เปิดพิมพ์เขียวพัฒนาสนามบินภูมิภาคลุย25โครงการ34,507ล้าน ดึงเอกชนร่วมPPP “บิ๊กตู่”เร่งโอน4แห่งให้ทอท.บริหาร

ทย.เปิดแผนพัฒนาสนามบิน 20 ปี ลุยเฟสแรก 10 ปี 25 โครงการทั่วทุกภาค เล็งดึง 4 โครงการลง PPP เพื่อประหยัดงบ ด้านบิ๊กตู่สั่งการเร่งโอน 4 สนามบินให้ ทอท.

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมท่าอากาศยาน (ทช.) นำเสนอแผนการพัฒนาระยะ 20 ปี (2561-2580) ของท่าอากาศยานทั้ง 29 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรม และอีก 1 แห่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ คือท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา จากตามแผนนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 2580 จะอยู่ที่ 50 ล้านคน/ปี จากปี 2561 ที่มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 19.5 ล้านคน และคาดว่าในปี 2580 จะมีจำนวนเที่ยวบิน 55,000 เที่ยวบิน/วัน จากปี 2561 ที่มีเที่ยวบินอยู่ที่ 21,480 เที่ยวบิน/วัน

สำหรับแผนนี้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 10 ปีแรก (2561-2570) และช่วง 10 ปีหลัง (2571-2580) ช่วง 10 ปีแรกนั้นได้จัดสรรงบประมาณลงทุนรวม 34,507 ล้านบาท ส่วนช่วง 10 ปีหลัง ทย.อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ช่วง 10 ปีแรกนั้นได้รับจัดสรรงบประมาณลงทุนรวม 34,507 ล้านบาท แบ่งเป็นพัฒนาในช่วงระยะที่ 1(2561-2565) จำนวน 27,248 ล้านบาท ปรับปรุงท่าอากาศยาน 17 โครงการ ได้เแก่ 1. ภาคเหนือ 2,529 ล้านบาท (ลำปาง, แพร่, แม่สอด จ.ตาก) 2. ภาคอีสาน 4,692 ล้านบาท (เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, บุรีรัมย์) และ 3. ภาคใต้ 20,027 ล้านบาท (อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, นราธิวาส และเบตง จ.ยะลา)

และระยะที่ 2 (2566-2570) จำนวน 7,259 ล้านบาท ปรับปรุงท่าอากาศยาน 8 โครงการ ได้แก่ ภาคเหนือ 732 ล้านบาท (ปาย,แพร่) , ภาคอีสาน 5,158 ล้านบาท (สกลนคร, เลย, อุดรธานี, อุบลราชธานี,ร้อยเอ็ด) และภาคใต้ 1,369 ล้านบาท (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช)

ส่วนแนวคิดที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ (PPP) เบื้องต้น ทย.กำลังเลือก 3-4 สนามบิน เพื่อดำเนินการอยู่ ซึ่งเมื่อถูกเลือกแล้ว จะถูกแยกออกมาจาก 28 แห่งที่จะมีแผนลงทุนตามข้างต้นทันที เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ

ขณะที่ความคืบหน้าการโอนท่าอากาศยาน 4 แห่งของ ทย.ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ไปดูแล ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพรนั้น กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอยู่ และเมื่อการประชุม ครม.สัญจรจ.ระนอง-ชุมพร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้เร่งดำเนินการ โดยทางกระทรวงกำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการถ่ายโอนทั้ง 4 สนามบินอยู่ ก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะจะมีเรื่องการถ่ายโอนสินทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังด้วย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จริงๆ แล้วในวันประชุมครมสัญจรที่ จ.ระนอง-ชุมพร นั้น ที่ประชุมไม่ได้มีมติในประเด็นดังกล่าว เพียงแต่ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้เร่งดำเนินการเท่านั้น โดยให้เร่งตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนตามขั้นตอน แต่วิธีดำเนินการมีอีกเยอะ แถมแผนพัฒนาที่ ทอท.ส่งมาประกอบก็ยังไม่ชัดเจนว่าต้องมีข้อผูกมัดอะไรกับรัฐบ้าง ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ทอท.จะต้องมีข้อผูกมัดกับรัฐ

ส่วนโครงการที่ ทย. สนใจจะนำมาลงทุนแบบ PPP มี 4 สนามบิน ได้แก่ เพชรบูรณ์, นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และหัวหิน ขณะนี้ได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เมื่อกระทรวงพิจารณาแล้วมีนโยบายให้ ทย.ไปทำ ก็จะดำเนินการศึกษาในรายละเอียดของโครงการต่อไป