42 โปรเจ็กต์รับเลือกตั้ง ปีหน้ากดปุ่มพรึ่บ ชะลอไฮสปีด “กทม.-หัวหิน”

โค้งสุดท้ายของปี 2561 ยังมีโครงการขนาดใหญ่ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงคมนาคม ที่บรรจุเป็นแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2561 จำนวน 44 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จร่วม 30 โครงการ

ล่าสุด “สนข.-สำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กำลังดันเป็นแผนการลงทุนเร่งด่วนปี 2562 เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือน ธ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ สนข.กำลังคัดเลือกโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 จัดทำเป็นโครงการเร่งด่วน 2562 ผลักดันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความต่อเนื่อง ในเบื้องต้นมี 42 โครงการ มูลค่าการลงทุนไม่ถึง 2 ล้านล้าน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท จะยังไม่นำโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงินลงทุน 94,673 ล้านบาท มาบรรจุไว้ในแผน เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะศึกษาต่อขยายเส้นทางไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งโครงการยังไม่ตรงเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นโครงการมีความพร้อมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการ PPP อนุมัติ

สำหรับ 42 โครงการที่กำหนดไว้ในเบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการเก่าที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และมีโครงการใหม่บางส่วน โดยเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และมีความพร้อมนำเสนอให้หน่วยงานกลางพิจารณาได้ เช่น คณะกรรมการ PPP สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

“โครงการที่บรรจุในแผนเร่งด่วนปี 2562 มีเป้าหมายจะต้องเสนอให้บอร์ด PPP และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ได้ เพื่อนำไปสู่การประมูลและเริ่มก่อสร้างได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับ 42 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่ผลักดันต่อเนื่องปี 2559-2561 ประมาณ 30 โครงการ อาทิ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม, มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ, มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน, ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต, จัดซื้อรถโดยสารดีเซล-ไฮบริด จำนวน 1,452 คัน และรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 35 คัน

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม

รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง, รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้า จ.ภูเก็ต, รถไฟฟ้า จ.นครราชสีมาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3, โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา

ส่วนโครงการใหม่ 12 โครงการ อาทิ โครงการที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด, สายบางใหญ่-กาญจนบุรี, สายบางปะอิน-นครราชสีมา, โครงการศูนย์บริการทางหลวง ศรีราชา จ.ชลบุรี, โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า เชื่อมเมืองรอง จ.ชุมพร-สงขลา, ส่วนต่อขยายทางด่วนบางนา-ชลบุรี เชื่อมต่อกับทางเลี่ยงเมืองชลบุรี

โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอรี่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือท่าเตียน, โครงการพัฒนาปรับปรุงสนามบิน จ.ตรัง และนครราชสีมา, โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 และสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!