นิวลุก กคช. ดร.ธัชพล กาญจนกูล 2562 Year of Innovation and Quality

สัมภาษณ์

2 ปีบนเก้าอี้ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) “ดร.ออด-ธัชพล กาญจนกูล” ผู้บริหารสูงสุด ดีกรีอดีตรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินซึ่งได้สั่งสมประสบการณ์ในฐานะนายแบงก์มาใช้กับการพัฒนาองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางเป็นหลัก

ปี 2562 ก้าวสู่ปีที่สามในการเป็นผู้นำองค์กร โดยเทอมการบริหารงาน 4 ปี มีจุดเน้นอยู่ที่การปรับภาพลักษณ์การเคหะฯ สู่เวอร์ชั่นใหม่ ภายใต้ธีมคอนเซ็ปต์ “Year of Innovation and Quality”

Q : สรุปผลงาน 2 ปีที่ผ่านมา

2 ปีที่ผ่านมา ทำงานสำเร็จตามที่รับมอบจากนโยบายรัฐหลายเรื่อง เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ กคช.เป็นองค์กรหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน และเมือง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย

Advertisment

ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน พัฒนาที่อยู่อาศัย, คุณภาพชีวิต, เพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการซื้อบ้านได้ เราส่งโพสต์ไฟแนนซ์ (สินเชื่อลูกค้ารายย่อย) ให้กับแบงก์, สิ่งที่จะทำมากขึ้นคือเพิ่มพอร์ตเช่าซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ มีเครื่องมือใหม่ “กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย” ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ไฮไลต์ปี 2561 นี้เน้นเรื่องธรรมาภิบาล ตัวชี้วัดออกมาสูงมากอยู่ในเกณฑ์ 85 กลยุทธ์การบริหารองค์กรใช้โมเดล CIVIL-change agent, integration, value chain, innovation, leadership

กลยุทธ์ change agent ปรับไมนด์เซตคนการเคหะฯ พัฒนาบุคลากรตามความสามารถ ปลูกสร้างจิตสำนึกในการให้บริการ อย่างงานซ่อม เมื่อลูกค้าซื้อ-กู้-โอนหมดแล้วแต่เข้าอยู่ไม่ได้ เพราะต้องตรวจรับมอบบ้านก่อน กระบวนการตรงนี้เดิมใช้เวลา 3 เดือน ก็ปรับเร็วขึ้นเหลือ 1 เดือนเศษ และเปลี่ยนทัศนคติพันธมิตร เช่น หน่วยงานท้องถิ่นที่ต้องดูแลสาธารณูปโภค ชุมชน เพราะรับโอนสาธารณูปโภคไปแล้วต้องดูแลต่อ

กลยุทธ์ integration บูรณาการร่วมหน่วยงานอื่น เป็นการร่วมกันทำทั้งภายในกับภายนอกองค์กร งานของการเคหะฯ แค่ก่อสร้างเรื่องเดียวต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงการคลัง สำนักงบฯ ฯลฯ ในอดีตงานโครงการเราติดขัดไม่เดินหน้าเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาการประสานกับหน่วยงานอื่น

Advertisment

กลยุทธ์ value chain เพิ่มแวลูให้กับงาน ในภาพใหญ่ภารกิจการเคหะฯ ดูเหมือนเป็นเรื่องการก่อสร้าง เดิมแวลูคือสร้างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีมิติอื่นเพิ่มเติม เพราะต้องนำเสนอคุณภาพที่อยู่อาศัยควบคู่คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต คุณภาพชุมชน ล่าสุด เติมมิติเศรษฐกิจเข้าไปด้วย ซึ่งหลังจากเข้าไปดูแลชุมชนทำให้ปัจจุบันเรามีดัชนีเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้นมา

กลยุทธ์ innovation อยู่ในทิศทางปี 2562 มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่นำมาทำใหม่ในองค์กร ตั้งศูนย์นวัตกรรม ห้วยขวาง แล้วเสร็จปีใหม่ รูปแบบ smart office นำระบบดิจิทัล ระบบออนไลน์มาใช้มากขึ้น

ส่วนประกอบนอกจากสมาร์ทออฟฟิศ ยังมีศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสขายโครงการครบวงจร ลูกค้าสนใจสามารถจองซื้อได้เลย ถ้ามีบิ๊กลอตเรามีบริการติดต่อแบงก์ (ออมสิน) มาได้เลย เช่น อยู่กรุงเทพฯ แล้วสนใจซื้อทำเลเชียงใหม่สามารถปิดการขายได้เลย

ร้านกาแฟตอนนี้ปรับเป็น digital mart ร้านกาแฟชุมชน ถ้าเราไม่ทำก็จะมีแต่ร้านเซเว่นฯ (ร้านสะดวกซื้อ) แต่เป็นเชิงพาณิชย์ ผลประโยชน์ไม่ได้กับชุมชน แนวคิดคือต้องการขายของให้ชุมชน ต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเป็นคนขาย สมาชิกก็ชุมชน สินค้าอุปโภคบริโภคขายราคาถูก ติดต่อจากกระทรวงพาณิชย์หรือซัพพลายเออร์เงื่อนไข ถ้ากำไรกี่เปอร์เซ็นต์ไม่รู้อาจจะ 5-10% ในช่วงสิ้นปีต้องสะท้อนกลับมา เช่น ให้เป็นทุนการศึกษา, ส่วนลด, ปันผล, แกร็บชุมชน (วิ่งส่งของ) ซึ่งสามารถทำได้ไม่ต้องพึ่งร้านสะดวกซื้อจากนอกชุมชนเลย โมเดลนี้กำลังจะทดสอบที่ห้วยขวาง ดินแดง กับเลือกอีก 2-3 ชุมชน

สุดท้าย กลยุทธ์ leadership ท่านรัฐมนตรีฝากไว้ต้องมีคำนี้ เดิมกระทรวง พม.ชื่อเต็มกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชื่อเป็นงานทางสังคมแต่ไม่มีใครจำได้ เพราะเราไม่มีลีดเดอร์ชิปแต่ภารกิจตามไปแก้ปัญหา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว

ผมเสนอและหลายคนเสนอตรงกันเราต้องเป็นคนกำหนดนโยบาย เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเราไม่ได้กำหนด แต่คลังทำเพราะเงินอยู่กับเขา ท่านรัฐมนตรี พม.ฝากว่าแนวคิดอะไรเรานำได้เราต้องเป็นคนทำ เรื่องของดัชนีเศรษฐกิจชุมชนเราก็เป็นคนทำ เพื่อสะท้อนภาพความอยู่ดีกินดีของชุมชน

อย่างน้อยที่สุด กิจการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับครอบครัว เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ทำยังไงให้คนคิดถึง พม.ก่อนเป็นลำดับแรก ต่อไปจะได้เห็น พม.จะมีตัวกำหนดนโยบายที่เรียกว่า “สำนักงานนโยบายด้านสังคม” ขั้นตอนกำลังบรรจุเป็นแผนของกระทรวง

Q : มีปรับโครงสร้างการทำงาน

อยู่ในแผน 5 RE อันดับแรกเลยคือ recorporate (ที่เหลือมี rebrand, reassets, reliability, reequity) ผมทำแบบเดียวกับแบงก์ มีระบบเช็กแอนด์บาลานซ์ จัดระเบียบภารกิจและความรับผิดชอบใหม่ เช่น เขตมอบหมายให้ดูเรื่องสินเชื่อเพิ่ม ถ้าค้างชำระต้องดูเรื่องการติดตามหนี้

อีกเรื่องคือด้านสิ่งแวดล้อม ปีที่แล้วมีปัญหาเยอะมาก ยื่นเรื่อง สผ. (สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ไม่ออกมาเลย ผมไปพบอธิบดีถามปัญหา

ทราบว่า ที่ผ่านมาการเคหะฯ มีหน่วยงานก่อสร้างเยอะ แต่ละหน่วยก็ทำสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ผมยุบรวมให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมมาอยู่ฝ่ายเดียวกัน มีแววงานจะเร็ว และให้แก้ปัญหาโครงการเอื้ออาทรด้วย ปัญหาก่อสร้าง-การเงิน-การตลาด ซึ่งปัญหาก่อสร้างคือสร้างไม่เสร็จหรือสร้างค้าง ยุคแรก ๆ ปี 2550 สร้างไม่เสร็จ เพราะไม่มีดีมานด์ เรายุบรวมเป็นแพ็ก 1-แพ็ก 2

ต่อมาติดปัญหาอีก เดิมไม่ต้องเข้าอีไอเอ แต่พอโครงการชะงักเปลี่ยนรูปแบบ-เปลี่ยนชื่อ-จำนวนหน่วย ปรากฏว่าทำต่อไม่ได้เลย เพราะถ้าเข้า สผ.แล้วมีการเปลี่ยนรูปแบบ จะรันต่อไม่ได้เลย โครงการบ้านเอื้อฯ ก็เลยติด กำลังจะเข้าไปคุยกับกระทรวงขอเจรจาว่าใบอนุญาต “สผ.4” อันไหนเคยผ่านแล้วก็ขอให้ทำโครงการต่อจนจบ

ในส่วนปัญหาการตลาดมีทั้งทำเลที่ตั้งไม่ดี โครงการเก่าแล้ว เรากำลังแก้ไขและมั่นใจว่ากำลังจะดีขึ้น อีกเรื่องหนึ่งคือคอนโดฯ 5 ชั้น มีปัญหาชั้นบนขายไม่ออกเพราะเดิมไม่มีลิฟต์ ค่าลิฟต์ไม่แพงแต่บำรุงรักษาก็แพง ปัจจุบันต้องปรับรูปแบบ ลูกบ้านต้องยอมรับเรื่องค่าส่วนกลาง ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกมาก ๆ 250 บาทเอง ต้องรณรงค์เรื่องค่าส่วนกลางด้วย

ผมเรียนว่าข้อเด่นของบ้านการเคหะฯ คือ ราคาถูกเพราะมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหน่วยละ 1.2 แสนบาท ที่อื่น (โครงการเอกชน) ไม่มี ใครซื้อบ้านเรากำไรตั้งแต่วันแรกเลย (ยิ้ม)

ปี 2562 จะแก้ปัญหาเอื้ออาทรให้เสร็จ รองนายกฯฉัตรชัย (สาริกัลยะ) ให้เสนอแผนและตามงานละเอียดมาก เหลือเข้าไปปรับสภาพและหากลยุทธ์ที่เหมาะสม

Q : ปี”61 ผลงานโดดเด่นทำกำไร

ดูที่กำไรสุทธิ ปี 2561 ผลดำเนินงานจาก 1,038 ล้าน เพิ่มเป็น 1,713 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 675 ล้านบาท ปกติโบนัส 1 เดือน ปีนี้คาดว่า 1.8 เดือน และปี 2562 คาดว่าถ้ากลยุทธ์ทุกอย่างทำได้ตามที่วางแผนไว้คาดว่าโบนัสเพิ่มเป็น 2.7 เดือน ทุกวันนี้ผมก็ให้กำลังใจผู้บริหารและพนักงานการเคหะฯ ต้องร่วมด้วยช่วยกันผลงานส่วนสำคัญมาจากการรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์หลายเรื่อง มีศูนย์นวัตกรรม ออกโปรดักต์ใหม่ ๆ หน้าตาตอนนี้เหมือนเอกชนเกือบหมดแล้ว ของเดิมบ้านเอื้อฯ มีรั้วโปร่ง ๆ รถเข้า-ออกไม่ได้ ไม่มีอีกแล้ว ล่าสุด ผมเอาแบบบ้านการเคหะฯ ไปให้สถาปนิกดู ตกใจมาก เพราะจอดรถได้ 2 คัน

Q : ผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้น

ต้องยอมรับว่า มีผลต่อการชำระเงินของลูกค้าเหมือนกัน แต่แบงก์จะกระทบเยอะ คณะกรรมการ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25 สตางค์ ครั้งนี้ขึ้นเหมือนส่งสัญญาณ แต่แบงก์ทั่วไปก็ยังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการของการเคหะฯ พอร์ตเช่าซื้อที่เราบริหารเองผมคิดต้นทุนต่อปี หมายความว่า ประกาศดอกเบี้ยออกมาแล้วใช้ทั้งปี ตอนนี้เรตดอกเบี้ยอ้างอิง MRR 6.75% ผมไม่ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่กระทบอยู่แล้ว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!