เผยสร.กทพ. แถลงกดดันบีบพนักงานไล่บอร์ด-ปมต่อสัมปทานทางด่วน

แฟ้มภาพ

นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(สร.กทพ) เปิดเผยว่า น่าผิดหวังกับแถลงการณ์ของ สร.กทพ. ที่ล่าสุด ออกมาคัดค้านการต่อระยะเวลาของสัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยอ้างมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ สร.กทพ. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้คัดค้านการต่อระยะเวลาของสัญญาสัมปทน เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทและคดีที่มิได้มีกฎหมายใดรองรับอย่างถึงที่สุด

ทั้งยังระบุว่าหากมีการกล่าวอ้างหรือดำเนินการใดๆ โดยขัดซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าว หรือการดำเนินการนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อมติที่ประชุมใหญ่ สร.กทพ.ขอสงวนสิทธิดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายกับบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นๆ อย่างถึงที่สุด

เนื่องจากแถลงการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามปิดกั้นความเห็นของพนักงานที่เห็นแตกต่าง ทั้งที่ทุกคนเองเป็นพนักงานของ กทพ. และเป็นสมาชิก สร.กทพ.ด้วย ทั้งนี้ขอให้พิจารณารายละเอียดว่าการเคลื่อนไหวของพนักงานกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้ต่อต้านมติของสร.กทพ. ที่จะคัดค้านการต่อสัมปทานให้ถึงที่สุด เพียงแต่ต้องการให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ยุติโดยเร็ว ไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อองค์กร

นายชาญชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งประธาน สร.กทพ. ได้ยึดแนวทางการเปิดกว้างทางความคิด รับฟังผู้ที่เห็นต่าง แต่เคารพมติเสียงข้างมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาในลักษณะข่มขู่ คุกคาม นอกจากนี้ ยังทราบว่ามีความพยายามกดดันผู้บังคับบัญชาของพนักงาน ให้ร่วมลงชื่อขับไล่บอร์ด กทพ. ที่มีมติต่อสัญญาสัมปทาน หากใครไม่ลงชื่อ จะมีมาตรการกดดัน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม

“ต้องขอความเป็นธรรมให้พนักงานชั้นผู้น้อย ที่เป็นห่วงใยองค์กรและสวัสดิการของพนักงานด้วยกันเอง ที่พยายามเคลื่อนไหวอยากให้ปัญหาทั้งหมดยุติ ส่วนเรื่องจะขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่เป็นเรื่องของบอร์ด พนักงานไม่ได้ขัดแย้งกับสร.กทพ. และต้องเข้าใจด้วยว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ กทพ. หรือ สร.กทพ. ทุกคนเป็นสมาชิก มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลได้จึงขอให้ยุติการคุกคามกดดัน” นายชาญชัย กล่าว

รายงานข่าวจาก กทพ. แจ้งว่า สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังบอร์ด กทพ. มีมติให้เสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบการขยายสัมปทานทางด่วนให้กับ BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการยุติข้อพิพาททางด่วน 17 คดี รวมวงเงินข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท โดยมีพนักงาน กทพ.บางส่วนต้องการเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมยุติปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายให้องค์กร และกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของพนักงาน