รุมทึ้งขุมทรัพย์คมนาคม 2 ล้านล้าน เปิดเมนูโปรเจ็กต์ร้อน รอสัมปทานรัฐบาลใหม่

นับถอยหลังทุกนาทีสำหรับ “รัฐบาลทหาร” ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ยืนหยัดในอำนาจยาวนานถึง 5 ปี

ทุกสายตาจับจ้องการจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” แบบไม่กะพริบว่าจะได้รัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลเก่ากลับมาสานงานต่อ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกรดเอที่พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าจ้องตาเป็นมัน

เพราะเป็นกระทรวงที่กุมเมกะโปรเจ็กต์สารพัดโครงการไว้ในมือไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2558-2565) หรือแผน 8 ปี

แม้ที่ผ่านมาจะทยอยอนุมัติโครงการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้กดปุ่มประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ทัน รวมถึงโปรเจ็กต์รอเสนอ ครม.อีกนับล้านล้านบาทจะเป็นขุมทรัพย์รอรัฐบาลใหม่

จึงไม่แปลกที่อำนาจต่อรองการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงมีเก้าอี้กระทรวงคมนาคมอยู่บนกระดานด้วย

ชงมอเตอร์เวย์สายใหม่

“กรมทางหลวง” นับเป็นกรมที่เนื้อหอมไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา เพราะเป็นกรมที่มีโปรเจ็กต์จับต้องและเห็นผลชัด ในการขยายโครงข่ายถนนสายหลักครอบคลุมทั่วไทย ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมระดับ 4-5 หมื่นล้านบาททะลุเป็นกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สายใหม่ ได้แก่ พัทยา-มาบตาพุด, บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมา ล่าสุด เตรียมเปิดประมูล PPP ระบบเก็บเงินสายบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท

โครงการที่เตรียมเสนอ ครม. นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มี 3 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) แล้วจะขออนุมัติได้ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระ

โครงการที่ 2 สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทาง 16.18 กม. เงินลงทุน 3,930 ล้านบาท แบ่งเป็นฝ่ายไทยลงทุน 2,553 ล้านบาท ฝั่ง สปป.ลาวลงทุน 1,256 ล้านบาท และขอปรับเพิ่มกรอบค่าเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. เพิ่มจาก 5,420 ล้านบาท เป็น 19,637 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14,217 ล้านบาท ซึ่งกรมพยายามปรับลดงบฯเวนคืนลงเป็น 8,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และยอมรับว่า อาจจะเสนอไม่ทันรัฐบาลนี้

นอกจากนี้ยังมีมอเตอร์สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 62.59 กม. เงินลงทุน 57,022 ล้านบาท และส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 30,538 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการยังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน PPP

ปิดดีลสัมปทาน-สร้างด่วนใหม่

ด้าน “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” มีโครงการรอเซ็นสัญญาคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ คือ โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่เปิดประมูลได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดงานโยธาทั้ง 4 สัญญาไปแล้ว

และการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 3 สัญญา ระยะเวลา 30 ปี กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี และบางปะอิน-ปากเกร็ด เพื่อเคลียร์ปัญหาข้อพิพาททางด่วนมูลค่ากว่า 5.9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่โครงการใหม่รอเสนอ ครม. ได้แก่ ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. เงินลงทุน 13,917 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาของบอร์ด PPP และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ระยะที่ 1 ช่วงแยกเกษตร-วงแหวนรอบนอก เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท

โปรเจ็กต์รถไฟค้างท่ออื้อ

ด้าน “โครงการระบบราง” นับเป็นพระเอกของรัฐบาลทหารตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แม้ว่าการเดินหน้าโครงการจะยังล่าช้าจากแผนอยู่มาก

แต่ก็เข็นโครงการจนเริ่มการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการอยู่ภายใต้การดูแลของ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ไม่ว่า รถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. เงินลงทุนกว่า 113,660 ล้านบาท

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท มีการถมคันดิน 3.5 กม.ไปแล้ว กำลังก่อสร้างอีก 11 กม. อีกกว่า 200 กม. อยู่ระหว่างเปิดประมูลในห้วงเวลารอยต่อของรัฐบาลใหม่และเก่า คาดว่าน่าจะยกขบวนให้รัฐบาลชุดใหม่เซ็นสัญญา

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่สามารถเซ็นสัญญางานระบบและซื้อขบวนรถจากซัพพลายเออร์ญี่ปุ่น วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท จนได้เริ่มงานหลังติดหล่มประมูลมาแรมปี

ประมูลทางคู่-ต่อขยายสายสีแดง

น่าจับตาเค้กรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงิน 23,417 ล้านบาท ได้แก่ รังสิต-ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทางรวม 29.34 กม. รวมถึงรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติไปแล้วรอสับคันเร่งประมูล

“วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า มีโครงการเสนอ ครม.อนุมัติ คือ รถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 60,351 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้อนุมัติช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของไปแล้ว ทำให้รถไฟทางคู่เฟส 2 เหลืออีก 7 เส้นทางที่ ครม.ยังไม่ได้อนุมัติ วงเงินรวม 273,382 ล้านบาท อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมจัดลำดับโครงการเสนอ ครม.

จะเสนอแผนฟื้นฟูของ ร.ฟ.ท.ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบด้วย คาดว่าจะเสนอแผนการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สิน และแผนอัพเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้เป็นผู้เดินรถระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลอดจนถึงรายงานความคืบหน้าการจัดหาพนักงาน 1,904 อัตรา ตามที่ ครม.มีมติวันที่ 20 พ.ย. 2561 ยกเว้นมาตรการด้านบุคลากรตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 เพื่อให้ ร.ฟ.ท. สามารถรับพนักงานได้ในกรอบอัตรากำลัง ให้มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป

ไม่ใช่แค่นี้ ร.ฟ.ท.ยังมีอภิมหาโปรเจ็กต์ อีกอย่างน้อย 3 โครงการที่ยังค้างเติ่ง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. เงินลงทุน 276,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการปรับผลการศึกษา, รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 210 กม. เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท ที่เดิมเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีสนใจจะลงทุน อยู่ระหว่างศึกษาต่อขยายไปถึงสุราษฎร์ธานีเพื่อให้โครงการคุ้มค่าการลงทุน และ รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. เงินลงทุน 508,637 ล้านบาท ที่ยังกล่อมญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนไม่สำเร็จ

รถไฟฟ้า กทม.-ภูธรรอคิวอนุมัติ

ส่วนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯความคืบหน้าล่าสุด “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า มีโครงการรอเสนอ ครม. 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. รวม 2 สัญญา มูลค่ารวม 128,000 ล้านบาท (เดินรถทั้งระบบ 32,000 ล้านบาท และก่อสร้าง 96,000 ล้านบาท) กับสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท

“ยังไม่รู้จะได้อนุมัติทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ซึ่งสายสีส้ม สถานะปัจจุบันรายงาน PPP ผ่านบอร์ด PPP แล้วรอเสนอ ครม.ส่วนสายสีม่วงใต้ อยู่ระหว่างเสนอขอใช้พื้นที่บริเวณ ถ.สามเสน ถ.พระสุเมรุ และ ถ.มหาไชย จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

นอกจากนี้ รฟม.ยังมีโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าต่างจังหวัด ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทาง 36 กม. เงินลงทุน 105,735 ล้านบาท 2. นครราชสีมา 2 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 32,600ล้านบาท และ 3.ภูเก็ตคาบเกี่ยวกับ จ.พังงา ระยะทาง 58.525 กม. เงินลงทุนประมาณ 39,406 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการได้จ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดแล้ว ยกเว้นรถไฟฟ้าภูเก็ตที่อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับกรมทางหลวง (ทล.) เรื่องพื้นที่ทับซ้อนของโครงการ

ซื้อรถเมล์ใหม่ 2 พันคัน

ในส่วนของทางอากาศมีงานใหญ่ของ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างกว่า 5 หมื่นล้านบาท และแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (เทอร์มินอล 2) อีกกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมสนามบินของกรมท่าอากาศยานมีแผนจะสร้างใหม่อีกหลายแห่ง

ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถึงจะเป็นหน่วยงานที่มีภาระหนี้ร่วมแสนล้าน แต่ก็มีแผนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ตามแผนฟื้นฟูที่ยังเหลืออีก 2,188 คัน เงินลงทุนรวม 18,624 ล้านบาท รอคิวเสนอ ครม. ก็น่าจับตามองไม่แพ้โครงการขนาดใหญ่ ๆ

ถ้า “พลังประชารัฐ” ไม่ได้โควตาเก้าอี้คมนาคม ไม่รู้ว่าสารพัดโครงการที่ค้างท่อมีมูลค่านับล้านล้านบาท จะได้รับการสานต่อ จะถูกรื้อหรือถูกทิ้งไว้กลางทาง เพราะ “คนคิดไม่ทำ คนทำไม่ได้คิด”