ชง “ศักดิ์สยาม” หั่นตั๋วรถไฟฟ้าจัดโปรรายเดือน-ช่วง off peak ลดเหลือ20-25บาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 6 ก.ย.2562 จะมีประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยตนเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นต้น จะเคาะแนวทางการลดภาระค่าครองชีพเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาตามที่มีนโยบายสั่งการให้เร่งดำเนินการ โดยต้องไม่มีผลกระทบต่องบประมาณภาครัฐ

“ท่านรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาโดยมอบกรมการขนส่งทางรางเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีประชุมไป 2 ครั้ง ได้รวบรวมจัดทำข้อมูลการเดินทาง จำนวนผู้โดยสาร รายได้ รายจ่ายของผู้ดำเนินการของรถไฟฟ้าแต่ละราย ทั้งภาครัฐและเอกชนผู้รับสัมปทาน เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางในการลดค่าโดยสาร รวมถึงศึกษาข้อกฎหมาย เช่น กองทุนพลังงาน กองทุนภาษีป้ายทะเบียน เพื่อสนับสนุนลดค่าโดยสาร”

เบื้องต้นกรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างคำนวณกรณีการลดค่าโดยสารในรูปแบบต่างๆ เช่น กำหนดให้มีตั๋วเที่ยว ตั๋วเดือน ลดเพดานสูงสุดในช่วง off peak hour โดยเฉพาะเส้นทางที่รัฐเป็นเจ้าของ จะทำให้ขาดรายได้เท่าไหร่ รวมถึงกรณีที่เอกชนผู้รับสัมปทานสมัครใจให้ความร่วมมือโดยที่ไม่กระทบต่อสัญญา

“ในระยะเร่งด่วน ในส่วนของรถไฟฟ้า BTS สายหลัก จะส่งเสริมบัตรโดยสารประเภทรายเดือน และรายการส่งเสริมการเดินทางอื่นๆ ต่อเนื่อง ด้าน BTS ส่วนต่อขยายจะคงราคา 15 บาทตลอดสาย และจัดทำรายการส่งเสริมการเดินทางเพิ่ม ขณะที่สายสีน้ำเงิน ให้ รฟม.ศึกษาจัดทำบัตรโดยสารรายเดือนร่วมกับสายสีม่วง”

นายสราวุธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะให้แต่ละรถไฟฟ้าลดราคา ในช่วง off peak hour เช่น แอร์พอร์ตลิงก์จะลดเพดานอัตราสูงสุด 45 บาท เหลือไม่เกิน 25 บาทตามระยะทาง สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) จาก 14-42 บาทเหลือ 14-20 บาท ส่วนบีทีเอสและสายสีน้ำเงินอยู่ระหว่างที่เอกชนผู้รับสัมปทานนำหลักการไปพิจารณา เพื่อเสนอในที่ประชุมต่อไป

Advertisment

ทั้งนี้จากข้อมูลในปัจจุบันอัตราค่าโดยสารต่อเที่ยวของแต่ละระบบ เช่น สายสีน้ำเงินอยู่ที่ 25.08 บาท/เที่ยว สีม่วง 20.41 บาท/เที่ยว บีทีเอสสายหลัก 28.91 บาท/เที่ยว บีทีเอสส่วนต่อขยาย 16.08 บาท/เที่ยว แอร์พอร์ตลิงก์ 30.52 บาท/เที่ยว เมื่อรวมทุกระบบและคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 25.33 บาท/เที่ยว

ในระยะสั้น จะศึกษาการปรับลดค่าบริหารจัดการ และแนวทางการอุดหนุนค่าเดินทาง รวมทั้งโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม รวมถึงแนวคิดจะให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรรถไฟฟ้า 15,000 บาท ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลได้