“บิ๊กตู่”เดดไลน์ก.ย.เซ็นไฮสปีดซี.พี. จับตารื้อแบบใหม่หวั่นเวนคืนล่าช้าค่าก่อสร้างบาน

“บิ๊กตู่” เดดไลน์เซ็นสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปีดดีล 2.24 แสนล้าน ก.ย.นี้ วงในหวั่นหลุดเป้า ร.ฟ.ท.เคลียร์พื้นที่เวนคืน ผู้บุกรุก รื้อย้ายสาธารณูปโภคยังไม่ลงตัว คาดส่งมอบพื้นที่ 4,421 ไร่ได้หมดใช้เวลา 2-3 ปี “ซี.พี.” สั่งอิตาเลียนไทยฯรื้อแบบใหม่ บีบค่าก่อสร้างอยู่ในกรอบและกำหนดเวลา 5 ปี หลังเงินลงทุนส่อเค้าบานมากกว่า 1 พันล้าน “เปรมชัย” เปิดใจยอมรับโครงการก่อสร้างยาก คาดเริ่มตอกเข็มต้นปี”63 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุจะเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในเดือน ก.ย. 2562 นี้

เร่งรถไฟสรุปส่งมอบพื้นที่

เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ขณะนี้มีปัญหาอย่างเดียวคือการส่งมอบที่ก่อสร้าง ถ้าส่งมอบไม่ได้ทั้งหมดจะทำอย่างไร โดยคาดว่า 80% ส่งมอบพื้นที่ได้ อีก 20% เป็นพื้นที่ต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

รายงานข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยว่า การเซ็นสัญญากับกลุ่ม ซี.พี.ยังไม่รู้ว่าจะทันเดดไลน์ ก.ย.อย่างที่นายกรัฐมนตรีต้องการได้หรือไม่ นอกจากจะรอเคลียร์พื้นที่กับรถไฟแล้ว ตอนนี้กลุ่ม ซี.พี.ก็กำลังรอผลตัดสินจากศาลปกครองกรณียื่นประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2.9 แสนล้านบาทล่าช้า ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการไม่รับพิจารณาซองข้อเสนอที่ยื่นล่าช้า

“รถไฟความเร็วสูงกับเมืองการบินจะเป็นโครงการที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันถึงจะทำให้การลงทุนคุ้มในระยะยาว ขณะเดียวกัน การเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก็เป็นสิ่งที่ดีต่อโครงการ เพราะหากโครงการล่าช้าจะทำให้ต้นทุนโครงการเพิ่มขึ้น เป็นภาระให้กับเอกชน ขณะที่รัฐก็ให้แค่การขยายเวลาเท่านั้น ทาง ซี.พี.คงต้องพิจารณาทุกอย่างให้มั่นใจก่อนถึงจะกำหนดวันเซ็นสัญญาได้”

ซี.พี.ให้ ITD ปรับแบบใหม่ 

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ตอนนี้ ซี.พี.ให้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ทำแผนการก่อสร้างให้สอดรับกับการส่งมอบพื้นที่ของรถไฟที่จะส่งมอบให้ได้ 80% แต่ดูแล้วน่าจะไม่ถึง อาจจะกว่า 50% เล็กน้อย แยกเป็นพื้นที่เวนคืนไม่เกิน 2 ปี เช่น ฉะเชิงเทรา 850 ไร่ ที่ตั้งสถานีใหม่และศูนย์ซ่อมบำรุง จะต้องสร้างออกไปจากสถานีรถไฟเดิมประมาณ 10 กม. พื้นที่ผู้บุกรุกบางแห่งเร่งรัดได้ 3-6 เดือน บางแห่ง 1 ปี

“ทราบว่าผู้รับเหมาก็ต้องปรับแบบก่อสร้างให้รับกับการส่งมอบพื้นที่ เช่น ต้องออกแบบใหม่หลบสิ่งกีดขวาง อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนยื่นราคาประมูลไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายตรงนี้ไว้ด้วย จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นแน่นอน ดูแล้วโครงการใหญ่ใช้เงินก่อสร้างกว่า 1 แสนล้านบาท น่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1,000 ล้านบาท”

ทั้งอิตาเลียนไทยฯ และ ซี.พี.ก็กำลังหารือร่วมกัน ถ้า 5 ปีสร้างไม่จบ ได้แค่เวลาชดเชย แล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มใครจะเป็นคนออก และถ้าจะเร่งให้เสร็จในเวลาจะต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ ตอนนี้ทราบว่า ซี.พี.กำลังให้อิตาเลียนไทยฯหาแนวทางลดผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยเงินเท่าเดิม งานเท่าเดิม

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า โครงการยังคงเดินหน้าเพื่อเซ็นสัญญา เนื่องจากโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ด้วยความเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก อาจจะต้องใช้เวลาเพื่อเคลียร์ทุกอย่างให้เสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง

เปรมชัยยอมรับงานหิน 

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อิตาเลียนไทยฯเป็นการออกแบบก่อสร้างโครงการให้ จึงต้องออกแบบก่อสร้างให้รับกับการส่งมอบพื้นที่ในแนวเส้นทางมีเวนคืนตรงไหน รื้อย้ายกี่หลัง ซึ่งอะไรที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟจะเป็นความรับผิดชอบรถไฟ เช่น ทุบตอม่อโฮปเวลล์ เพราะในราคาที่ยื่นประมูลไม่ได้เผื่อค่าส่วนนี้ไว้

“ยอมรับว่าเป็นการก่อสร้างที่ยากมาก ตอนนี้มีข้อยุติบ้างแล้ว ส่วนการเซ็นสัญญาขึ้นอยู่กับ ซี.พี.ผู้ถือหุ้นหลักและรถไฟ”

นายเปรมชัยกล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งเงินที่จะใช้ลงทุน ก็ทราบว่าทาง ซี.พี.มีแผนชัดเจนหมดแล้ว โดยรัฐบาลให้เวลาเอกชนผู้ลงทุนหลังจากเซ็นสัญญาก่อสร้างไปประมาณต้นปีหน้าจะต้องสรุปเรื่องเงินที่จะลงทุนให้ได้

“เราลงทุน 5% ก็ต้องควักทุนเหมือนทุกคน โดยใช้เงินหมุนเวียนในบริษัทเพราะไม่ได้ลงทุนทีเดียว เป็นการทยอยลงทุน ก้อนแรกประมาณ 400 ล้านบาทเราใส่ไปแล้ว ดูแล้วโครงการเดินหน้าเพราะ ครม.อนุมัติไปแล้ว เหลือสรุปเรื่องส่งมอบพื้นที่เพื่อจะให้การก่อสร้างไม่มีปัญหา เพราะรัฐไม่ให้เงินชดเชย ให้แต่เวลา ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ เรื่องอื่น ๆ ก็ไม่มีปัญหา สำหรับการก่อสร้างจะแบ่งดำเนินการกับ บมจ.ช.การช่าง และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น หรือ CRCC”

ถกรื้อย้ายสาธารณูปโภคไม่จบ

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ในฐานะประธานคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่ เปิดเผยว่า วันที่ 9 ส.ค.เชิญตัวแทนเจ้าของสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวเส้นทาง 8 ราย คือ บมจ.ปตท., บจ.ท่อส่งปิโตรเลียมไทย (Thappline), บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และการประปานครหลวง (กปน.) มาหารือเพื่อเคลียร์พื้นที่

ปัญหาที่ยังพบขณะนี้มี 2 จุดสำคัญ คือ จุดแรก บริเวณท่อน้ำมันและท่อก๊าซบริเวณคลองแห้งและโค้ง ถ.พระราม 6 ซึ่งเดิมทีมงานของรถไฟ ระบุว่า ช่วงโค้ง ถ.พระราม 6 มีท่อก๊าซบางส่วนของ FPT ทับแนวเส้นทางเป็นจุดตัด 2 จุด แต่ FPT ยืนยันในที่ประชุมว่า ไม่ได้มีจุดตัดดังกล่าว จึงมอบให้กลุ่ม ซี.พี.จัดทีมงานและจัดเตรียมข้อมูลลงไปสำรวจและเทียบกับ FPT

ส่วนช่วงคลองแห้งที่เป็นลักษณะขนานกับเส้นทาง 3 กม. เนื่องจากการวางท่อจุดนี้ได้ผ่านการทำรายงานวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หากจะต้องรื้อย้ายจริงก็ต้องทำรายงาน EIA ใหม่ ซึ่งใช้เวลาพิจารณารายงาน EIA ค่อนข้างนานมีลักษณะเดียวกันนี้อีก 1 โครงการ คือ สายไฟฟ้าแรงสูงที่ฝังไว้ใต้ดินหลายแห่งของการไฟฟ้าฯทั้ง 3 หน่วย ซึ่งกระจายไปตามแนวเส้นทางทั้งหมด 29 แห่ง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าการรื้อย้ายสาธารณูปโภคไม่ส่งผลต่อการลงนามในสัญญา แต่อาจจะมีผลกระทบกับระยะเวลาส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบ้าง บางจุดที่มีปัญหาอาจจะใช้เวลารื้อย้ายอย่างน้อย 2-3 ปี

ชงบอร์ดคัดเลือกเคาะ 15 ส.ค.นี้

“จะรายงานสภาพการณ์ปัญหาทั้งหมดให้ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เป็นประธานรับทราบในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือกลุ่ม ซี.พี.ต่อไป ส่วนจะเป็นมาตรการขยายกรอบเวลาการก่อสร้างหรือไม่ แล้วแต่ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณา”

ส่วนการขอกรอบวงเงินในส่วนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เหมือนกรณีย้ายผู้บุกรุกหรือไม่ มองว่าไม่จำเป็นเพราะเป็นเนื้องานที่เจ้าของสาธารณูปโภคจะต้องดำเนินการเอง เพราะมาดำเนินการบนที่ดินของการรถไฟฯเอง การรื้อย้ายระบบงานต่าง ๆ จึงไม่เกี่ยวข้องกับรถไฟ กลุ่ม ซี.พี.หรืออีอีซีแต่อย่างใด

ทยอยส่งมอบพื้นที่ 2-3 ปี 

เบื้องต้นสรุปพื้นที่จะใช้ก่อสร้างมีทั้งหมด 3,571 ไร่ รวมพื้นที่เวนคืนอีก 850 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 4,421 ไร่ จากเดิมที่ประเมินว่าต้องใช้พื้นที่ตลอด 2 ข้างทางร่วม 10,000 ไร่ ที่พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ หรือคิดเป็น 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ยังมีพื้นที่อุปสรรค 2 ส่วน คือ พื้นที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุกเบื้องต้น 513 ราย อาทิ ย่านประดิพัทธ์ 29 หลัง พระราม 6-พญาไท 81 หลัง หัวหมาก 27 หลัง วัดเสมียนนารี 32 หลัง บางละมุง 159 หลัง พัทยา-บ้านห้วยขวาง 95 หลัง เขาชีจรรย์ 3 หลัง

ที่เหลือกระจายไปอยู่บริเวณมักกะสัน คลองตัน 9 หลัง เขาพระบาท 30 หลัง บางแสน 1 หลัง ดอนสีนนท์ 2 หลัง พานทอง-ชลบุรี 10 หลัง ลาดกระบัง 15 หลัง คลองหลวงแพ่ง 13 หลัง และมีพื้นที่เช่า 83 สัญญา 210 ไร่ ส่วนสถานีมักกะสันส่งมอบได้100 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ รอรื้อบ้านพักพนักงาน ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะส่งมอบพื้นที่ใน 2-3 ปี

คลิกอ่านเพิ่มเติม… “ศักดิ์สยาม” ลุยรีวิวเมกะโปรเจ็กต์เสนอครม.อนุมัติเรียก “กุลิศ” แจงงานรถไฟเร่งส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดซี.พี. 

คลิกอ่าน…รฟท.เคลียร์ทุกปม! อุปสรรคไฮสปีด ย้ายท่อน้ำมัน สายไฟ ยันเสาโทรเลข

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!