อู้-นพปฎล พหลโยธิน แสนสิริแมน มือปั้นแบรนด์สิริเฮ้าส์

สัมภาษณ์พิเศษ

“ผมดูแลตั้งแต่ product development เราเปิดปีละ 30 กว่าโครงการ ยัน communication ของแต่ละโปรเจ็กต์ ดูแลตั้งแต่คอนเซ็ปต์จนถึง advertising เป็นยังไง จนถึงตัวลอนช์อีเวนต์ พยายามเข้าลึกถึงทุกโครงการให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

ผู้บริหารสายอาร์ต “อู้-นพปฎล พหลโยธิน” ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในบรรยากาศชิว ๆ บนโต๊ะอาหารสิริเฮ้าส์ ธุรกิจเสริมแบรนด์ด้วยงบฯลงทุน 40 ล้านบาทอยู่ในซอยสมคิด

หน้าที่สิริเฮ้าส์ ไม่ใช่เซลส์ออฟฟิศ ไม่ใช่ลานจัดอีเวนต์เปิดตัวโครงการแสนสิริ และไม่มีอะไรเป็นโมเดลจำลองของบ้าน-คอนโดมิเนียมในเครือเลย แต่จะเป็นโชว์รูมที่คนจะสัมผัสกลิ่นอายแสนสิริได้ที่นี่และสาขาสิงคโปร์

Q : ที่มาที่ไปสิริเฮ้าส์

แสนสิริน่าจะเป็นเรื่องเติมเต็มทางด้านไลฟ์สไตล์ เราพยายาม complete living and feeling โจทย์อาจไม่เหมือนกัน คนละเซ็กเมนต์ ลูกค้า ทาร์เก็ตต่างกัน หน้าตา โฉม ไม่เหมือนกัน เราไม่ได้มอบแค่อิฐ หิน ปูน ทราย แต่เราอยากให้สิ่งดี ๆ เข้าไปด้วย

ตอนเปิดสิริเฮ้าส์ 1-2 วันแรก ขนาดยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ แต่มีคนเข้ามาใช้บริการมีเสียงตอบรับดีมาก โซเชียลมีเดียกระแสมาไวมาก ยังไม่ได้ทำโปรโมชั่นอะไร คนจองเข้ามาเยอะมาก

เรื่องยอด ตัวเลขไม่ได้เป็นอะไรสำคัญมากกว่ายอด engagement

Q : อนาคตสิริเฮ้าส์เป็นบียูไหม

ไม่ได้เป็นประเด็นของเรา มันอยู่ทางด้านแบรนดิ้งมากกว่า ส่วนโอกาสจะเห็นสาขาที่ 2-3-4-5 ขอดูผลตอบรับ เพราะเป็นบ้านที่สองที่เปิด ถ้าผลตอบรับดี มองเห็นชัดเจน คนเอ็นเกจเยอะ ส่งผลให้แบรนด์ดีขึ้น เริ่มมีกระแสสนใจเข้ามาและเป็นผู้บริโภคอสังหาฯ

ในด้านตัวชี้วัดน่าจะเช่นเดียวกันกับสาขาสิงคโปร์ แนวโน้มตั้งแต่เปิดมาบุ๊กกิ้งเต็มทุกวัน สุดสัปดาห์แรกถ้าคนวอล์กอินเข้ามา แค่เห็นคนมีความรู้สึกดี ๆ ได้โมเมนต์ดี ๆ ได้ความทรงจำดี ๆ จากแสนสิริกลับไปผมว่าก็เป็นซักเซสแล้ว

ช็อปในสิงคโปร์ลงทุน 30 ล้าน ค่าก่อสร้างสูงมาก พื้นที่ทั้งหมด 350 ตารางเมตร ที่นี่ 1,600 ตารางเมตรรวมภายในและภายนอกอาคาร

Q : ไอเดียสิริเฮ้าส์มาจากไหน

ผมวางเอง ปั้นขึ้นมากับมือ ถามว่าไอเดียมาจากไหน…รู้สึกขึ้นมาเอง ได้เห็นมาเยอะจากการเดินทางท่องเที่ยวเอง ในต่างประเทศด้วย อยากนำมาแชร์กับคนที่นี่

ตั้งแต่ผมมาทำงานวันแรก ได้ตั้งไว้ว่าวันที่ลูกค้ารู้จักเรา ไม่จำเป็นต้องรอไปถึงวันแรกที่เขาตัดสินใจมาเป็นลูกบ้าน หรือมาซื้ออสังหาฯ แต่เราควรจะมี reach อะไรไปถึงเขาได้ เราควรจะมีอะไรที่เป็น voice box ที่เราสามารถพูดคุยกับเขาได้ สัมผัสกับเขาได้ อันนั้นเป็นโจทย์แรกเลย และเป็นที่มาที่ไปของสิริเฮ้าส์

Q : ในฐานะแหล่งแฮงเอาต์ เราแตกต่างยังไง (ซอยสมคิด)

ทั้งเมือง ผมว่าหาพื้นที่สีเขียวเยอะ ๆ ในเมือง ขณะเดียวกัน ใส่ขาสั้น รองเท้าลากแตะ เสาร์-อาทิตย์ร้อน ๆ อยากกระโดดลงน้ำไป แทบไม่มีที่อื่นเลย นอกจากเข้าโรงแรม หรือห้าง 5 ดาวหรู ๆ

ที่นี่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องหรูหรา top in class อะไรเลย อยากให้เป็นแหล่งสัมผัส อยากให้ได้ความรู้สึกดี ๆ กลับไป

ผมว่าเป็นความรับผิดชอบอันหนึ่งของอสังหาฯครับ ที่ไม่ใช่แต่ว่าจะเข้าไปแล้วเห็นพื้นที่สวย ๆ มีบ้านเล็ก ๆ อยู่ใจกลางเมืองแล้วจะไปทุบทิ้งสร้างให้เต็ม CFA 65.2% ขึ้นเซตแบบทำพื้นที่ขายได้เต็มที่

ความรับผิดชอบของแสนสิริ โอเค หน้าที่เราต้องไปหาที่ (ทำเล) ดีเวลอปเมนต์สร้างที่อยู่อาศัยขายอยู่แล้ว แต่บางทีต้อง give back บ้าง คืนกำไรให้กับสังคมบ้าง ให้พื้นที่เขียวที่เราได้เอาออกไปจากจุดโน้นจุดนี้

Q : อยากให้เป็นแหล่งเช็กอินของไฮโซ

ไม่ได้เน้นเลยครับ ไฮโซกับแสนสิริเป็นอะไรที่คู่เคียงกันมาตลอดอยู่แล้ว แต่ที่นี่ ผมอยากให้เป็นอะไรที่จับต้องได้มากกว่า ไม่ได้เน้นคนไทยอย่างเดียว แต่เน้นต่างชาติด้วย

ที่นี่เราเน้น F&B จะต้องดีจริง ๆ สำหรับคนรักทานอาหารอร่อย กาแฟของเราจะต้องดีที่สุดสำหรับคนที่รักกาแฟ

นอกจากนั้นแล้ว วัยรุ่นที่ชอบไวนีล ? คุณป้าที่ชอบจัดดอกไม้ หนอนหนังสือ นี่ล่ะ เป็นเหตุผลที่เราจัดโปรแกรมที่นี่

เราจะจัดโปรแกรมที่ไฮโซอาจไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ ผมจะจัดเวิร์กช็อปให้คนมานั่งย้อมทำคราม หรือนั่ง meditation หรือนั่งดูหนัง documentary ที่สำหรับไฮโซแล้วอาจน่าเบื่อมากเลย

แต่สำหรับคนที่ country engage…มันมีหลายโปรแกรมที่เราจัด ไม่ได้มีขาย F&B (food & beverage) อย่างเดียว แต่เราจัดโปรแกรมแน่นมากตลอดปี

ลูกค้าต่างชาติส่วนมากจะเป็นคนที่มาท่องเที่ยว และเป็นคนที่อยากเข้าถึงกรุงเทพฯ จริง ๆ ใช้ชีวิตและสัมผัสกับคนกรุงเทพฯ ว่าที่นี่มีอะไรใหม่ ๆ และน่าสนใจด้วย

Q : อยากให้ลูกค้าจำภาพยังไงสโลว์ไลฟ์

ภาพจำที่นี่เหรอครับ เป็นอะไรที่…สโลว์ไลฟ์ก็พูดได้นะครับ เป็นพื้นที่เขียวที่ผมเข้ามาหนแรกที่บ้านนี้แล้ว รู้สึกเลยว่าเป็นอะไรที่ปล่อยวาง เหน็ดเหนื่อย เคร่งเครียดจากงานจากอะไร ได้มาชิลได้มาสัมผัสอะไรดี ๆ ความทรงจำดี ๆ กลับไป

เงินลงทุน 40 ล้านส่วนใหญ่ใช้ไปกับงานตกแต่งก่อสร้างล้วน ๆ เลย ตอนนี้เราพัฒนาบ้านเล็ก ๆ ที่มีอายุ 50 กว่าปีขึ้นมา ต้องรองรับงานระบบ งานครัว ต้องเซฟฟีเจอร์บ้านนี้ด้วย ทำสวน ก่อสร้างเพิ่มเติม

เราทำสัญญาเช่ากับครอบครัวเจ้านาย ราชสกุลพระโอรส ร.4 เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ต้องบอกว่าไม่ได้เช่าเพราะใครเป็นเจ้าของ แต่มาเห็นบ้านแล้วหลงใหล

รู้จักกับเพื่อนบ้านแถวนี้ มีไอเดียเฮาส์มาก่อน หาบ้านมาหลายเดือนมาก 6-7 เดือน (สิริเฮ้าส์เปิดบริการเดือนมีนาคม 2562) คอนเซ็ปต์บ้านมาแล้ว หาไปทั่วเลยไม่มีเลย หลังนี้เห็นครั้งแรกแล้วถูกใจเลย

Q : แผน 5 ปี มีภาพใหญ่อะไรอีกไหม

แผน 5 ปี อย่างน้อยเราคงยื้อไปนานกว่า 5 ปีสำหรับตรงนี้ เป็น always voice box เป็นอะไรที่ลงทุนแล้วคุ้มค่ากว่า บางทีอสังหาฯ จัดไม่กี่อีเวนต์ก็ปาเข้าไป 40 ล้านแล้ว แต่อันนี้เป็น 40 ล้านที่เราพูดได้ทุกวัน เอ็นเกจได้ทุกวัน ไม่ใช่จัดงานแค่ 3 ชั่วโมง บางทีจบไปแล้ว (ใช้เงิน) 5-10 ล้านก็มี

สมมุติ 40 ล้าน ถ้า 10 ปีตรงนี้เฉลี่ยปีละ 4 ล้านเท่านั้นเอง ไม่เยอะเลยถ้าเทียบกับ 40 ล้านเอาไปโยนใส่งานอีเวนต์ครั้งเดียว แต่ตรงนี้ปีละ 365 วัน

หลัก ๆ ผมอยากมาอิมพรูฟด้านตัวโปรดักต์ด้วย สำคัญที่สุดเลย เพราะในที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะทำทางด้านมาร์เก็ตติ้ง แบรนดิ้งกันแค่ไหน แต่สุดท้ายตัวที่จะวัดก็วัดที่โปรดักต์เลย ถ้าผมลงไปช่วยปั้น ลงไม้ลงมือช่วยปั้นกับโปรดักต์ด้วย แน่นอน จะมีโปรดักต์ที่ดีขึ้นมาภายใน 5 ปี น่าจะเป็นอะไรที่ครองใจลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้มากที่สุด

และเราจะมีโปรเจ็กต์อินเตอร์เนชั่นแนล ดีไซเนอร์ บิลด์แบรนด์ไปต่างประเทศ โดยการเอ็นเกจดีไซเนอร์จากยุโรป อเมริกา มาทำดีไซน์ให้เรา

Q : สิริเฮ้าส์ดันยอดขายแสนสิริกระเตื้องได้ยังไง

ผมว่ากระเตื้องอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคสัมพันธ์ด้วย แน่นอนจะช่วยในการตัดสินใจ ต้องมองภาพรวม ๆ กับมาร์เก็ตติ้งด้านอื่น ๆ มาเสริม ไม่ใช่มาไดรฟ์เซลส์อย่างเดียว

สิริเฮ้าส์เป็นหนึ่งในตัวช่วยภาพรวมเป้าตัวเลข 1.6 แสนล้านบาทใน 3 ปีหน้า