เมกะโปรเจ็กต์ดันอุตสาหกรรมก่อสร้างบูม บิ๊กรับเหมา-แบงก์-วัสดุมั่นใจสิ้นปีรัฐเทกระจาดประมูล

เสร็จปีหน้า - ภาพความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เชื่อมการเดินทางจากใจกลางเมืองไปยังชานเมืองของจ.ปทุมธานี ซึ่งผู้รับเหมากำลังเร่งงานก่อสร้างให้เสร็จตามแผนงานในปี 2562 พร้อมเปิดบริการภายในปี 2563

บิ๊กรับเหมา แบงก์ วัสดุก่อสร้างมั่นใจปีนี้ธุรกิจก่อสร้างยังสดใส รัฐดันโครงการใหญ่ลงทุนล้นหลาม 2.5 ล้านล้าน “ช.การช่าง” เชื่อดันตลาดโต 7% วินวินทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก ส่วนฤทธาขอกินส่วนแบ่งงานเอกชน เผยมี 3 ปัจจัยเสี่ยง SCB คาดงานราชการโตพุ่ง ปูนใหญ่ชี้ปีหน้า 4 โปรเจ็กต์ยักษ์เซ็นก่อสร้างรถไฟฟ้า ไฮสปีด ท่าเรือ ทางด่วน ดันธุรกิจโตยาวปีละ 8-12%

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปีนี้ถือว่าโชคดีกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ออกมาประมูลอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะยังมีงานก่อสร้างออกมาอยู่เรื่อย ๆ ขณะที่งานภาคเอกชนคิดว่าการเติบโตจะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจนขึ้นในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม งานของภาครัฐยังเป็นคีย์หลักสำคัญที่มีผลต่อวงการรับเหมาก่อสร้างโดยรวมอยู่

คาดปีนี้งานก่อสร้างโต 7%

ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีการปรับคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในอัตราสูงขึ้นทุกปี อย่างปีนี้ก็คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 4% โดยมีเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งด้วย แม้ว่าปีที่แล้วในส่วนของงานก่อสร้างภาครัฐจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ปีนี้คาดว่างานก่อสร้างของภาครัฐจะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 7% ขณะที่งานลงทุนของภาคเอกชนจะอยู่ที่ 3-4% มองโดยรวมก็ถือว่าเติบโตไปในทางที่ดีทั้ง 2 ด้าน

“ช.การช่างยังมั่นใจว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีโครงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือการสร้างเมืองใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ ทยอยออกมาเรื่อย ๆ ทำให้ยังมีงานรองรับได้อีกระยะหนึ่ง เพราะประเทศเราถือว่ายังเป็นทำเลทองของการลงทุนอยู่ และการลงทุนของภาครัฐเองก็ถือว่ามาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมแก่การลงทุนด้วย วงการรับเหมาก่อสร้างก็น่าจะยังเติบโตได้ดี” นางสาวสุภามาสกล่าวและว่า

กระจายงานถ้วนหน้า

โครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ ใช่ว่าจะเป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่อย่างเดียว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กก็มีโอกาสเช่นกัน เพราะบางเนื้องานผู้รับเหมาขนาดกลางและขนาดเล็กก็สามารถลงมารับงานไปทำได้อยู่ เป็นการกระจายงานและรายได้ออกไปในทางหนึ่ง เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะ win-win

ขณะที่โอกาสในประเทศเพื่อนบ้านยังอีกมาก อย่างกลุ่มประเทศ CLMV ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนใหญ่ยังต้องการโครงการลงทุนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กอีกมากมาย แถมผู้รับเหมาในประเทศของเราก็มีศักยภาพความรู้ด้านวิศวกรรมสูง อีกทั้งหลายคนก็เป็นพาร์ตเนอร์กับหลายประเทศอยู่แล้ว จึงมองว่าผู้รับเหมาของประเทศไทยน่าจะมีภาษีที่ดีกว่าหลายประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันกับเราในการไปรับงานจากกลุ่มประเทศ CLMV

เร่งเดินหน้า – รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ขณะนี้กำลังเปิดหน้าดินขุดอุโมงค์และสร้างโครงสร้างทางยกระดับ ล่าสุดงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 16%

แนะปรับตัวรับเทรนด์โลก

ในอนาคตผู้รับเหมาก็ต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสโลกด้วยเช่นกัน แม้ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะไม่ถูก disruption รุนแรงแบบธุรกิจอื่นก็ตาม โดยเทรนด์สำคัญที่จะต้องปรับตัว คือ 1.ผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการที่มากขึ้น คือ ไม่ได้ต้องการแค่ “บ้าน” ที่เป็นที่อยู่อาศัย แต่ต้องตอบโจทย์ความเป็น “smart living” มากขึ้น

2.ผู้บริโภคจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โจทย์สำคัญจะก่อสร้างอย่างไรให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งจะมาพร้อมกับการเรียกร้องความรับผิดชอบที่มากขึ้นของผู้รับเหมาตามมาในอนาคตด้วย ทั้งหมดนี้อย่ามองเป็นอุปสรรค แต่ให้มองเป็นโอกาสที่ต้องปรับตัว

3 ตัวแปรกระทบรับเหมา

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา ประธานกรรมการ บริษัท ฤทธา จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับ ช.การช่างที่ประเมินภาพรวมงานก่อสร้างภายในประเทศตอนนี้มีเป็นจำนวนมาก ผู้รับเหมาไม่ต้องกลัวตกงาน เพียงแต่ต้องระวังตัวแปรบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ตอนนี้อะไรหลาย ๆ อย่างใช้ของต่างประเทศทั้งหมด ทั้งแรงงานจากพม่าและกัมพูชาและพลังงานไฟฟ้าจากลาว เป็นต้น

“เรายืมจมูกประเทศเพื่อนบ้านหายใจแทบทั้งหมด ถ้าอีกหน่อยประเทศในแถบ CLMV มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็กลับไปประเทศของตัวเองหมด แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะคนในบ้านเราก็ไม่ทำเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงานจึงสำคัญมาก”

อีกเรื่องสำคัญ คือ ระยะนี้แถบประเทศภูมิภาคของไทยเจอภัยธรรมชาติบ่อยมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้รับเหมาควรคิดถึงการประกันภัยในกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย และอีกตัวแปรที่สำคัญคือ ทิศทางของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาได้เห็นแล้วว่าอะไรที่ไม่ควรจะเกิดก็เกิด อะไรที่ควรจะเกิดก็ดันไม่เกิด ดังนั้น ทิศทางของภาครัฐจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เชื่อว่าผู้รับเหมาของเราได้เตรียมพร้อมด้านการบริหารงาน บริหารคน และบริหารเงินไว้แล้ว

ติดกับดักราคาต่ำ

นายสุวัฒน์กล่าวต่อว่า ทิศทางของฤทธายังคงเน้นลงทุนในงานของเอกชนเป็นหลัก แม้ว่างานของภาครัฐจะทยอยออกมาต่อเนื่องก็ตาม เพราะมองว่าภาครัฐมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะให้ผู้ประมูลที่เสนอราคา “ต่ำสุด” เป็นผู้ชนะอยู่บ่อยครั้งโดยไม่สนใจปัจจัยอื่น ๆ ทำให้มีหลายโครงการของภาครัฐที่สร้างเสร็จแล้วประสบปัญหาชำรุด

“ราคาก่อสร้างฤทธาย้ำเสมอว่า ราคาก่อสร้างของเราสามารถแจกแจงเหตุผลได้ ทำไมจึงกำหนดราคานี้ หากเปรียบเสมือนนาฬิกา ถ้าคนอื่นเขาเป็น SEIKO กัน เราขอเป็น ROLEX ที่แม้ราคาจะแพงแต่เรามีคุณภาพจริงและเชื่อถือได้ดีกว่า เพราะถือว่างานของเราเป็นงานบริการ ทุกอย่างต้องดีที่สุด”

รัฐโหมลงทุนโต 11%

นายสุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโสประจำศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยปีนี้เติบโตอยู่ที่ 8% ของ GDP ซึ่งถือว่ายังคงที่ โดยมองได้ 2 ส่วน ได้แก่ 1.งานภาครัฐ ถือว่ามีการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยในปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 750,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2562 เม็ดเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 815,000 ล้านบาท คิดเป็น 11%

