ทอท.เปิดศึกยก 2 “เซ็นทรัล” ฝ่าด่านโจทย์ใหม่กฎการบิน

ศึก ทอท.-เซ็นทรัล วิลเลจยังไม่จบ ลุยต่อยกสอง ทอท.ส่งข้อมูลด้านความปลอดภัยการบินระดับสากล จับตาผลตรวจสอบ TSA-EASA-ICAO เตรียมอุทธรณ์ต่อศาลปกครองป้องสิทธิองค์กร กพท.ยันไม่กระทบแนวขึ้นลง เคาะแล้ว “ธนารักษ์” เป็นเจ้าของถนน 370 หากขึ้นโปรเจ็กต์ใหม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมทาง

แหล่งข่าวในธุรกิจการบินรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากข้อพิพาทระหว่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กับเซ็นทรัล วิลเลจ โครงการลักเซอรี่เอาต์เลตของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น ล่าสุด ทอท.ได้รายงานข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านการบินให้ตรวจสอบในหลาย ๆ ประเด็น

อาทิ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA), Transportation Security Administration (TSA) หน่วยงานด้านความปลอดภัยการเดินอากาศของสหรัฐอเมริกา, องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAATเนื่องจาก ทอท.ยังมีข้อสงสัยและห่วงเรื่องความปลอดภัยทางการบินที่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการบินของไทย อาจนำมาซึ่งปัญหาธงแดง กระทบอุตสาหกรรมการบินของประเทศ

“หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถเยียวยาได้ ยากที่จะตีเป็นมูลค่าความเสียหาย ที่สำคัญรายงานของ TSA เมื่อเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้เปิดให้บริการ จึงไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ที่ตั้งโครงการนั้นเป็นจุดเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางด้านการบินหรือไม่ แต่ กพท.ระบุว่า ประเด็นนี้ทาง TSA ให้ข้อมูลว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ จึงไม่มีผลใด ๆ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้คือ หลังจากที่ TSA เก็บข้อมูลทำรายงานฉบับเต็ม จะส่งกลับมาอีกครั้งปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่เอียซ่าหรือไอเคโอก็มีรอบการตรวจสอบไว้เช่นกัน จึงน่าจับตาในยกที่สองผลจะออกมาอย่างไร

ทอท.ห่วงความปลอดภัย

ด้าน นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ทอท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.กังวลมากที่สุดตั้งแต่แรกคือเรื่องความปลอดภัยด้านการบิน แม้โครงการดังกล่าวจะขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องตาม พ.ร.บ.ผังเมือง แต่โครงการนี้อยู่ในพื้นที่ใกล้หัวรันเวย์ระยะทางแค่ 1.8 กม.เท่านั้น

ขณะที่เขตรัศมีความปลอดภัยตามหลักสากลระบุว่า กิจการหรืออาคารสูงควรอยู่ห่างจากรัศมีหัว-ท้ายรันเวย์ไม่น้อยกว่า 15 กม. ห่างจากรัศมีซ้าย-ขวาของรันเวย์ไม่ต่ำกว่า 8 กม. และตั้งแต่ 27 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จนถึงปลายเดือนมีนาคม 2563 ตารางการบินจะปรับสู่ตารางการบินฤดูหนาวที่ส่งผลต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน การเปลี่ยนเส้นทางขึ้นลงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแน่นอน

“ปัจจุบันนี้เราบินในตารางบินฤดูร้อน เครื่องจะร่อนลงฝั่งมอเตอร์เวย์ และขึ้นฝั่งเซ็นทรัล วิลเลจ แต่ถ้าเข้าสู่ตารางบินฤดูหนาวเครื่องจะเปลี่ยนมาขึ้นทางมอเตอร์เวย์ แล้วร่อนลงทางเซ็นทรัล วิลเลจ ประเด็นใหญ่คือเครื่องบินขนาดใหญ่ต้องลดระดับการบินและร่อนลงหัวรันเวย์ ซึ่งห่างจากเซ็นทรัล วิลเลจไม่ถึง 2 กม. ซึ่งแสง เสียง นกบินอาจส่งผลกระทบมาก” นายนิตินัยกล่าว

แต่ ทอท.ไม่ได้มีบทบาทดูเรื่องความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ทำได้เพียงรายงานถึงปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่วนบทบาทด้านความปลอดภัยนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) หากนักบินพบปัญหา หรือความผิดปกติก็จะรายงาน AIP Thailand (Aeronautical Information Publication) จากนั้น ICAO, TSA จะทำหน้าที่ตรวจสอบตามรายงานของนักบิน

“การรายงานข้อสงสัยได้ถูกรายงานเป็นทอด ๆ ฉะนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจะเป็นข้อสงสัยในระดับสากลต่อไป”

สิ่งที่ ทอท.กังวลคือ ปัญหาความผิดปกติในพื้นที่รัศมีความปลอดภัยทางการบินนี้จะไปอยู่ในรายการ AIP Thailand ของนักบินและไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถเยียวยาได้ แต่ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบชี้ขาดว่าปลอดภัย ทอท.ก็พร้อมบริหารงานต่อไป และอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสิ้นเดือนนี้ หรือภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อรายงานเหตุผลที่ ทอท.ดำเนินการไปช่วงก่อนนี้

ยันไม่กระทบแนวขึ้นลง

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.กล่าวยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ไม่มีผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน เพราะได้ตรวจสอบระยะแนวร่อนขึ้นลงของเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งสูงห่างจากเซ็นทรัล วิลเลจ 1.8 กม. แม้ปลายปีนี้จะมีเที่ยวบินมาจากด้านใต้ของสนามบินเป็นจำนวนมากก็ไม่มีผลกระทบที่ ทอท.จะนำหน่วยงานต่างประเทศมาตรวจสอบเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่มีผลต่อการตรวจสอบของ ICAO ที่ดูมาตรฐานโดยรวมทั้งหมด ไม่เฉพาะเจาะจงแค่เซ็นทรัล วิลเลจอย่างเดียว

“ตอนนี้รอเซ็นทรัลส่งรายงานอีเวนต์และมาตรการป้องกัน เช่น กิจกรรมดึงดูดนก แสงไฟที่ส่งผลต่อนักบิน โดยให้เวลา 60 วันจาก 6 กันยายนที่ผ่านมา และ กพท.กำลังร่างประกาศเพิ่มตามมาตรา 59/2 (4) พ.ร.บ.ทางเดินอากาศ 2562 ที่ปรับปรุงใหม่”

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า เคยบินทดสอบตามแนวร่อนขึ้นลงเครื่องบินด้านทิศใต้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระดับความสูงของอาคารเซ็นทรัล วิลเลจไม่มีผลกระทบต่อการเดินอากาศลงสู่สนามบิน ยกเว้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

“การขึ้นลงเครื่องบินที่สุวรรณภูมิเป็นไปตามทิศทางลม ส่วนใหญ่จะร่อนลงทิศเหนือเป็นหลัก 11 เดือน ลงด้านใต้ 1 เดือน ส่วนด้านใต้ที่ใช้บินขึ้นอาจมีเสียงค่อนข้างดัง”

นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานแก้ปัญหาข้อพิพาททางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 สายทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระหว่าง ทอท.กับเซ็นทรัล วิลเวล ได้ข้อสรุปว่า ถนนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ โดยให้กรมทางหลวงและกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นผู้ใช้พื้นที่ร่วมกัน ดังนั้นเซ็นทรัล วิลเลจจะต้องขออนุญาตเชื่อมทางเข้าออกโครงการใหม่กับกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมจะคิดค่าเชื่อม จากเดิม ทล.ให้เชื่อมฟรี


รายงานข่าวจาก บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ชี้แจงกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และพร้อมจะให้ความร่วมมือทุกฝ่าย ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า การเปิดดำเนินการจะกระทบต่อความปลอดภัยทางการบินนั้น ทั้งการจัดอีเวนต์ การใช้แสง รูปแบบอาคาร ฯลฯ ที่ผ่านมาบริษัทได้แก้ไขทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับแล้ว