พิษเทรดวอร์ฉุดปริมาณเที่ยวบินประเทศไทยปีนี้โตแค่ 1%

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ปริมาณจราจรทางอากาศของประเทศไทย สะสมถึงเดือน ส.ค.2562 อยู่ที่ 964,322 เที่ยวบิน คาดว่าทั้งปี 2562 การจราจรทางอากาศจะอยู่ที่ 1,039,647 เที่ยวบิน เติบโตจากปี 2561 อยู่ที่ 1.2% ต่ำกว่าเป้า 6%  สาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และการปิดน่านฟ้าปากีสถาน

“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมายังไทย คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่สุด แต่ปีนี้ลดลงมาก ประมาณ 5-6 หมื่นเที่ยวบิน“

ทั้งนี้จากเศรษฐกิจจีนและอินเดีย และในภูมิภาคที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ยังส่งผลต่อปริมาณเที่ยวบินของประเทศไทยและปริมาณจราจรทางอากาศหนาแน่นมากขึ้นตามไปด้วย โดย บวท.ได้ปรับโครงสร้างเส้นทางบิน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ และการบริหารจัดการห้วงอากาศของชาติให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติการบินยิ่งขึ้น ซึ่งมีแผนปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบคู่ขนาน และมีการจัดการจราจรทางอากาศแบบทางเดียว (one-way route) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงและเปิดใช้งานไปแล้วในเส้นทางบินด้านใต้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

ซึ่งเส้นทางบินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่อยู่ในแผนการปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ เพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนเที่ยวบินประมาณ 30% ของปริมาณเที่ยวบินทั้งประเทศ (3,000 เที่ยวบิน/วัน) หรือมีปริมาณเที่ยวบินรวมอยู่ที่ 239,771 เที่ยวบินต่อปี เฉลี่ยวันละ 632 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยภาพรวมเติบโตอยู่ที่ 7.4%

ทั้งนี้ บวท.ได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบิน เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้กองทัพอากาศ พิจารณาเห็นชอบโครงสร้างเส้นทางบินดังกล่าว จากนั้น บวท.จะนำเสนอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณา

รวมทั้งเชิญสายการบินผู้ใช้บริการ มาทำความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติการบิน พร้อมทั้งจัดทำวิธีปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ก่อนที่จะประกาศใช้เส้นทางบินใหม่อย่างเป็นทางการต่อไป

ซึ่งการปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ของ บวท. นอกจากจะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และแผนพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รวมทั้งแผนของภูมิภาคอาเซียนตามแนวคิด ท้องฟ้าไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN Sky) ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยกระดับการให้บริการการเดินอากาศให้อยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อให้การส่งต่อการบริการจากน่านฟ้าหนึ่งไปยังอีกน่านฟ้าหนึ่ง เป็นไปด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแบบไร้รอยต่อ

ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมออกแบบเบื้องต้น เส้นทางการบิน รองรับการเปิดสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน ในปี 2565-2566 ซึ่ง ครม.ได้มีมติมอบให้ บวท.ดำเนินการบริหารการจราจรทางอากาศ คาดว่าจะลงทุนหอบังคับการบินประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยสนามบินอู่ตะเภามีแผนเปิดบริการในปี 2566 เมื่อเปิดให้บริการ จะมีปริมาณจราจรบางส่วนจากสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองที่เปลี่ยนไปใช้