ศาลไม่รับอุทธรณ์ทอท.คุ้มครองชั่วคราว คดีตั้งสิ่งกีดขวางเปิด “เซ็นทรัลวิลเลจ”

ศาลปกครองสูงสุดไม่รับอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณี “เซ็นทรัลวิลเลจ” ชี้คำฟ้องมีมูล-เข้าเงื่อนไขออกคำสั่ง-ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารของ ทอท.

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คดีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 1914/2562 กรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายกับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ บจ.ซีพีเอ็น วิลเลจ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในโครงการ “เซ็นทรัลวิลเลจ ลักซูรี่ เอาท์เล็ต”

โดย ทอท.ยื่นอุทธรณ์ว่า ที่ดินของโครงการที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของ ทอท. การที่เซ็นทรัลจะทำทางเชื่อมเข้า-ออกโครงการจะทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศและแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

ประกอบกับการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น จะต้องมีเงื่อนไขก่อนที่จะออกคำสั่งดังกล่าวก่อน 3 ข้อด้วยกันคือ 1.คำฟ้องมีมูล 2.มีเหตุเพียงพอที่จะนำมาตรการหรือวิธีคุ้มครองชั่วคราวมาบังคับใช้ก่อนมีคำพิพากษา และ 3.ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐด้วย

ศาลพิเคราะห์เห็นว่า เงื่อนไขข้อที่ 1 คำฟ้องมีมูลนั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่า บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 154871 และโฉนดที่ดินเลขที่ 154873 ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งติดกับทางหลวง 370 จริง และได้ให้ บจ.ซีพีเอ็น เช่าที่บางส่วนเพื่อพัฒนาโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ และบมจ.เซ็นทรัลพัฒนาได้ขออนุญาตทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงเป็นการชั่วคราวจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินตามหนังสือลงวันที่ 24 ก.ค. 2562 เรียบร้อยแล้ว การที่ ทอท.ปิดกั้นทางเข้าออกโครงการ โดยอ้างว่าอยู่ในความดูแล เพราะเป็นที่ราชพัสดุนั้น

ศาลเห็นว่า บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้ง ทอท.เองก็เคยมีหนังสือลงวันที่ 16 พ.ย.2561 ขออนุญาตกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก เมื่อ ทอท.นำเต็นท์มาตั้งขวางทางเข้าออก รวมถึงไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ทางเชื่อมดังกล่าวเขาสู่ที่ดินโครงการ ย่อมทำให้บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ และ บจ.ซีพีเอ็น วิลเลจ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ คำฟ้องจึงมีมูล

ส่วนเงื่อนไขที่ 2 จากการที่ ทอท.ปิดกั้นทางเข้าออกของโครงการ กรณีนี้เห็นได้ว่า ทอท.ตั้งใจกระทำซ้ำ หรือกระทำต่อไปซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง อันจะทำให้ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา และ บจ.ซีพีเอ็น วิลเลจ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไป เนื่องจากการกระทำของ ทอท. จึงถือว่ามีเหตุเพียงพอที่จะใช้วิธีคุ้มครองตามที่ขอมาได้

และเงื่อนไขที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐนั้น ศาลยังต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานอยู่ว่า ทอท.มีอำนาจไม่อนุญาตให้ทำทางเชื่อมทางหลวงดังกล่าวได้หรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงปรากฎเบื้องต้นว่า บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เพียงขอเปิดใช้ทางเชื่อมดังกล่าว เพื่อให้ยานพาหนะสามารถผ่านเข้าออกและขอใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อประกอบกิจการเท่านั้น ยังไม่ได้ถึงขั้นขัดวาง หรือรบกวนการปฏิบัติงานของ ทอท.

ส่วนที่อ้างว่า ทางเชื่อมดังกล่าวจะทำให้ปริมาณจราจรหนาแน่น กระทบกับผู้ใช้งานสนามบิน ซึ่งจะกระทบกับมาตรฐานการให้บริการ และแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ของ ทอท. ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น และยังสามารถป้องกันแลแก้ไขได้ จึงยังไม่พอฟังว่า การทำทางเชื่อมดังกล่าว จะทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของ ทอท. และการอ้างว่าโครงการดังกล่าวอยู่ใกล้กับทางขึ้นลงของสนามบิน จะกระทบความปลอดภัยในการเดินอากาศ ก็เป็นเรื่องของการก่อสร้างอาคาร อยู่คนละส่วนกับการทำทางเชื่อมที่พิพาทกันในคดีนี้ ดังนั้น คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนหน้านี้ จึงไม่เป็นการเสียหาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของ ทอท. อุทธรณ์ของ ทอท.จึงฟังไม่ขึ้น

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้ ทอท.รื้อถอนสิ่งกีดขวางใดๆ ออกไปจากเขตทางหลวง 370 บริเวณทางเข้าออกโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ และยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการกีดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ใดๆ ของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาและ บจ.ซีพีเอ็น วิลเลจ และการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น