รฟท.เคลียร์ทุกปม! อุปสรรคไฮสปีด ย้ายท่อน้ำมัน สายไฟ ยันเสาโทรเลข

แฟ้มภาพ

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า วันนี้(31 ก.ค.) ได้เชิญตัวแทนกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในฐานะเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกของโครงการหารือในเรื่องของการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคอีกครั้งหนึ่ง

โดยฝ่ายสำรวจของ ร.ฟ.ท. พบว่ามีระบบสาธารณูปโภคกีดขวางแนวเส้นทางมากกว่าเดิมที่เคยพบแค่ 16 จุด แบ่งเป็นจุดใหญ่ๆ

1. ท่อน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) 2 จุด จุดแรก ท่อน้ำมันวางขนานกับแนวเส้นทางบริเวณคลองแห้ง 3 กม. และอีกช่วงหนึ่ง ท่อบางส่วนทับแนวเส้นทางบริเวณโค้งถ.พระราม 6 เป็นจุดตัดอีก 2 จุด

2.ท่อน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) 1 จุด ขนานกับแนวเส้นทาง ช่วงลาดกระบัง กม. 68 มุ่งหน้าไปอู่ตะเภา เป็นแนวยาว 40 กม. และ 3. ท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1 จุด ทับแนวเส้นทางช่วงหน้าวัดเสมียนนารี – สนามบินดอนเมือง ระยะทาง 11 กม.

นอกจากท่อน้ำมันและท่อก๊าซ ยังมีสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( EGAT) กระจายตลอดแนวเส้นทาง 16 จุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 11 จุด ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มี 2 จุด คือ มีสายไฟแรงสูงที่ขนานกับเส้นทางช่วงสนามบินดอนเมือง 1 จุด และช่วง ลาดกระบังอีก 1 จุด

นายสุจิตต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาคารไซฟ่อน (คลองส่งน้ำ) ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บริเวณคลองสามเสนและท่อระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 1 จุด ทับแนวเส้นทาง 1 จุด และเสาโทรเลข ของ ร.ฟ.ท. ตั้งเป็นแนวยาว 77 กม. บริเวณลาดกระบัง

หลังจากนี้ จะให้ทางที่ปรึกษาและกลุ่ม CPH ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลที่ร.ฟ.ท.ได้มาอีกครั้งว่าตรงกันหรือไม่ และในวันที่5 ก.ค.นี้ ร.ฟ.ท.จะทำหนังสือเชิญกลุ่ม CPH และหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคต่างๆ มาประชุมหารือกันในวันศุกร์ที่ 9 ส.ค. ที่การรถไฟฯ คาดว่าอาจจะใช้เวลาประชุมทั้งวัน

ส่วนภาระการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หากจำเป็นต้องรื้อย้ายจริง ร.ฟ.ท.กับกลุ่ม CPH จะไม่ใช่ผู้ดำเนินการ แต่จะเป็นเจ้าของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการรื้อย้ายเองทั้งหมด ซึ่งจากเงื่อนไขตรงนี้ ก็ทำให้กลุ่ม CPH มีความกังวล ถึงระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างมากขึ้นไปอีก

“หากรวมการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ การส่งมอบพื้นที่ที่เคยมีความพร้อม 80% ก็อาจจะไม่ใช่ 80% แล้ว อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามคุยกับกลุ่ม CPH ว่า ถ้าบางช่วงของแนวเส้นทางสามารถเบี่ยงเพื่อให้พ้นจากระบบสาธารณูปโภคต่างๆได้ ก็ควรเบี่ยงเสีย แต่ก็ต้องรอดูข้อมูลของกลุ่ม CPH ด้วยว่าจะเห็นพ้องกับทางร.ฟ.ท.หรือไม่” นายสุจิตต์กล่าวทิ้งท้าย