ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับไม้มีค่าทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ โดยหนึ่งในไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมคือไม้สัก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนปลูกไม้เศรษฐกิจโดยเฉพาะไม้สักมีข้อคำนึงในการประเมินภาวะตลาด ราคาตลาด และผลตอบแทนที่พึงได้รับให้ชัดเจน เพื่อความมั่นใจในการลงทุน
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการประเมินค่าไม้สักตามเอกสารซึ่งเป็นการนำเสนอของสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน จำกัดและวิสาหกิจชุมชนชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย กำหนดไว้เบื้องต้นคือ
1. คำนวณหาปริมาตรไม้ ให้ใช้สูตรหลักของการคำนวณปริมาตรของไม้ยืนต้น คือ สูตรโต x โต x สูง x 7.96 / 1,000,000 โดยได้ปริมาณไม้เป็นลูกบาศก์เมตร
2. วัดระยะจากพื้นดินขึ้นมา 1.3 เมตร แล้ววัดเส้นรอบวงของลำต้น เรียกว่า “ความโต”
3. วัดระยะจากพื้นดินขึ้นมาถึงเรือนยอดของต้นไม้ แล้วลบออก 30% เรียกว่า “ความสูง”
สำหรับราคาราคาไม้สักตามอายุที่แตกต่างกันตามการประมาณการของสหกรณ์ฯ เป็นดังนี้:
1. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 5-10 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 1,000 บาท
2. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 11-15 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 2,000 บาท
3. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 3,000 บาท
4. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 21-25 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 5,000 บาท
5. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 25-30 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 7,000 บาท
6. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 31-35 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 8,000 บาท
7. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 36-40 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 10,000 บาท
8. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 41-45 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 12,000 บาท
9. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 46-50 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 15,000 บาท
10. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 18,000-25,000 บาท
โดยราคาตลาดเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบยังมีแหล่งที่มาของทางราชการคือกรมป่าไม้ ตามข้อมูลสารสนเทศป่าไม้ มีข้อมูลราคาไม้ ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2559 เป็นข้อมูลที่ปรับปรุงล่าสุด
โดยนัยนี้ผู้ประเมินสามารถสืบค้นย้อนกลับไปถึงปี 2557 ทำให้สามารถสร้างเส้นแนวโน้มตลาดได้โดยเบื้องต้นเพื่อประมาณการราคาไม้สักในปัจจุบัน
นอกจากนี้ผู้ประเมินยังอาจดูได้จากเว็บไซต์ของวงการไม้สัก (https://bit.ly/2VyFWdB) รวมทั้งเว็บขายต่างๆ เช่น Alibaba มีราคาไม้สักเป็นท่อน (https://bit.ly/2YucD9l) และไม้สักเป็นต้นจากแหล่งต่างๆ ในภูมิภาคนี้ (https://bit.ly/2JjjSxo) เพื่อใช้ดูแนวโน้มในตลาดโลก
อนึ่ง ข้อมูลพื้นฐาน “สัก (Teak)” เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นเปล่าตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สักมักจะได้รับความเข้าใจผิดเสมอว่าเป็นไม้เนื้อแข็งเนื่องจากว่ามันมีลักษณะพิเศษที่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีความทนทานกว่าไม้เนื้อแข็งหลาย ๆ ชนิด
ไม้สักชั้นหนึ่งมีเนื้อไม้สีน้ำตาลทอง และมีเส้นลวดลายสีดำ เรียกว่า “สักทองลายดำ” เนื้อไม้สักค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรงทำให้ง่ายต่อการเลื่อย ไส และตบแต่ง มีความแข็งแรงเท่าเทียมกับไม้เนื้อแข็ง. ใช้ในงานก่อสร้าง และทำโครงสร้างของที่อยู่อาศัย ใช้ทำดาดฟ้าเรือ ทำเครื่องเรือน และแกะสลักได้อย่างสวยงาม
นอกจากไม้สักจะมีคุณสมบัติที่ต้านทานการรบกวนจากปลวก และเชื้อเห็ดราแล้ว ยังมีความทนทานต่อลมฟ้าอากาศได้อย่างดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากสภาพของโบสถ์ วิหาร หรือบ้านที่มีอายุหลายร้อยปี ที่สร้างขึ้นด้วยไม้สัก ในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ
ที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ มีต้นสักที่โตที่สุดในโลกปัจจุบันที่ยังยืนต้นอยู่ และยังได้รับยกย่องให้เป็น 10 สุดยอดต้นไม้มหัศจรรย์ของไทย ลำต้นโต 9.85 เมตร สูงประมาณ 47 เมตร มีอายุไม่น้อยกว่า 1,500 ปี และยังมีสะพานอู้เบน ซึ่งเป็นสะพานไม้สักทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน มุ่งตรงไปยังเจดีย์เจาะตอจี้ ซึ่งอยู่อีกฟากของทะเลสาบ ตั้งอยู่ที่อมรปุระ ก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองมัณฑะเลย์ มีความยาว 1.2 กิโลเมตร (0.75 ไมล์) สร้างขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 1850 เชื่อว่าเป็นสะพานไม้สักที่เก่าแก่และยาวที่สุดในโลก สะพานสร้างจากไม้สักที่เหลือจากการรื้อพระราชวังเก่ากรุงอังวะ เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากอังวะ มายังอมรปุระ จำนวน 1,086 ต้น ชื่ออู้เบนนั้นเป็นชื่อของขุนนางที่มีนามว่า “อูเบียน” ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดเกล้าฯ ให้มาทำหน้าที่เป็นแม่กองงานสร้าง