รัฐโหมลงทุนเพิ่มขีดความสามารถ 6 สนามบินภูธร

สงกรานต์ที่แม่สอด - สนามบินนานาชาติอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ยุทธศาสตร์การค้าชายแดนรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล คสช. กำหนดเปิดบริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562
โหมลงทุนเพิ่มขีดความสามารถสนามบินภูธร ดอนเมือง สุวรรณภูมิ รับท่องเที่ยวโต กรมท่าอากาศยานทุ่ม 7.7 พันล้าน ขยายอาคารผู้โดยสาร ลานจอด นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี เลย ดีเดย์ เม.ย. เปิดใช้เทอร์มินอลใหม่แม่สอด ส่วนวิทยุการบินทุ่ม 3.7 พันล้าน ปักหมุด EEC ผุดหอบังคับการบินอู่ตะเภา

 

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า กรมได้ของบประมาณปี 2563 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน3,820 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ได้แก่ 1.ก่อสร้างทางขับคู่ขนานสนามบินกระบี่ 1,300 ล้านบาท 2.ก่อสร้างลานจอดเครื่องบินสนามบินขอนแก่น เพิ่มการรองรับเครื่องบินจาก 5 เป็น 11 ลำ และสุราษฎร์ธานี รองรับเครื่องบินจาก 5 เป็น 8 ลำ เงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท 3.ซื้อรถดับเพลิง 6 คัน สำหรับสนามบินกระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี วงเงิน 600 ล้านบาท เทอร์มินอลใหม่เมืองคอน-ตรัง

4.ขยายอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุราษฎร์ธานีรองรับผู้โดยสารจาก 800 คน/ชม. เป็น 1,400 คน/ชม. เงินลงทุน 200 ล้านบาท และ 5.สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินเลย 720 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารจากเดิม 300 คน/ชม. เป็น 600 คน/ชม. แต่ละโครงการจะผูกพันงบประมาณ 3 ปี (2563-2565) ยกเว้นซื้อรถดับเพลิงที่จะผูกพัน 2 ปี (2563-2564)

สำหรับในปี 2562 มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารจากเดิม 450 คน/ชม. เป็น 1,600 คน/ชม. อยู่ระหว่างการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) และ 2.พัฒนาสนามบินตรัง 2,100 ล้านบาท แบ่งเป็นสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 1,200 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารจากเดิม 600 คน/ชม. เป็น 1,200 คน/ชม. และสร้างลานจอดเครื่องบิน 900 ล้านบาท

สงกรานด์อวดโฉมแม่สอด

นางอัมพวันกล่าวถึงความคืบหน้าอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินแม่สอด จ.ตาก ขณะนี้เสร็จแล้ว จะเปิดบริการในเดือน เม.ย.นี้ รองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังเก่าจะปิดให้บริการทันที ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร เริ่มทดลองที่แม่สอดก่อน 1,000 ตร.ม. ยังมีดีมานด์น้อย เพราะสนามบินอยู่ใกล้ตัวเมืองทำให้เอกชนไม่สนใจที่จะเข้าร่วม มีร้านค้า 2 แบรนด์ คือ ร้านกาแฟมวลชน และร้านกาแฟและอาหาร แบล็ค แคนยอน ส่วนพื้นที่ศูนย์อาหารภายในอาคารผู้โดยสารยังไม่มีผู้สนใจร่วมประมูล อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาใหม่ด้านการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่อุบลราชธานี 2,000 ตร.ม. เนื่องจากการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารยังไม่เสร็จ จะเลื่อนจากเดือน ก.พ.นี้ไปอีก 2-3 เดือน ส่วนท่าอากาศยานอื่น ๆ ยังไม่มีแผน

สร้างหอบังคับการบินอู่ตะเภา

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า บวท.ได้เตรียมงบประมาณการก่อสร้างหอบังคับการบินและติดตั้งระบบที่เกี่ยวข้องภายในสนามบินอู่ตะเภาไว้ 3,700 ล้านบาท รอให้กองทัพเรือ ในฐานะเจ้าของโครงการทำหนังสือแจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบ บวท.ให้ดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ

ขณะที่แผนลงทุนปีนี้ จะเปลี่ยนระบบและอุปกรณ์ในสนามบินต่าง ๆ ทั่วประเทศ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่สุวรรณภูมิ จะเปลี่ยนเครื่องช่วยการเดินอากาศ 4 ตัว วงเงิน 1,200 ล้านบาท และรอความชัดเจนตำแหน่งอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 จะต้องสร้างหอบังคับการบินหรือไม่ หากขยับออกไปด้านใต้มาก อาจจะต้องสร้างหอบังคับการบินเพิ่ม 1 จุด เช่นเดียวกันกับที่สนามบินดอนเมือง จะเปลี่ยนเครื่อง ILS จำนวน 4 ตัวเช่นกัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!