TOR เมืองการบิน 2 แสน ล. บอร์ดอีอีซีเปิดทางร่วมทุน PPP

เป็นครั้งแรกหลังจากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.บ.EEC มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะทำงาน EEC เร่งรัด “master plan” พัฒนาเขตเมืองการบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมทั้งให้คณะทำงาน EEC เดินสาย road show ไปยังฝรั่งเศส-อังกฤษ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และจีน ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร็ว ๆ นี้ด้วย

เคาะ TOR เมืองการบิน 2 แสนล้าน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการที่ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2566 ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 120,000 ล้านบาท ที่ได้มีการประกาศ TOR ไปแล้ว รวมไปถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 200,000 ล้านบาท คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดเพื่อนำไปเสนอ นักลงทุน (market sounding) ได้ภายในเดือนกรกฎาคม และจะสามารถเปิดประกวดราคาได้แน่นอนในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจึงจะคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ลงทุนในตอนต้นปี 2562

ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการที่เกี่ยวข้องที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงตรงเวลาและวางแผนการขยายตัวของเมืองรอบ ๆ ข้างให้เป็นระบบ จะประกอบไปด้วย ภาพรวมของการขยายตัวจาก “เมือง” การบินภาคตะวันออก ไปสู่ “มหานคร” การบินภาคตะวันออก ในระยะเวลา 10 ปี เริ่มต้นจากพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกบริเวณสนามบินอู่ตะเภา ขนาด 6,500 ไร่ ไปสู่เขตชั้นในของมหานครการบินภาคตะวันออก พื้นที่โดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร ไปสู่เขตชั้นนอกรัศมี 30 กิโลเมตร มีงานที่จะต้องดำเนินการคือ งานวางแผนทางวิ่งที่ 2 งานวางแผนแม่บทและการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการร่วมทุนกับเอกชน

“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ ประมาณ 6,500 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เขตการค้าปลอดภาษี อาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่ (terminal) รันเวย์แห่งที่ 2 และอาคารขนถ่ายสินค้า ขณะที่เมืองการบินภาคตะวันออกจะตั้งอยู่ในพื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ในรัศมี 10 กิโลเมตร ไปสู่เขตนอกรัศมี 30 กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองโครงการจะเปิดให้เอกชนเข้าลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนเอกชน (PPP) เช่นเดียวกัน” นายคณิศกล่าว

อู่ตะเภาล้นเร่งทำ terminal

โดยระหว่างนี้จะเร่งรัดโครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก และสนามบินอู่ตะเภา ด้วยวิธีการบริหารโครงการแบบเร่งด่วน (fast track) ที่ได้ประกาศไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เชื่อมโยงไปกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ตรงเวลา และให้วางแผนการขยายตัวของเมืองรอบข้างให้เป็นระบบ น่าสนใจว่าอัตราการเติบโตของสนามบินอู่ตะเภา ในห้วง 1-2 ปีนี้ “เติบโตสูงมาก”

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ ผู้โดยสารล้น จึงต้องเร่งสร้างเทอร์มินอลรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตัวเลขที่ได้ประเมินคร่าว ๆ คาดว่าปี 2561 จะมีผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2.7 ล้านคน เทียบกับปี 2560 มี 1.4 ล้านคน ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ยอดผู้โดยสารกว่า 150,000 คน

“เราจึงต้องเร่ง terminal เชื่อมรองรับระหว่างกลาง”

ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ที่ขณะนี้บริษัทการบินไทยอยู่ระหว่างปรับแก้รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นไปตามประกาศ EEC track โดยปรับแก้ตามความเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐ และคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อสรุปนำเสนอฝ่ายบริหารของบริษัทการบินไทย และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษคัดเลือก โดยความคืบหน้าล่าสุด การบินไทยขอใช้พื้นที่เพียง 210 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือคาดว่าจะเปิดกว้างให้เอกชนรายอื่น ๆ มาลงทุนในเฟสสอง “ขณะนี้นอกจากเราจะมีรายชื่อบริษัทที่พร้อมลงทุนปรากฏชัดเจนแล้ว ทั้งแอร์เอเชียกับแอร์บัส ตอนนี้เรายังมีลุ้นทั้งนักลงทุนอเมริกา ยุโรป และจีน สนใจเข้ามาลงทุนและร่วมประมูลเช่นเดียวกัน โครงการนี้คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย” นายคณิศกล่าว

“เตรียมโรดโชว์ยุโรป ฝรั่งเศส-อังกฤษ”

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปฝรั่งเศส-อังกฤษ เป็นทางการ 20-25 มิถุนายนนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือถึงโอกาสธุรกิจโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก จากนั้น คณะทำงานอีอีซีจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัด road show ชักจูงนักลงทุนจากจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ให้เข้ามาลงทุนใน EEC อีกครั้ง

คาดว่าช่วง 5 ปีนี้จะเห็นเม็ดเงินการลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่ต่ำกว่า 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท

“การประชุมครั้งนี้เป็นนัดแรก หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.EEC ท่านนายกฯเน้นย้ำให้เร่งทำ master plan ทั้ง 5 โครงการ ไม่ใช่แค่อู่ตะเภา แต่เราจะเริ่มเฟส 2 แล้ว ทุกโครงการจะเดินหน้า หลายโครงการเริ่มประมูลเดือนกรกฎาคม และปลายเดือนนี้ คณะทำงานพร้อมเดินสาย road show ยุโรป เริ่มจากฝรั่งเศส พร้อมกับท่านนายกฯ จากนั้นจะเป็นญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-จีน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่อาจจะเห็นว่ามาช้า แต่มาแรง”

เมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่

ที่ประชุมยังรับทราบการเปลี่ยนชื่อ คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) เป็น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ด้วย โดยคณะกรรมการชุดนี้มีกรรมการเพิ่มเป็น 28 คน จากเดิม 18 คน ภายใต้คำสั่ง คสช. 2/2560 ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 14 คน หัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 3 คน ประธานสถาบันเอกชนทั้ง 3 สถาบัน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และเลขาธิการคณะกรรมการ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ จะต้องมีองค์ประกอบ 6 ลักษณะ

1) ชุมชนอัจฉริยะ (smart community) 2) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) 3) การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) 4) พลังงานอัจฉริยะ (smart energy) 5) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) และ 6) การบริหารจัดการอัจฉริยะ (smart governance)

ส่วนความก้าวหน้าในโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) กับโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) นั้น ทาง EECi จะจัดตั้ง lOT Institute ในระยะแรก และมีแนวทางร่วมทุนกับเอกชนพัฒนา EECd ส่วน EECi กำลังเจรจาชักชวนนักลงทุนอยู่