“อธิรัฐ” จี้ “ท่าเรือ” เข้มตรวจเรือทุกสัญชาติสกัดไวรัสโคโรน่า-สั่งเพิ่มเครื่องฉีดน้ำสู้ฝุ่นพิษ

“อธิรัฐ” จี้ “ท่าเรือ” ตรวจเรือทุกลำทุกสัญชาติ อย่าเน้นแค่จีน แนะตรวจย้อนหลังเรือเดินทาง 10 ท่า สกัดโคโรน่า แจงไม่ทิ้ง PM2.5 เร่งเสริมเครื่องฉีดน้ำจับฝุ่นให้ครบทุกประตูเข้า-ออกท่าเรือและให้เผื่อแผ่ชุมชนโดยรอบด้วย

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เร่งรัดนโยบายของรัฐบาลเฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (Novel Coronavirus) และการแก้ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐาน

โดยให้ กทท.ทำจุดตรวจคัดกรองให้ครบทุกท่าทั้งท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ โดยขอกำลังคนจากกองควบคุมโรค เพื่อตรวจเรือให้ครบทุกลำทุกสัญชาติ จากเดิมที่เน้นเฉพาะท่าเรือที่มีคนจีนเดินทางมา และเรือที่จะเข้าเทียบท่าจะต้องรายงานประวัติการเดินทางย้อนหลัง 10 ท่าขึ้นไป หากพบว่ามีประวัติเดินทางเข้าประเทศจีน ก็จะทำการตรวจเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยท่าเรือที่มีจำนวนเที่ยวเรือที่เคยเดินทางเข้าประเทศจีนมากที่สุดคือ ท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย

 

ส่วนท่าเรือกรุงเทพ จะมีจุดคัดกรองล่วงหน้า 1 จุดคือ ที่ศาลากลาง จ.สมุทรปราการ โดย กทท.ดำเนินการเฝ้าระวังพาหนะ ลูกเรือที่มาจากพื้นที่ระบาดหรือพื้นที่เสี่ยง ตั้งแต่ 2 ม.ค. – ปัจจุบัน พบว่ามีเรือที่เดินทางมาจากจีนจำนวน 5 ลำ มีคนประจำเรือ 92 คน โดยเดินทางมาจาก 4 เมืองท่าของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ชีเกา ซานเจียง และนิงโบ และจากการเฝ้าระวังไม่พบลูกเรือป่วยหรือสงสัยว่าป่วยแต่อย่างใด

สำหรับขั้นตอนการคัดกรอง จะใช้การตรวจด้วยการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบยิงที่หน้าผากเป็นหลัก เนื่องจากการ กทท.ชี้แจงว่า หากใช้เครื่องเทอรโมสแกนรูปแบบเดียวกับสนามบิน จะเกิดความลำบาก เราจะต้องให้ลูกเรือทุกคนลงมาจากเรือทั้งหมด แล้วจึงให้เดินเข้าเครื่องสแกนทีละคน บวกกับบนเรืออยู่ในเครื่องปรับอากาศ เมื่อลงมาจากเรือปะทะกับอากาศร้อน อาจจะทำให้ลูกเรือป่วยไข้ และการวัดผลไม่เที่ยงตรงได้

ดังนั้น การเฝ้าระวังที่ด่านควบคุม หากพบผู้ป่วยที่มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส และมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ร่วมกับมีประวัติในช่วง 14 วันก่อนป่วย คือเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด, อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด, ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน และสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ก็จะทำการคัดกรอง เพื่อนำไปไว้ในสถานกักกันโรคต่อไป

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหา PM2.5 ให้ กทท.เพิ่มจุดปล่อยฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่น ทั้งบริเวณประตูเข้า-ออกท่าเรือ และบริเวณชุมชนโดยรอบท่าเรือ เพื่อไม่ให้มีปริมาณรถบรรทุกที่ก่อมลพิษออกไปแพร่กระจายฝุ่นสู่ภายนอก และต้องติดตั้งภายในอาคารที่ทำการของ กทท.ด้วย เพื่อบรรเทาปัญหาให้พนักงานและสหภาพฯ

สำหรับมาตรการที่ กทท.รายงานให้ทราบประกอบด้วย

1. ดำเนินการตรวจวัดค่าฝุ่นที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง

2. ฉีดพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นทุกท่าเรือ แต่ในส่วนท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง ไม่พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

3. ดูดฝุ่น ล้างถนนภายในท่าเรือกรุงเทพทุกวัน ในเวลา 9.00 -11.00 น.

4. ตรวจจับควันดำร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบังตรวจรถไปแล้ว 1,875 คัน ผ่านมาตรฐาน 1,855 คัน และไม่ผ่านมาตรฐาน 20 คัน

5. ดำเนินการทยอยเปลียนรถเครื่องมือทุ่นแรงมาใช้พลังงานไฟฟ้า

และ 6. ดับเครื่องรถเครื่องมือทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน