ADB ให้กู้รอบ 9 ปี สร้าง 4 เลนเชื่อมไทย-ลาว-เวียดนาม

ระเบียงเศรษฐกิจ - ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB ให้ประเทศไทยกู้พัฒนาถนนเชื่อม 3 ประเทศ หลังจากห่างหายไปนาน ในอนาคตจะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสำคัญทางด้านการค้าการลงทุนของไทยกับเพื่อนบ้าน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 ได้มีการลงนามสัญญากู้เงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างถนน 4 เลน ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วง อ.หนองหาน-อ.พังโคน ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วงสกลนคร-นครพนม และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ด-ยโสธร รวม 125 กม. โดยมีวงเงินกู้ 99.40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,404 ล้านบาท ถือเป็นการกู้ ADB ครั้งแรกในรอบ 8-9 ปี

ส่วนจะมีโครงการอื่น ๆ ที่จะขอกู้กับทาง ADB อีกหรือไม่นั้น ตอนนี้กำลังพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. เงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แต่ขอศึกษาในรายละเอียดก่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ทางหลวงหมายเลข 22 มีช่วงที่เชื่อมกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 จ.นครพนม เดิมจุดนี้เป็น missing link และมีประชาชนในพื้นที่เรียกร้องมามาก

ส่วนอีกจุดหนึ่ง ทางหลวงหมายเลข 23 มีช่วงหนึ่งที่ต้องทำเป็นถนน 4 เลน แต่ยังทำได้ไม่ครบ เงินกู้ส่วนนี้จึงเข้ามาสนับสนุนใน 2 โครงการดังกล่าว

“คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า เมื่อสร้างเสร็จปลายปี 2563 จะเป็นอีกเส้นทางที่เชื่อมต่อกับแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Corridor จาก จ.นครพนม มุกดาหาร ไปทาง อ.แม่สอด จ.ตาก”

ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการสำคัญ คือ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. เงินลงทุน 65,738 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงมีแผนนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นปีนี้พร้อมกับโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง

“การกู้ครั้งนี้เป็นผลมาจากการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการทางหลวงหมายเลข 12เพชรบูรณ์-หล่มสัก ซึ่งเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2559 และทางหลวงหมายเลข 359 พนมสารคาม ทาง ADB เห็นว่าคุณภาพการก่อสร้าง การเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนและตรงต่อเวลา จึงเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่น ๆ ที่จะขอกู้ด้วย อีกทั้งกระบวนการขั้นตอนและคุณภาพการก่อสร้างก็เป็นไปตามที่ ADB กำหนด”

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน ตอน สกลนคร-นครพนม และทางหลวงหมายเลข 23 ตอนร้อยเอ็ด-ยโสธร เป็น 4 ช่องจราจรมีวงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 6,808 ล้านบาทแบ่งเป็นกรอบวงเงินกู้ 50% หรือเท่ากับ 3,404 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 50%

โดยทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน และตอนสกลนคร-นครพนม แบ่งสร้าง 4 ตอนใช้เงินก่อสร้าง 3,720 ล้านบาท มีผู้รับเหมา 4 บริษัทก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด 2.บริษัท พระนครศรีอยุธยาพาณิชย์และอุตสาหกรรม จำกัด 3.บริษัท บัญชากิจ จำกัด และ 4.บริษัท ไทยวัฒน์วิศวการทาง จำกัด

เป็นการก่อสร้างขยายจากทาง 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร มาตรฐานทางชั้นพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 15 (AH15) ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ข้ามแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม เชื่อมต่อไปยังเมืองท่าแขก สปป.ลาว และเมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้

นอกจากนี้ เส้นทางโครงข่ายเลย-อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม ยังเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนนครพนมและพื้นที่ด่านชายแดนหนองคายเข้าด้วยกัน และเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จ.นครพนม และ จ.หนองคาย

สำหรับทางหลวงหมายเลข 23 ตอนร้อยเอ็ด-ยโสธร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโครงข่ายนครสวรรค์-ชัยภูมิ-อ.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-อุบลราชธานี-ช่องเม็ก เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและเชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ที่ อ.แก้งคร้อ เพื่อเข้าสู่ระเบียงเศรษฐกิจที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากตอนใต้ของ สปป.ลาวผ่านไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อีกทางหนึ่ง

โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน งบประมาณ 2,200 ล้านบาท มี Chaina Railway 20t Bureau Group Corporation Co., Ltd. และ 2.บริษัทการร่วมทุนระหว่างบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง และบริษัท ทองมาคอนแทรคเตอร์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง