“ถาวร” ปั้นกระบี่ Smart Airport พลิกที่ดินสนามบินภูธรหารายได้เชิงพาณิชย์ชดเชยขาดทุน

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้กับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในเรื่องของงบประมาณปี 2563 ที่เพิ่งผ่านสภาได้กำชับให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และต้องทำ Action Plan ให้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องทำคำของบประมาณปี 2564 ให้พร้อมเสนอ‪ในวันที่ 15 ม.ค.‬นี้ด้วย
จี้ฟันธงสนามบินนครปฐม-พัทลุง
ส่วนการบริหารจัดการและการพัฒนาสนามบิน ได้สั่งการว่า โครงการพัฒนาสนามบินเบตง จ.ยะลา จะต้องสร้างให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมกันนี้ก็ให้เร่งสรุปความพร้อมโครงการสนามบินนครปฐมกับสนามบินพัทลุงว่ามีความพร้อมที่จะก่อสร้างหรือไม่ เพื่อตอบคำถามสังคมให้ได้ ส่วนแผนบริหารสนามบินต่างๆจะต้องริเริ่มทำแผนบริหารจัดการน้ำของแต่ละสนามบิน ทั้งน้ำท่วม น้ำหลาก และน้ำแล้ง ต้องเตรียมความพร้อม
ทั้งนี้ สนามบินที่มีผลประกอบการติดลบ มีอยู่ประมาณ 10 แห่ง ก็ให้ ทย. หาช่องทางต่างๆ ทั้งการลดค่าใช้จ่าย หาผลประโยชน์การนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานอื่น เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเพิ่มรายได้ให้มีประสิทธิภาพ
อีกด้านหนึ่ง ด้านบุคลากรก็ให้เตรียมความพร้อมพนักงานที่เป็นนายท่า พัฒนาสู่การเป็นผู้บริหารสนามบิน เนื่องจากอีก 20 เดือนจะมีนายท่า ผอ.ท่าและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เกษียณอายุราชการจำนวน 15 คน จึงต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการสอบใบอนุญาตผู้ทำหน้าที่ผอ.สนามบิน
ปั้น”กระบี่”เป็น Smart Airport
 
ขณะที่แนวทางการพัฒนาให้สนามบินมีความทันสมัยหรือ Smart Airport ซึ่งปัจจุบัน ทย.มีอยู่ 29 สนามบิน ต้องทำให้เชื่อมไทยเชื่อมโลก แต่เบื้องต้นเอาแค่ประเทศใกล้เคียงในแถบ CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์-เวียดนาม) ก่อน
ในการทำสนามบินให้เป็น Smart Airport ได้สั่งการไปว่า อย่างน้อยต้องนำร่องให้ได้ 1 สนามบินก่อน ซึ่ง ทย.รายงานว่าสนามบินที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ คือสนามบินกระบี่ ซึ่งปัจจุบันมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวได้ 4 ล้านคน/ปี แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2 ล้านคน/ปี , นักท่องเที่ยวภายในประเทศ 1 ล้านคน/ปี และผู้โดยสารทั่วไป 1 ล้านคน/ปี และจากการให้คะแนนของหน่อยงานต่างๆพบว่า สนามกระบี่เริ่มมีคะแนนที่ไล่กับสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จึงเห็นว่าสามารถทำให้ได้มาตรฐานได้
ต่อมา นโยบายยกระดับสนามบินเป็นแหล่งธุรกิจการบิน สิ่งที่ให้ ทย.พิจารณาคือ พนักงานทุกระดับต้องมี Service Mind , ระบบรักษาความปลอดภัยต้องได้มาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) , ทุกคนสามารถใช้บริการได้ ทั้งผู้พิการ ผู้สูงวัย และเด็กเล็ก , ระบบติดตามโรคระบาดที่แพร่กระจายมาจากหลายทาง ต้องเร่งป้องกันทันที และต้องเชื่อมโยงทุกเครือข่ายการเดินทาง นอกจากนี้ในปี 2564 จะต้องสร้างรั้วที่ได้มาตรฐานให้ครบทุกสนามบิน
ทำแผนหารายได้เชิงพาณิชย์
 
นอกจากนี้ ทย. จะต้องบริหารจัดการสินทรัพย์และที่ดินที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ดินที่ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์ต้องนำมาใช้ประโยชน์ รวมถึงจะต้องทำสนามบินให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งสนามบินบางแห่งมีคาร์โกอยู่แล้ว เช่นที่ สนามบินกระบี่ และสนามบินอุดรธานี ให้ไปสำรวจว่า มีพื้นที่ใดที่มีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ผลิตเป็นจำนวนมากพอที่พร้อมจะส่งออก เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล ก็ต้องมีที่เก็บ ซึ่งมีกฎหมายของกรมธนารักษ์ที่ต้องปฏิบติตามอยู่แล้ว
หลังจากนี้ จะให้ทย.ไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการพัฒนาเชิงพาณิชย์มีหลายรูปแบบ ทั้งทำโรงแรม, Co-Working Space หรือใช้พื้นที่ภายในสนามบินทำร้านค้า อาคารจอดรถเก็บค่าบริการ หรือแม้แต่ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) เป็นต้น และต้องศึกษาทุกสนามบิน เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีความเหมาะสมแตกต่างกัน บางที่ก็อาจจะทำไม่ได้ แต่มองว่าที่ที่มีศักยภาพ เช่น สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี