อสังหาฯเฮ ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ เปิดทางผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางซื้อที่อยู่อาศัย

นายกสมาคมอาคารชุดไทย ขานรับมติ ครม. เห็นชอบ 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ ได้กว่า 8 แสนล้านบาท จูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ได้กว่า 4-5 แสนล้านบาท ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางสามารถมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบ 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย

นายพีระพงศ์ จรูญเอก

1.ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จาก 1% เหลือ 0.01% และขยับระดับราคาเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

2.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ในจำนวนล้านละ 10,000 บาท ต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท โดยรวมไม่เกิน 100,000 บาท ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี

4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2,500,000 บาทขึ้นไป

5.การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI)

“ทั้ง 5 มาตรการที่ ครม.มีมติเห็นชอบออกมานั้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ ได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท และมีการลงทุนในอสังหาฯ อีก 4-5 แสนล้านบาท และยังมีผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่าย 1.2 แสนล้านบาท จากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน

ซึ่งทั้งหมดจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อีกประมาณ 1.7-1.8% โดยมาตรการที่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนคือ การเพิ่มเพดานราคาที่อยู่อาศัยจาก 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท และการลดค่าจดทะเบียนการโอน-การจดจำนอง เนื่องจากที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

มีสัดส่วนเกินกว่า 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสอง ส่งผลต่อการเร่งตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในสภาวะตลาดทรงตัวเช่นนี้ ตลอดจนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย” นายพีระพงศ์กล่าว

โดยมาตรการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ วัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการใช้สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในการที่จะจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง สามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ในรูปแบบของบ้าน BOI สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้

“แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ครม.มีมติเห็นชอบออกมานั้นจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของมาตรการที่เหลือที่ได้เคยนำเสนอไปพร้อมกันนั้น อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาความเป็นไปได้ต่อไป

โดยเฉพาะในส่วนของการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้มาลงทุนในประเทศไทย หากสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้จริงก็เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้เป็นอย่างดี” นายพีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย