27 ปี รฟม. ไม่หยุดขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า ยกระดับการเดินทางของคนกรุงและภูมิภาค

วันที่ 21 สิงหาคม 2562 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นวันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม. ครบรอบ 27 ปี โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร รฟม. ร่วมให้การต้อนรับผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มาแสดงความยินดีและมอบเงินบริจาคเพื่อร่วมสมทบทุนใน “มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี”

ทั้งนี้ รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2535 มีภารกิจในการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 27 นี้ มีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดบริการ มีสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค ที่มีกำหนดจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 29 กันยายน 2562 ปัจจุบันอยู่ในช่วงเปิดทดลองใช้บริการฟรี และจะเปิดให้บริการต่อเนื่องสำหรับช่วงเตาปูน – ท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563

ทั้งสองช่วงนี้จะช่วยเติมเต็มเส้นทางให้บริการเดิมของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ช่วงหัวลำโพง – เตาปูน เป็นแบบวงกลม (Circle Line) รองรับการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในได้โดยสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย อีกทั้งผู้โดยสารยังสามารถใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ช่วงคลองบางไผ่ – เตาปูน เพื่อเดินทางเชื่อมต่อไปยังปริมณฑล จ.นนทบุรี ได้อีกด้วย

รฟม.ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับการดำเนินงานก่อสร้างโรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ (งานโยธาแล้วเสร็จ ปี 2559) และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (งานโยธาแล้วเสร็จ ปี 2562) ปัจจุบัน รฟม.ได้ส่งมอบให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว เพื่อต่อขยายเส้นทางให้บริการเดิมของรถไฟฟ้า BTS ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน รฟม.ยังได้เร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในความรับผิดชอบสายๆ อื่น เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะเปิดให้บริการปี 2566, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เปิดให้บริการปี 2564 พร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง

สำหรับโครงการที่เตรียมจะเสนอขออนุมัติก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก), รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม)

ในปี 2562 นี้ รฟม.ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางรางของประเทศไทยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยผลักดันงานศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตภูมิภาค อีก 4 จังหวัด

ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง, โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง) ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี, โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (สายสีเขียว) ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง) ช่วง ม.พิษณุโลก – ห้างเซ็นทรัลฯ พิษณุโลก

ทั้งหมดเป็นภารกิจที่สำคัญของ รฟม. ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ สร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางที่สามารถกำหนดเวลาได้ ช่วยเพิ่มความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้ทางหนึ่ง ทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน