ทุกขลาภ “ซี.พี.” ปักธง “ไฮสปีด” รับเสี่ยง 50 ปี แลกเงื่อนไขพิเศษ

กำลังเป็นที่จับตาไม่แพ้สนามเลือกตั้งที่กำลังร้อนฉ่าสำหรับเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่า 224,544 ล้านบาท

ที่รัฐบาลทหารพยายามแจ้งเกิดหวังจุดพลุการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลัง “กลุ่ม ซี.พี.” ที่เสนอวงเงินให้รัฐสนับสนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ผ่านซอง 3 ลิ่วเข้าสู่การเจราจาในซองที่ 4 มีข้อเสนอที่เป็นไปได้ยากให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพิจารณา

การเจรจาเริ่มต้นเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงนาทีนี้ยังไร้วี่แววจะได้ข้อยุติและมีแนวโน้มจะเป็นหนังม้วนยาวไม่ทันเดดไลน์ที่กำหนดสิ้น ก.พ. เพื่อไปสู่การเซ็นสัญญาเดือน มี.ค.นี้ อย่างที่บิ๊กรัฐบาลตั้งเป้า

จากท่าที “กลุ่ม ซี.พี.” ที่ดูเหมือนยังไม่ยอมลดเงื่อนไขตลอดการเจรจาที่ผ่านมา มีการตั้งคำถาม ทำไม “กลุ่ม ซี.พี.” ที่รู้เต็มอกสารพัดเงื่อนไขที่อยู่นอกทีโออาร์ มติคณะรัฐมนตรีและอำนาจคณะกรรมการจะไม่ได้รับเซย์เยส จึงยังยื้อนำมาเป็นข้อเสนอในวงเจรจาตลอด จนส่งผลให้โครงการจากเร็วกลายเป็นช้า

ขณะเดียวกันเริ่มมีเสียงลือสะพัด หมากกระดานประมูลกำลังกลายเป็นเกมแห่งศึกศักดิ์ศรีระหว่าง “เจ้าสัวซี.พี.” กับ “เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส”

บ้างก็ว่า “กลุ่ม ซี.พี.” กำลังจะทิ้งทุ่นโปรเจ็กต์ 2 แสนล้าน หลังดัมพ์ราคาต่ำเพดาน จนยากที่จะเดินหน้าโครงการให้ไปต่อได้ ในเมื่อสิ่งที่ขอเพิ่มหวังปิดจุดเสี่ยงของโครงการไม่ได้รับการตอบรับ เนื่องจากกลุ่ม ซี.พี.ต้องหาเงินทุนก้อนใหญ่ร่วม ๆ 2 แสนล้านมาก่อสร้างและจ่ายให้รัฐบาลทันทีหลังเซ็นสัญญา ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก

จึงอาจทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้โดยง่าย แต่ที่พยายามเจรจาก็เพื่อหาทางลงที่สวยงามให้สมกับศักดิ์ศรีบริษัทยักษ์ใหญ่แถวหน้าของประเทศไทย ที่สำคัญไม่อยากจะถูกยึดเงินมัดจำ 2,000 ล้านบาท หากเป็นฝ่ายบอกเลิกก่อน

ขณะที่อีกกระแสระบุว่า “กลุ่ม ซี.พี.” ไม่น่าจะถอดใจง่าย ๆ แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดเกลี้ยกล่อมคณะกรรมการให้เห็นพ้องกับเงื่อนไขพิเศษที่เสนอให้สุดทาง แม้จะเจอทางตัน แต่กำลังหาช่องดันไปให้ถึงเส้นชัย

ในเมื่อโปรเจ็กต์นี้ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” หมายมั่นปั้นมือไว้ตั้งแต่ปี 2558 นับแต่ก้าวแรกที่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ หากจำได้ช่วงเวลานั้น “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีดึงเจ้าสัวเมืองไทยลงทุนรถไฟความเร็วสูง เพราะมีเงินทุนจะสร้างโครงการที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล

ฝั่ง “เจ้าสัว ซี.พี.” ก็ออกข่าวเด้งรับนายกฯบิ๊กตู่ว่ามาขอให้ช่วยสร้างรถไฟความเร็วสูง และมีการตั้งทีมงานศึกษาโครงการโดยเฉพาะ จนสุกงอม ผนึกพันธมิตรไทยและต่างชาติเสนอตัวเข้าประมูล

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ต้องรอให้ได้ข้อสรุปก่อน เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐและเอกชนร่วมลงทุนกัน สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวอาจจะไม่มีอยู่เลยในสัญญาก็ได้ ขอยืนยันว่ากลุ่ม ซี.พี.ทำดีที่สุดแล้วเพื่อเป็นประโยชน์ของประเทศ

ขณะที่ผลการเจรจาล่าสุดหลังคณะกรรมการคัดเลือกโครงการมี นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯเป็นประธาน ยุติข้อเสนอซองที่ 4 ที่กลุ่ม ซี.พี.ยื่น 11 ข้อ ที่เป็นกลุ่มยาก โดยรับได้ 3 ข้อ ได้แก่ พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบราง ตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้า พัฒนาโครงการร่วมกับชุมชน ปัดตก 8 ข้อเสนอที่อยู่นอกอำนาจและทีโออาร์

ล่าสุดอนุคณะกรรมการมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน กำลังเจรจาข้อเสนอเพิ่มเติมกลุ่มยากปานกลางและกระทบต่อภาพลักษณ์ของรถไฟที่ “กลุ่ม ซี.พี.” เสนอมากว่า 200 หน้า เพื่อยกร่างเป็นเงื่อนไขในสัญญา

รายงานข่าวแจ้งว่า การเจรจามี 34 ข้อ เจรจาแล้ว 7 ข้อ มีบางประเด็นที่อนุกรรมการพิจารณาแล้วพอจะเป็นไปได้ เช่น ให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น หากโครงการมีปัญหาสร้างไม่เสร็จ, ยังไม่ขอเริ่มงานก่อสร้างหากยังไม่ได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และส่งมอบพื้นที่, เพิ่มกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย, ขอปล่อยเช่าช่วงที่ดินมักกะสัน-ศรีราชาให้ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทลูกพัฒนา, ขอรัฐขยายเพดานเงินกู้ให้กับรายใหญ่ เป็นต้น

ส่วนข้อเสนออื่น ๆ ที่ไม่รับพิจารณาได้ เช่น ขยายเวลาก่อสร้างอีก 6 เดือนจากเดิมแล้วเสร็จ 5 ปี, จ่ายค่าปรับแบบตายตัวจากเดิมเป็นรายวัน, ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรกเมื่อครบสัมปทาน 50 ปี โดยขอขยายอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก, เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่าจะมีผลตอบแทนหรือได้รับส่งมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ในปีที่ 6 เป็นต้นไปพร้อมดอกเบี้ย 3%, ห้ามรัฐอนุมัติโครงการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการทำให้เกิดการแข่งขัน, ปรับรูปแบบบางช่วงจากยกระดับเป็นทางระดับดิน

ส่วนการสร้างส่วนต่อขยายไประยอง ย้ายจุดที่ตั้งสถานีและสร้างสเปอร์ไลน์ ยังไม่ถึงเวลาที่จะนำมาพิจารณาในขณะนี้เพราะเป็นเงื่อนไขที่สามารถขออนุญาตจากการรถไฟฯได้ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่เกี่ยวพันมาจากซองที่ 4 ที่แตกเป็นรายละเอียดปลีกย่อยออกมาเพื่อกำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งคณะอนุกรรมการจะพิจารณาว่าข้อไหนรับได้ไม่ได้

“หากกลุ่ม ซี.พี.ยังไม่ถอนเงื่อนไขที่ผิดหลักการโครงการทีโออาร์ มติ ครม.มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับการคัดเลือก แม้จะเสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุดก็ตาม แต่การเจรจาจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อ ซี.พี.ขอยุติเอง”

ทางออกของโครงการคณะกรรมการคัดเลือกกำหนดไว้แต่แรกแล้ว เพื่อไม่ให้โครงการต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หากเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.ไม่สำเร็จจะเชิญรายที่ 2 คือ กลุ่ม BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มาเจรจาต่อไป

หากสุดท้ายคณะกรรมการคัดเลือกเชิญกลุ่ม BSR มาเจรจา ก็มีคำถามตามมาว่าจะลดวงเงินให้รัฐอุดหนุนจาก 169,934 ล้านบาทที่สูงกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ 119,425 ล้านบาท จำนวน 50,509 ล้านบาทหรือไม่เพราะถึงแม้จะไม่มีข้อเสนอเป็นเงื่อนไขพิสดารหมือนกลุ่ม ซี.พี. แต่รัฐก็ต้องควักเพิ่มกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนข้อเสนอซองที่ 4 เป็นข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ที่ “กลุ่มบีทีเอส” เสนอจะเหมือนการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง จะสร้างต่อขยายจากอู่ตะเภา-ระยอง 40 กม. โดยจะเจรจากับรัฐถึงการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเพิ่มจุดจอดรถไฟความเร็วสูงที่สถานีพญาไทด้วย

อยู่ที่นายใหญ่ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าเมืองไทย จะใจใหญ่กัดฟันลดวงเงินหรือใจดีไม่รับเงินอุดหนุนใด ๆ จากรัฐเลย แค่ให้รัฐการันตีผลตอบแทนโครงการให้อย่างเดียว


ขณะเดียวกันก็เดาใจ “เจ้าสัว ซี.พี.” ลำบาก จะลงเอยอย่างไรในวินาทีสุดท้าย เมื่อโปรเจ็กต์ที่วาดฝันไว้สวยหรูกลายเป็นทุกขลาภไปโดยปริยาย