เปิดพิมพ์เขียว “เมืองใหม่ร่มเกล้า” เคหะดึงเอกชนผุดโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 128 ไร่

หนึ่งในภารกิจที่ “ดร.ธัชพล กาญจนกูล” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2561 นั้นคือ การดึงเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP เมกะโปรเจ็กต์ บนที่ดิน 635 ไร่ย่านร่มเกล้า ริมถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ถนนตัดใหม่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่งเปิดใช้ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ล่าสุดรอ “สำนักผังเมือง กทม.” เปิดไฟเขียวให้ปรับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน จากพื้นที่สีเหลืองที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยประเภท “ย.2″ เป็น ” ย.5″ พื้นที่สีส้มที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เพื่อปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่ตามมาตรการ PUD ที่สามารถปรับย่านการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยขึ้นลงได้ 3 ระดับ

โดยจะนำร่องเนรมิตพื้นที่ 128.96 ไร่ ติดกับเคหะชุมชนร่มเกล้า เป็นโครงการมิกซ์ยูสรูปแบบผสมผสานระหว่างที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และแอร์พอร์ตลิงก์ ทำให้เป็นทำเลมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ได้หลากหลาย ภายใต้ชื่อโครงการ”ร่มเกล้า คอนเน็กชั่น”

การใช้ประโยชน์ที่ดินแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ที่พักอาศัยและสำนักงานขนาดเล็ก ที่พักอาศัยเป็นรูปแบบกิจกรรมที่เป็นการใช้ประโยชน์หลักในพื้นที่โครงการ ประกอบด้วยที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม (เช่าระยะยาว) และสำนักงานขนาดเล็กผสมผสานกับการอยู่อาศัย โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ประมาณ 60% เป็นที่อยู่อาศัยโลว์ไรส์ 50% และโฮมออฟฟิศ 10%

2.พาณิชยกรรมและส่วนบริการชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมประเภทพาณิชยกรรมเป็นการพาณิชยกรรมเพื่อชุมชนเป็นหลัก มีศูนย์การค้าระดับชุมชน ตลาด โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ประมาณ 37% มีพาณิชยกรรมและบริการ 33% โรงแรม 4%

และ 3.สุขภาพและการบริการ เป็นรูปแบบกิจกรรมเพื่อชุมชนเป็นหลัก โดยประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพขนาดกลาง พื้นที่บริการด้านนันทนาการและสุขภาพ และศูนย์เปลี่ยนถ่ายคมนาคมระดับย่าน โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ประมาณ 3% เป็นศูนย์สุขภาพ 1% และบริการ 2%

ส่วนรูปแบบการพัฒนาแบ่งเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ A1 พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยประเภทพาณิชยกรรมและส่วนบริการชุมชน พื้นที่โครงการ 34.17 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณติดกับถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า โดยใช้ระยะการพัฒนา 18 เดือน 2.พื้นที่ A2 พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยและสำนักงานขนาดเล็ก พื้นที่โครงการ 22.51 ไร่ ใช้เวลาพัฒนา 12 เดือน

3.พื้นที่ B1 พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยผสมผสานประเภทพาณิชยกรรม และส่วนบริการชุมชน พื้นที่โครงการ 37.21 ไร่ ใช้ระยะการพัฒนา 18 เดือน และ 4.พื้นที่ B2 พัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารอยู่อาศัยรวมรูปแบบแนวสูง พื้นที่โครงการ 35.07 ไร่ ใช้เวลาพัฒนา 12 เดือน

ดร.ธัชพลกล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชน 1-2 รายสนใจจะพัฒนาที่ดินร่มเกล้า ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการเคหะประชารัฐ โดยรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าโครงการ 2,725.27 ล้านบาท จะเน้นสร้างเป็นเมือง มีที่อยู่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบเมืองสมาร์ทซิตี้คล้ายประเทศญี่ปุ่น รองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รับรถไฟฟ้าและศูนย์ราชการในอนาคต จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556

สำหรับเหตุผลที่เลือก “ร่มเกล้า” เป็นโครงการนำร่อง เนื่องจากย่านร่มเกล้า-ลาดกระบัง เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเป็นย่านเปลี่ยนถ่ายคมนาคมและจุดเชื่อมโยงสู่ระบบคมนาคมอื่นเข้าไปในเมืองสะดวก จึงมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางย่านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยรองรับการขยายตัวของเมืองที่มายังโซนตะวันออกด้วย