“บิ๊กตู่”สั่งคมนาคมเคลียร์เวนคืนสายสีชมพู-เหลือง ห่วงเวนคืนทำรถไฟฟ้าอืดราคาที่ดินพุ่ง5-10เท่า

“บิ๊กตู่” สั่งคมนาคมเคลียร์เวนคืนสายสีชมพู-เหลือง ห่วงเวนคืนทำรถไฟฟ้าอืดราคาที่ดินพุ่ง 5-10 เท่า รฟม.ถกส่วนต่อขยายสายสีชมพูปลายเดือนนี้

เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน (BTS) ในฐานะตัวแทนกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR เข้าร่วมพิธีด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการมาทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะวันนี้เป็นการเริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายนี้อย่างเป็นทางการ แต่การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนใหม่จะต้องมีปัญหาจราจรเกิดขึ้นมากมายตามมาแน่นอน โดยเฉพาะใน กทม.ที่มีปัญหาค่อนข้างหนัก จึงขอฝากผู้ประกอบการให้ติดเครื่องหมายเตือนต่างๆ วางสิ่งป้องกันอันตราย และการใช้พื้นที่ขอให้คำนึงถึงความเหมาะสมด้วย วันนี้เราจึงต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ยอมรับว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ทั้งหมด ต้องร่วมแก้กันหลายส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่างๆ จะเสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว

การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ เป็นผลักดันตามแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขออย่าไปมองด้านเดียวว่า มีผลประโยชน์หรือการทุจริต เพราะการก่อสร้างทุกโครงการต้องเป็นไปตามกฎหมายกำกับและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้องและสุจริต ซึ่งวิธีการร่วมทุนแบบ PPP fast track มีกติกามีกฎหมายกำกับชัดเจน ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น เอกชนที่มีความสามารถก็เข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลได้ เพราะวันนี้เราต้องช่วยกันทุกฝ่าย และรัฐบาลไม่สามารถลงทุนอย่างได้ เพราะงบประมาณประจำปีมีจำกัด และงบประมาณทั้งหมดไม่ใช่ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ปีนี้ปีเดียว แต่ต้องนำไปชำระหนี้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านๆมา ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย

แต่ก็อยากให้มองเพิ่มด้วยว่า การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการนี้มีเหตุผลจากอะไร จะสามารถเชื่อมต่อกับปริมณฑลอย่างไร และจะเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนต่างๆ อาทิ รถเมล์ หรือการเดินทางทางน้ำ ได้อย่างไร ทุกอย่างต้องอยู่ในแผนระยะ 20 ปี โดยทุกๆ 5 ปี ก็จะมาดูอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้แล้วมีเหตุผลก็สามารถปรับเปลี่ยนได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ การเข้าใช้พื้นที่สำหรับดำเนินการก่อสร้าง จะเห็นว่าขณะนี้มีหลายเส้นทางที่ติดปัญหาการใช้ที่ดินของเอกชน ส่วนมากเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดิน เพราะเมื่อประกาศพื้นที่ที่จะต้องก่อสร้าง ราคาที่ดินก็ปรับตัวสูงตามถึง 5-10 เท่า รัฐบาลจึงต้องดำเนินการหาวิธีที่เหมาะสมว่า จะทำอย่างไร ถ้าต้องจ่ายค่าเวนคืนทั้งหมดจะเป็นไปได้หรือไม่ อาจจะต้องหาวิธีตอบแทนประชาชนเหล่านี้ในด้านอื่นๆ หรือการแบ่งปันผลประโยชน์ ก็ขอมอบเป็นนโยบายให้กระทรวงคมนาคมไปคิดหาวิธีจัดการมาด้วยในทุกเส้นทาง และต้องเป็นแผนระยะยาว เพื่อรองรับโครงการใหม่ๆ ในอนาคตด้วย

ด้านนายอาคมกล่าวว่า ปัญหาการเวนคืนที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงนั้น มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว โดยรูปแบบมี 2 แบบ คือ การไปซื้อที่ดินต่อจากเอกชนและการเวนคืนแล้วจ่ายค่าเวนคืนให้ตามราคาตลาด ซึ่งเรื่องของราคาที่ดินก็ต้องดูตามราคาตลาดก่อน เพราะส่วนมากที่มักจะมีปัญหาเกิดจากการที่มีบางรายเรียกร้องค่าเวนคืนในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งทางกระทรวงเองก็ไม่มีประเด็นโต้แย้ง แต่ขอให้แสดงหลักฐานการซื้อขายที่ดินให้ชัดเจนว่า มีการขายจริง มีหลักฐานจากกรมที่ดินแสดง เพราะบางทีปัญหาเกิดจากการเปลี่ยนมือกันเองของเจ้าของที่กับผู้ซื้อขาย เราก็ยึดราคาของทางการเป็นหลัก

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างของทั้ง 2 สาย ดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cross ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีระยะเวลาลงทุน 33 ปี 3 เดือน (ก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และ บริหารเดินรถ-ซ่อมบำรุง 30 ปี) ภาครัฐลงทุนในส่วนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนในงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและการจัดหาขบวนรถ งานจ้างที่ปรึกษาโครงการ และงานบริหารรถและซ่อมบำรุง โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงของโครงการ โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นผู้ร่วมลงทุน มีระยะทางรวม 34.5 กม. มี 20 สถานี มีความก้าวหน้าในการก่อสร้าง 3.1% (ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2561) จากแผนงาน 3.54% ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) มีระยะทางรวม 30.4 กม. มี 23 สถานี มีความก้าวหน้าในการก่อสร้าง 2.8% (ณ สิ้นเดือน ก.ค.) เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ที่ 2.2% โดยทั้ง 2 โครงการเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 และได้กำหนดให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายรองรับระบบบัตรแมงมุมไว้ด้วย โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2564 จากนั้นจะมีการทดสอบระบบประมาณ 3 เดือน และจะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2565

ขณะที่ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดที่จะต้องมีการเวนคืนเพิ่มเติมจะอยู่ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นหลัก โดยจะเป็นจุดที่กรมทางหลวงขอให้ทางโครงการขยายเขตทาง โดยเฉพาะจุดที่เป็นทางร่วมและทางแยก โดยจุดหลักๆ จะมีอยู่ที่ 1.บริเวณแยกวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขนตัดกับ ม.ราชภัฎพระนคร และ 2.แยกติวานนท์ เพื่อให้ช่องจราจรที่รอเลี้ยวขวาตามทางแยกต่างๆ สามารถเลี้ยวได้ตามเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบและด้วยข้อกำหนดของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้มีการทำประชาพิจารณ์ในการเปลี่ยนแปลงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย ซึ่งก็ต้องขออนุมัติงบประมาณเวนคืนจากรัฐบาลเพิ่มเติม เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฏในกรอบงบประมาณดำเนินการของโครงการ แต่จะไม่กระทบกับกรอบเวลาก่อสร้างที่ดำเนินการไว้ เพราะกรมทางหลวงได้ให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างไปก่อนแล้ว

ส่วนค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย ค่าแรกเข้าจะจ่ายเพียงครั้งเดียว เหมือนกรณีของสายสีม่วงเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน โดย รฟม.จะเป็นผู้รับภาระค่าแรกเข้า มีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 14-42 บาท

ขณะที่ประเด็นส่วนต่อขยายของทั้งสองเส้นทางนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้นโยบายว่า ขอให้สายหลักของทั้งสองสายสร้างเสร็จก่อน เพราะส่วนต่อขยายทั้ง 2 โครงการจะต้องนำไปเข้ากระบวนการบรรจุในแผนแม่บท (M-MAP) โดยมีคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร .)พิจารณา จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการทำ PPP ต่อไป ซึ่งขณะนี้สายสีเหลืองได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. แล้ว และนำเรื่องส่งให้กระทรวงคมนาคมรับทราบแล้ว ส่วนสายสีชมพูจะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด รฟม. ในปลายเดือนนี้