ส่วนงานก่อสร้างทั่วไปของรัฐจะเกี่ยวข้องกับ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท และกรมโยธาธิการและผังเมือง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะที่กรมทางหลวงมีอัตราเติบโต 15% และกรมทางหลวงชนบทมีอัตราเติบโต 23%

ดึงเงินเมกะโปรเจ็กต์เข้าระบบ

ส่วนโครงการเมกะโปรเจ็กต์นั้นเม็ดเงินลงทุนเริ่มเข้ามาเติมเรื่อย ๆ มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เงินลงทุนรวม 59,000 ล้านบาท

2.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เงินลงทุนรวม 110,000 ล้านบาท 3.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เงินลงทุนรวม 57,000 ล้านบาท 4.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เงินลงทุนรวม 55,000 ล้านบาท 5.รถไฟทางคู่เฟส 1 จำนวน 5 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 140,000 ล้านบาท และ 6.มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี เงินลงทุนรวม 57,000 ล้านบาท

โครงการใหม่ที่น่าจับตาเป็นระบบรางทั้งหมด ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุนรวม 225,000 ล้านบาท 2.รถไฟทางคู่เฟส 2 เงินลงทุนรวม 440,000 ล้านบาท และ 3.รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายต่าง ๆ เงินลงทุนรวม 300,000 ล้านบาท เชื่อว่าเม็ดเงินจะทยอยลงมาเรื่อย ๆ เพราะโครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าต่อเนื่อง

ด้านภาคเอกชนการลงทุนแบ่งได้ 3 แบบ คือ 1.ที่อยู่อาศัย 2.พาณิชยกรรม 3.อื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม มีอัตราเติบโตแต่น้อยกว่ารัฐ ในปี 2561 มีเม็ดเงินลงทุนรวม 540,000 ล้านบาท และในปี 2562 จะขึ้นมาเป็น 560,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.5%

SCG ชี้รับอานิสงส์ 2.5 ล้านล้าน

นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ การขายและช่องทางการจัดจำหน่าย ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในประเทศ CLMV มีแนวโน้มการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเติบโตต่อเนื่องในระดับ 5-6% เฉลี่ยโตเกือบเท่า GDP ของประเทศ

ส่งผลให้อัตราการเติบโตของการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเหล่านี้เติบโตตามไปด้วย เช่น อินโดนีเซียมีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ที่ 70 ล้านตันต่อปี เวียดนามอยู่ที่ 65 ล้านตัน ขณะที่ไทยมีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์รวม 39 ล้านตัน ซึ่งไทยมีการผลิตรวม 60 ล้านตัน ถือว่าเหลือเฟือและไม่เกิดปัญหาปูนขาดแคลนในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

ปีหน้าเซ็น 4 โปรเจ็กต์ยักษ์

เมื่อมองภาพรวมในประเทศ พบว่าสัดส่วนของงานรัฐและเอกชนแบ่งได้ 53:47 ตามลำดับ โดยงานของภาครัฐแบ่งได้อีก 2 ส่วน คือ งานโครงสร้างพื้นฐาน 80% และอีก 20% เป็นงานอื่น ๆ โดยเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐมีมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านบาท คาดว่าในไตรมาส 1 ปี 2562 จะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างอีก 4 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง เชื่อว่าจากนี้ไปจะเติบโตเฉลี่ย 8-12% ต่อปี

ขณะที่ภาคเอกชนโครงการที่น่าจับตามอง คือ โครงการพัฒนามิกซ์ยูส เมื่อรวมมูลค่าทุกโครงการอยู่ที่ประมาณ 620,000 ล้านบาท แต่โครงการที่เป็นไฮไลต์และน่าจับตามองมี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการไอคอนสยาม ของกลุ่ม ซี.พี. และสยามพิวรรธน์ ที่มีกำหนดเปิดให้บริการบางส่วนในช่วงสิ้นปีนี้

และ 2.โครงการ One Bangkok ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง สำหรับอัตราการเติบโตของภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 4-8% ต่อปี