บีฟอร์ แอนด์ อาฟเตอร์ “เลือกตั้ง 2562” ชี้ชะตาอสังหาฯ

อีเวนต์ใหญ่ของประเทศ 24 มีนาคม 2562 เดินเข้าคูหากาบัตร ลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎร ไม่เพียงแต่เป็นการชี้ชะตาประเทศ หากแต่ยังเดิมพันชี้ชะตาภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยในปี 2562 ผู้ประกอบการจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือจะต้องยูเทิร์นกลับไปหาจุดสตาร์ต ไม่มีใครรู้อนาคต สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ wait and see

LTV ทุบผู้ซื้อ-ผู้ประกอบการ

ท่ามกลางมรสุมปัจจัยลบ นับถอยหลังเวลามีเรื่องใกล้ตัวที่สุด คือ มาตรการ LTV-loan to value แบงก์ชาติบังคับเพิ่มเงินดาวน์บ้าน-คอนโดมิเนียมหลังที่สองเป็นต้นไป จากเดิมดาวน์ 5-10% นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถูกบังคับให้ดาวน์เริ่มต้น 20%ในฟากผู้บริโภค อาจยังไม่ได้รับรู้ในวงกว้างด้วยซ้ำไปว่า กำลังจะมีพายุเฮอริเคนถล่มกำลังซื้อในปีนี้ จากเดิมเคยเดินตัวเปล่าเข้าสำนักงานขาย สามารถซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียม โดยขอกู้ได้ 100% หรืออย่างน้อย สามารถขอกู้ซื้อเฟอร์นิเจอร์-ตกแต่ง-ต่อเติมได้ แต่หลังจากวันที่ 1 เมษายน 2562 แบงก์ชาติ

กำชับเข้มงวดห้ามปล่อยกู้เกิน LTV

กลับมาดูเกณฑ์ LTV อีกสักครั้ง การซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก บ้านต้องดาวน์ 5% หรือเท่ากับมี LTV (เพดานให้สินเชื่อ) 95% คอนโดฯดาวน์ 10% มีเพดานสินเชื่อ 90% การซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สอง บ้าน-คอนโดฯดาวน์เท่ากัน 20% มีเพดานสินเชื่อ 80% ส่วนการซื้อหลังที่สาม ดาวน์ 30% มีเพดานสินเชื่อ 70% ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับการซื้อของแพงราคาเกินสิบล้านบาทขึ้นไป

ปีนี้แลนด์ฯลงทุนไร้คอนโดฯ

การส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากถึงมากที่สุดเป็นของพี่ใหญ่ ค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดแผนลงทุนปีนี้อย่างเปรี้ยงปร้างด้วยการประกาศว่า ไม่มีคอนโดฯแม้แต่แท่งเดียว (แม้จะยอมรับว่า the show must go on ทีมงานยังเตรียมที่ดิน-ขอ EIA ตามปกติ)

ค่ายแลนด์ฯไม่ทิ้งลายพี่ใหญ่แห่งวงการ วางแผนเปิดตัวมากกว่าปี 2561 ถึง 30% จากมูลค่าโครงการ 23,110 ล้านบาท เพิ่มเป็น 29,660 ล้านบาท

ในปีนี้ เป็นการเติบโตจากโครงการแนวราบเป็นหลัก ครบทั้งบ้านเดี่ยว-บ้านแฝด-ทาวน์เฮาส์

“นพร สุนทรจิตต์เจริญ” เอ็มดี แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บอกกับนักข่าวในโอกาสเปิดเวทีแถลงข่าวเป็นทางการปีละ 1 ครั้งว่า สาเหตุที่บริษัทไม่เปิดโครงการใหม่ที่เป็นคอนโดฯในปีนี้ เนื่องจากเห็นซัพพลายที่ออกมาในตลาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมาก

“โดยเฉพาะที่เกิดจากการ JV-joint venture และจากมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ ซึ่งเราคิดว่ากระทบกับสินค้าประเภทคอนโดฯพอสมควร จึงขอดูทิศทางของตลาดก่อน แต่ในการเตรียมการเราเตรียมแบบแล้ว ยื่นขอ EIA แล้ว ทำ costing แล้ว ถ้าเราดูแล้วตลาดมัน console และลงตัวมากขึ้น เราก็พร้อมจะเปิดตัวขอดูจังหวะของตลาดอีกสักระยะ”

ปี”61 ลดสเกลเปิดตัวใหม่

ในฝั่งผู้ประกอบการ กลิ่นตุ ๆ ของปัญหา LTV โชยมาตั้งแต่ตอนที่แบงก์ชาติเปิดตัวมาตรการเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2561 เว้นวรรคประมาณ 1 เดือน จนทำให้เป็นช่วงโกลาหลอยู่พักหนึ่ง จากนั้นเดือนพฤศจิกายน 2561 แบงก์ชาติแถลงความชัดเจนการบังคับใช้ LTV

นั่นหมายความว่า ไตรมาส 4/61 กลายเป็นไตรมาสอาถรรพ์ เพราะต้องถือว่ามีเวลาเตรียมตัวตั้งรับไม่มากนัก นำไปสู่การปรับตัวแบบ “ปรับเล็ก-ปรับใหญ่” ทั่วทั้งวงการอาทิ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ต้นปี 2561 ประกาศเป้าที่ท้าทายด้วยแผนเปิดตัวใหม่ 75 โครงการ มูลค่ารวม 66,000 ล้านบาท ระหว่างทางของการแถลงผลงานรายไตรมาส มีการผ่อนคันเร่งลงอย่างช้า ๆ เนิบ ๆ จนกระทั่งมาจบสิ้นปีที่ยอดเปิดตัวโครงการใหม่ 55 โครงการ มูลค่ารวม 53,502 ล้านบาท

แน่นอนว่าโครงการที่ชะลอหรือเลื่อนการเปิดตัว ถูกนำมารีโมเดลแผนธุรกิจแล้วประกาศเป็นเป้าการเปิดตัวใหม่ในปี 2562 ที่ 55 โครงการเท่าเดิม แต่มูลค่ารวมเพิ่มเป็น 68,100 ล้านบาท

ย่อมไม่ใช่เพลี่ยงพล้ำ แต่เป็นการปรับตัวจากปัจจัยภายนอกที่เอกชนควบคุมไม่ได้ โดย “สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานในปี 2561 ทำยอดขายได้สูงถึง 51,101 ล้านบาท ทุบสถิตินิวไฮในรอบ 25 ปีของพฤกษาฯ

แน่นอนว่าปีนี้ พฤกษาฯทดจำนวนเปิดตัวใหม่และมูลค่าโครงการ ทำให้ยอดเปิดตัวตามแผนสูงเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท

อาทิ บมจ.ศุภาลัย ที่ประกาศแผนเปิดตัวใหม่ปี 2561 จำนวน 35 โครงการ มูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท โดยศุภาลัยส่งสัญญาณชัดเจนมากว่า ต้องเลื่อนเปิดตัวโครงการ ด้วยการยกเลิกแผนเปิดขายคอนโดฯในไตรมาส 4/62 ทั้งหมด แล้วขยับมาเป็นแผนเปิดตัวปีนี้แทน

“ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการศุภาลัยระบุว่า สรุปปี 2561 เปิดตัวใหม่ 25 โครงการ มูลค่า 25,980 ล้านบาท ปีนี้เป็นอีกปีที่กลับมาตั้งเป้าเปิดตัวใหม่ 40,000 ล้านบาท แต่จำนวนลดลงเหลือ 28 โครงการ

ข้อเหมือนของพฤกษาฯกับศุภาลัย คือ มูลค่าโครงการรวมสูงขึ้น จำนวนโครงการเท่าเดิมหรือลดลง แสดงให้เห็นถึงราคาเฉลี่ยบ้าน-คอนโดฯเจาะกำลังซื้อสูงขึ้นจากเดิม

Wait & See ลุ้นหลังเลือกตั้ง

ถัดมาคืออีเวนต์ใหญ่แห่งชาติในรอบ 5 ปี นับถอยหลังไปหาวันที่ 24 มีนาคม ที่เป็นกำหนดเลือกตั้งทั่วไป กติกาใหม่ทำให้เป็นการเลือกตั้งที่สร้างสีสันให้กับวงการการเมืองไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอนว่าภาคธุรกิจเฝ้าจับจ้องไม่คลาดสายตาด้วยเช่นกัน

ข้อกังวล ตลอดจนประเด็นลุ้น ไม่ใช่เรื่อง “ใคร” เป็นรัฐบาลใหม่ เพียงอย่างเดียว หากแต่เรื่องที่ลุ้นหนักมาก คือ รัฐบาลใหม่จะบริหารประเทศได้อย่าง “สงบ” หรือไม่

กีฬาสีการเมืองจะกลับมาเลือกข้างเหลือง-แดง อย่างในอดีตหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ถือว่าเดิมพันสูงมาก เพราะชี้เป็น-ชี้ตายบรรยากาศการทำธุรกิจโดยตรง

สำรวจแผนเปิดตัวใหม่ปีนี้ของค่ายแสนสิริ สรุปยอดมูลค่าเปิดตัวใหม่ในปี 2561 จำนวน 65,200 ล้านบาท นั่นหมายถึง แสนสิริขึ้นทำเนียบเปิดตัวใหม่สูงสุดของปี ในขณะที่ปีนี้ แผนธุรกิจที่ประกาศมีการดรอปตัวเลขลง -23% เปิดตัวใหม่ 28 โครงการ รวมมูลค่า 46,600 ล้านบาท

ไฮไลต์อยู่ที่การตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้เพียง 36,000 ล้านบาท แต่ไปทิ้งทุ่นเป้าหมายระยะยาว 3 ปี สร้างยอดพรีเซลรวมกัน 160,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2562-2564 หรือเท่ากับเฉลี่ยพรีเซลปีละ 53,300 ล้านบาท

ถ้าไม่อยากทำงานหนักในปีใดปีหนึ่ง ก็ต้องพยายามทำพรีเซลเฉลี่ยปีละ 53,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ตั้งเป้าพรีเซลแค่ 36,000 ล้านบาท แปลว่ามีทีเด็ดไว้เล่นในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยชี้เป้าตรง ๆ ว่า จะรุกหรือจะรับ ขึ้นกับเงื่อนไข “หลังการเลือกตั้ง” ไปแล้ว รอดูหน้าตารัฐบาลใหม่ รอดูบรรยากาศการทำมาค้าขาย ตลอดจนรอดูกำลังซื้อภาคประชาชน

“ประชาชาติธุรกิจ” ถามว่า ปีนี้แสนสิริผ่อนคันเร่งการลงทุนใช่หรือไม่2 ผู้บริหารหลัก “วันจักร์ บุรณศิริ” ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ กับ “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการของแสนสิริ ให้คำตอบยืนยันว่า ปี 2561 เพิ่งทำนิวไฮยอดขายสูงสุดในรอบ 34 ปี จำนวน 48,500 ล้านบาท โตขึ้น 25%

ปี 2562 จังหวะการลงทุนก็ยังอยู่เกียร์ 5 เหมือนเดิม รุก-รบเต็มสปีด เพียงแค่ผ่อนคันเร่งแต่ไม่ได้ลดเกียร์ลง นั่นหมายความว่า หลังเลือกตั้งถ้ามีภาพที่ชัดเจน ซึ่งต้องรอดูอย่างน้อย 1 ไตรมาส ก็พร้อมเคลื่อนทัพหลวงออกศึกได้ทันทีในช่วงครึ่งปีหลังโกลด์-ออริจิ้นฯร่ายคาถาปี”62

อีกค่ายที่น่าสนใจ คือ โกลเด้นแลนด์ ทีมงานคุณภาพภายใต้การนำของ “พี่ปิง-แสนผิน สุขี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ใช้เวลา 3 ปี (2559-2561) ปั้นพอร์ตรายได้หลักหมื่นล้านบาท ล่าสุดปี 2562 ตั้งเป้าเปิดตัวใหม่ 28 โครงการ มูลค่า 33,000 ล้านบาท

โมเดลธุรกิจปีนี้โกลเด้นแลนด์โชว์เหนือ รูปแบบเดียวกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวคือ เงินทุกบาท รายได้ทุกสลึง มาจากโครงการแนวราบทั้งสิ้นแบ่งเป็น ทาวน์โฮมสูงสุดที่ 51% จาก 13 โครงการ, บ้านเดี่ยว 26% จาก 6 โครงการ, บ้านแฝด หรือนีโอโฮม 18% จาก 4 โครงการ และต่างจังหวัด 5% จาก 5 โครงการ

“นับแต่ควบรวมกิจการและเปลี่ยนทีมบริหาร เราทำอัตราเติบโตปีละ 50-70% ตลอด แต่ปีนี้เป้าโตกลับมาอยู่ที่ 30% เพราะคำนวณจากฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมสร้างจากฐานเล็ก ๆ ดังนั้น นิยามการทำอสังหาฯปีนี้ต้องกลับไปจัดกำลังสนับสนุนให้ดี”

และออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่เน้นกลยุทธ์เปิดตัวแบบประคองตัวในปี 2561-2562 อัตราเติบโตบวกลบโครงการเปิดตัวใหม่ 1-2% ถือว่าเป็นแผนธุรกิจทรงตัว จากปี 2561 เปิดตัวใหม่ 25,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 26,000 ล้านบาท ในปี 2562

ผลประกอบการปี 2561 ที่ต้องยกนิ้วให้ว่างานดี ก็คือกำไรสุทธิ 3,338 ล้านบาท คิดเป็น 20.1% ของรายได้ เทียบกับค่าเฉลี่ยตลาดมีกำไรสุทธิ 14-16% บวกลบ

“ณโด่ง-พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ยังคงเดินหน้าตามความฝัน เข้าทำเนียบท็อป 5 บริษัทอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย

“ในปี 2561 ออริจิ้นฯเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่ารวม 25,500 ล้าน ยอดขายเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 72-75% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ทำได้ราว 40-50%”

ปี 2562 บริษัทเดินหน้ารักษาเสถียรภาพการเติบโตของธุรกิจคอนโดฯไว้ในระดับเดิม ควบคู่กับการกระจายการเติบโตไปยังกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งโครงการแนวราบ รายได้หมุนเวียน เช่น โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ออฟฟิศ คอมมิวนิตี้มอลล์ โครงการมิกซ์ยูส และธุรกิจบริการ

โดยกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งแนวราบกับรายได้ค่าเช่าจะค่อย ๆ มีบทบาทมากขึ้น ทั้งในระยะกลางจนถึงระยะยาว ส่วนระยะสั้น ผลกระทบใหญ่สุด-แรงสุด-ทางตรงมากที่สุด หนีไม่พ้นรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง เอกชนพูดสอดคล้องกันว่าเอาใจช่วยทุกคน ขอแค่บริหารประเทศให้นิ่ง ๆ ก็พอ

 

อนันดาฯย้ำเจ้าตลาด คอนโดฯติดรถไฟฟ้า

2 ทศวรรษที่ค่ายอนันดาฯก่อตั้งขึ้นจนถึงปัจจุบัน ผลประกอบการโดดเด้งเป็นสปริงบอร์ดให้ผู้ก่อตั้ง “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กลายเป็นโรลโมเดลของดีเวลอปเปอร์คนรุ่นใหม่

ประสบการณ์ผ่านน้ำร้อนมาก่อนของ “โก้-ชานนท์” เกิดมาก็เจอดัชนีตลาดหุ้น 400 จุด มีเหตุการณ์ 911 ตึกเวิลด์เทรดในอเมริกา คอนโดมิเนียมแท่งแรกแบรนด์ไอดีโอ เกิดพร้อมกับการเข้ามาของไอโฟนอยู่ทำธุรกิจมากับรัฐบาลหลายยุค ปี 2555 ซึ่งทุกคนยังไม่หายช็อกจากมหาอุทกภัยถล่มกรุงเทพฯในปีก่อนหน้าเปิดขายไอดีโอ โมบิ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ยอดขายถล่มทลาย จุดพลุอีกครั้งว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ตายจนถึงปัจจุบัน ปีนี้ตั้งเป้าเปิดตัวใหม่ 10 โครงการ มูลค่ารวม 38,000 ล้านบาท เติบโต 42% แบ่งเป็นคอนโดฯ 8 โครงการ ร่วมทุนกับมิตซุย ฟุโดซัง 7 โครงการ และแนวราบ 2 โครงการ ตั้งเป้ายอดขาย 36,000 ล้านบาท เติบโต 14% เทียบกับยอดขาย 31,500 ล้านบาทในปี 2560

ตั้งเป้ายอดโอน 36,000 ล้านบาท เติบโต 9% คาดว่ามีคอนโดฯก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มโอน 10 โครงการมีเงินสดหมุนเวียน 13,000 ล้านบาท

คีย์ซักเซสที่พูดมาตลอด 20 ปีไม่เปลี่ยนแปลง “ทฤษฎีระฆังคว่ำ” หมายถึง การพลอตจุดที่สถานีรถไฟฟ้าอยู่สูงสุด จากนั้นกางรัศมีห่างออกมาไม่เกิน 300 เมตรเป็นขอบเขตพัฒนาคอนโดฯเจาะตลาดบน-กลาง ตลาดกลาง-ล่างคือถัดมาออกรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตรจากสถานีรถไฟฟ้า

“เราเติบโตอย่างบ้าคลั่งกับคำว่าโลเกชั่น ไม่ดีไม่ซื้อ”

ณ สิ้นปี 2561 ร่วมทุนกับมิตซุย ฟุโดซังแล้ว 30 โครงการ มูลค่ารวม 128,000 ล้านบาท

ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 38 โครงการ มูลค่าเกิน 157,600 ล้านบาท เพื่อรักษาตำแหน่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าโครงการร่วมทุนสูงที่สุดในประเทศ

ข้อมูลภาคสนาม ปี 2561 เมืองกรุงมี 87 สถานีรถไฟฟ้า แผนภาพใหญ่ในปี 2572 เพิ่มเป็น 319 สถานี ทะเลยังมีปลาให้จับอีกเหลือเฟืออยู่กับปัจจุบัน 87 สถานี พบว่า อนันดาฯเข้าไปปักหมุดคอนโดฯแล้ว 60 สถานี รวม 44,200 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมกัน 178,500 ล้านบาท

“ปีนี้เราจับเข่าคุยกับมิตซุยฯแล้วว่า อีก 10-20 ปีหน้าจะอยู่ (JV) กันยังไงต่อไป”

เพราะมั่นใจกับโมเดลธุรกิจ “ระฆังคว่ำ” เป็นกลยุทธ์ยืนแชมป์เจ้าตลาดคอนโดฯติดรถไฟฟ้าตลอดไป

 

“ทำธุรกิจต้องเติบโต เอพีต้องลงทุนไปเรื่อย ๆ”

เอพี (ไทยแลนด์) รีแบรนด์แล้วกระชับทันสมัย ปีที่แล้วมีข่าวนอกกรอบคว้าลิขสิทธิ์แบรนด์คอนโดมิเนียม “วัน ไวร์เลส” จากเหตุผลแลนด์แบงก์ที่ซื้อมามีบ้านเลขที่ติดมาด้วย “บ้านเลขที่ 1 ถนนวิทยุ” นั่นเอง

จนทำให้ใครต่อใครเอาไปเมาท์มอยว่า ปลายถนนอีกด้านของถนนวิทยุ แปลง 104 ไร่ หัวมุมสวนลุมพินี กลุ่มเจ้าสัวเจริญไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้ จึงไปหยิบชื่อ

“วัน แบ็งคอก” มาใช้แทนสีสันของค่ายเอพีปีนี้ บ่งบอกแคแร็กเตอร์ผู้บริหารสูงสุด “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ได้เป็นอย่างดี มีการอารัมภบทก่อนแถลงแผนธุรกิจเต็มรูปแบบ ด้วยการเปิดตัว 3 บริษัทใหม่ในเครือ

1.”บริษัท วาริ จำกัด” ธุรกิจสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต

2.”บริษัท เคลย์มอร์ จำกัด” ธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมดีไซน์ เพื่อตอบโจทย์ “ความต้องการที่ยังไม่ถูกค้นพบ” ของคนในสังคม มีบทบาทเป็น innovation lab สร้างนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการ Stanford design thinking ต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ เป้าหมายให้นวัตกรรมที่คิดค้น จับต้องได้ และใช้งานได้จริง

3.”SEAC-เอสอีเอซี” ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันระดับโลก อาทิ Stanford University เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถและกระบวนการคิดของผู้นำในเมืองไทยและระดับภูมิภาคให้มีศักยภาพทัดเทียมผู้นำระดับโลก

นอกเหนือจากเอพี (ไทยแลนด์) พัฒนาโครงการ, บริษัทบีซี ธุรกิจ property agent รับฝากขาย ฝากเช่าอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ มีพอร์ตรวม 12,000 ล้านบาท, บริษัท SMART ธุรกิจ property management ประสบการณ์ 20 ปี บริหารนิติบุคคลเครือเอพี และโครงการทั่วไป 55,000 ครอบครัว 200 โครงการ

วิสัยทัศน์ภายในปี 2565 มีรายได้ 60,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ของ SEAC สัดส่วน 10% อยู่ที่ 6,500 ล้านบาท เป็นการวางเป้ารายได้จากธุรกิจ nonresidence ถึง 6,500 ล้านบาท จนทำให้ใครต่อใครร้อง…ว้าว ไปตาม ๆ กัน

ถัดมา มีอีก 2 คีย์แมนค่ายเอพี “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ และ “ภมร ประเสริฐสรรค์” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจแนวราบ ระบุว่า 27 ปีของเอพี มีผลตอบรับที่ดี ตัวชี้วัดจากยอดรายได้รอบ 5 ปีที่ผ่านมา จาก 20,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 38,000 ล้านบาทในปี 2561

สำหรับปีนี้ ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออกยังไงก็ตาม บริษัทยังต้องลงทุนไปเรื่อย ๆ เพราะพนักงานต้องมีเงินเดือนเพิ่มปีละ 5-6%

คีย์เวิร์ดอยู่ที่เป้ารายได้ปีนี้ 35,900 ล้านบาท หากทำได้ตามแผนจะเป็นสปริงบอร์ดให้เอพีก้าวขึ้นเป็นบริษัทอสังหาฯอันดับ 2 ในด้านรายได้ของวงการทันที

 

“แสนสิริผ่อนคันเร่ง รอดูบรรยากาศหลังเลือกตั้ง”

ถึงแม้ลดเป้าเปิดตัวโครงการใหม่แต่ดีกรีความร้อนแรงไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดสำหรับค่ายแสนสิริ 2 ผู้บริหารหลัก “วันจักร์ บุรณศิริ-อุทัย อุทัยแสงสุข” ร่วมกันประกาศวิสัยทัศน์ปีนี้ “For Greater Well-being” สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อยอดกลยุทธ์ Green & Well-being สู่ทุกโครงการใหม่สีสันเรื่องแรกคือการประกาศเปิดตัว “บ้านปลอดฝุ่น-Dust Free House” ครั้งแรกของประเทศไทย ตอกย้ำภาพลักษณ์ค่ายแสนสิริ ในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“ปี 2561 Sansiri Best Year Ever เป็นปีที่ถือว่าดีที่สุดของการดำเนินธุรกิจของแสนสิริตลอด 34 ปีที่ผ่านมา จากความสำเร็จมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่สูงที่สุด 65,200 ล้าน ยอดพรีเซล 48,500 ล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยอดขายต่างชาติ 14,000 ล้าน เติบโตถึง 51% หรือเติบโต 10 เท่าในรอบ 5 ปี”

เจาะตลาดลูกค้าต่างชาติ ผู้บริหารบอกว่าย้อนเวลากลับไป 5 ปีที่แล้ว แสนสิริเป็นดีเวลอปเปอร์รายแรกที่จัดโรดโชว์ตลาดต่างประเทศ สิริรวมมีรายได้พอร์ตลูกค้าต่างชาติรวมกัน 34,000 ล้านบาท ตอนนี้กำลังเบนเข็มทิศโรดโชว์เข้าตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี เวียดนามSansiri Best Year Ever เป็นบทพิสูจน์ผลตอบรับลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ แบ่งเป็นบ้านเดี่ยวเติบโต 34% ทาวน์เฮาส์โต 77% และคอนโดมิเนียมโต 20%

แน่นอนว่า เหนือความคาดหมายของแสนสิริด้วยเช่นกัน

ตัวจี๊ดค่ายแสนสิริ ในปีที่แล้วมาจากตลาดซูเปอร์ลักเซอรี่ “บ้านแสนสิริ พัฒนาการ 30” ราคาเริ่ม 65-240 ล้าน แค่ 36 หลัง ทำยอดขาย 75% ภายใน 6 เดือน กับไลฟ์สไตล์คอนโดฯ แบรนด์ใหม่หมาด XT Condo เจาะยางคนรุ่นใหม่ 3 โครงการมูลค่ารวม 21,000 ล้านบาท ปิดการขาย 12,000 ล้านบาทใน 3 เดือน

ตลาดต่างจังหวัดที่บอกว่าซบเซาหนักหนา แสนสิริฟาดรายได้คนเดียว 12,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้รวมทั้งบริษัท เติบโตจากปี 2560 ถึง 51%

ปีนี้ปัจจัยเสี่ยงสุมรุมตอม แสนสิริลดเพดานบินหันมาเน้นเปิดตัวโครงการระดับกลาง (medium segment) กับระดับราคาที่เข้าถึงได้ (affordable segment) สัดส่วนรวมกัน 96% ของมูลค่าเปิดตัวโครงการใหม่โดยมี 1 ในสตอรี่ที่เป็นตัวเดินเรื่องคือ digital transformation ที่ออกตัวแรง 2 ปีเต็มมาแล้ว ด้วยเม็ดเงินลงทุน 300 ล้านบาท อาทิ Appysphere, Techmetics, Astralink, Farmshelf, Semtive, Fifth Wall, และ Chiina Renaissance ลงทุนในอเมริกาและจีน เพื่อหาลู่ทางปักหมุดแสนสิริในซีกโลกตะวันตกกับซีกโลกตะวันออก

โดยระยะยาว 3 ปี (2562-2564) ตั้งเป้ายอดพรีเซลรวมกัน 160,000 ล้านบาท