง, ต้นไผ่, ต้นสะเดา และต้นหว้า”

ทั้งนี้ วิธีการคำนวณ เฉลี่ยพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าปลูกพืช 200 ต้น คำนวณออกมาจะเป็นคาร์บอนเครดิตไร่ละ 2.5 ตัน โดยคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาใช้ได้จะเริ่มนับหลังจากปลูกป่าปีที่ 4 เป็นต้นไป เบื้องต้นหากดีดตัวเลขปลูกป่าปีละ 100,000 ต้น จะคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตได้ 1,000 ตัน จึงจะเห็นว่าเป็นงานยากและเป็นงานใหญ่ จำเป็นต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้

โฟกัสภาคอีสาน-ตอ.-กลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายละเอียดการรับซื้อที่ดินเสื่อมโทรม 21 จังหวัด 179 อำเภอ เรียงตามความเร่งด่วน ดังนี้ 1.จังหวัดลพบุรี รับซื้อใน 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ลำสนธิ (ช่วงรอยต่อกับจังหวัดนครราชสีมา) อ.ชัยบาดาล อ.ท่าหลวง อ.พัฒนานิคม อ.โคกสำโรง อ.สระโบสถ์ อ.โคกเจริญ อ.หนองม่วง 2.นครราชสีมา รับซื้อใน 11 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.ปักธงชัย อ.ครบุรี อ.เสิงสาง อ.หนองบุญมาก อ.เทพารักษ์ อ.บัวใหญ่ อ.บ้านเหลื่อม อ.สูงเนิน อ.โนนสูง อ.ด่านขุนทด

3.ชัยภูมิ รับซื้อใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บำเหน็จณรงค์ อ.ซับใหญ่ อ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า อ.เทพสถิต อ.เมืองชัยภูมิ 4.ฉะเชิงเทรา รับซื้อใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พนมสารคาม (บางส่วนที่ติดกับ อ.สนามชัยเขต และ อ.แปลงยาว) อ.สนามชัยเขต อ.แปลงยาว อ.ท่าตะเกียบ 5.ปราจีนบุรี รับซื้อใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ประจันตคาม อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี

6.สระแก้ว รับซื้อใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสระแก้ว อ.วัฒนานคร อ.วังสมบูรณ์ อ.วังน้ำเย็น อ.เขาฉกรรจ์ อ.คลองหาด อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง อ.ตาพระยา 7.จันทบุรี รับซื้อใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ อ.มะขาม อ.ขลุง อ.สอยดาว 8.บุรีรัมย์ รับซื้อใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.นางรอง อ.หนองกี่ อ.ปะคำ อ.โนนสุวรรณ อ.โนนดินแดง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ละหานทราย อ.บ้านกรวด อ.พลับพลาชัย 9.สุรินทร์ รับซื้อใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ปราสาท อ.ลำดวน อ.สังขะ อ.ศรีณรงค์ อ.รัตนบุรี

10.ศรีสะเกษ รับซื้อในทุกอำเภอ จาก 22 อำเภอ 11.อุบลราชธานี รับซื้อในทุกอำเภอ จาก 25 อำเภอ 12.สุโขทัยรับซื้อใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.คีรีมาศ อ.บ้านด่านลานหอย อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ 13.กำแพงเพชร รับซื้อใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พรานกระต่าย อ.โกสัมพีนคร อ.คลองขลุง อ.ขาณุวรลักษบุรี 14.พิจิตร รับซื้อใน 8 อำเภอ ได้แก่ อ.สากเหล็ก อ.วังทรายพูน อ.ตะพานหิน อ.ทับคล้อ อ.ดงเจริญ อ.บางมูลนาก อ.โพทะเล อ.โพธิ์ประทับช้าง

15.เพชรบูรณ์ รับซื้อใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.วิเชียรบุรี อ.บึงสามพัน อ.หนองไผ่ อ.ชนแดน อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า 16.ร้อยเอ็ด รับซื้อใน 10 อำเภอ ได้แก่ อ.สุวรรณภูมิ อ.อาจสามารถ อ.ธวัชบุรี อ.โพนทอง อ.เมยวดี อ.เสลภูมิ อ.พนมไพร อ.หนองฮี อ.จตุรพักตรพิมาน อ.ศรีสมเด็จ 17.ขอนแก่น รับซื้อใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.โคกโพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี อ.บ้านฝาง อ.หนองเรือ อ.หนองนาคำ อ.เขาสวนกวาง อ.กระนวน อ.ซำสูง อ.ชุมแพ 18.มหาสารคาม รับซื้อใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงยืน อ.แกดำ อ.นาดูน อ.วาปีปทุม อ.นาเชือก อ.โกสุมพิสัย

19.กาฬสินธุ์ รับซื้อใน 11 อำเภอ ได้แก่ อ.สหัสขันธ์ อ.นามน อ.กุฉินารายณ์ อ.นาคู อ.เขาวง อ.ดอนจาน อ.กมลาไสย อ.ร่องคำ อ.ยางตลาด อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี 20.ยโสธร รับซื้อใน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เลิงนกทา อ.ไทยเจริญ อ.กุดชุม อ.ทรายมูล อ.ป่าติ้ว อ.คำเขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย 21.อำนาจเจริญ รับซื้อใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ชานุมาน อ.เสนางคนิคม อ.ปทุมราชวงศา อ.พนา อ.ลืออำนาจ อ.หัวตะพาน