เปิดแผน “คมนาคม” สู้ฝุ่น PM 2.5 เก็บภาษีมลพิษ-รถเก่า-หนุนใช้รถ EV

เข้าสู่ปี 2563 ยังไม่ถึงเดือนดี “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ต้องเจอมรสุมฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 คลุ้งไปทั่วประเทศ ซึ่งหมุนเป็นวงรอบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ถึงปีนี้ ที่ดีกรีเข้มข้นกว่าทุกครั้ง

หลังถูกกระแสสังคมวิพากษ์การทำงานอย่างหนักหน่วง ล่าสุด “รัฐบาล” เริ่มขยับออกมติคณะรัฐมนตรียกระดับมาตรการแก้ปัญหา 12 มาตรการ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่ง “กระทรวงคมนาคม” ได้ร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนป้องกันปัญหา

5 มาตรการเร่งด่วน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) วันที่ 23 ม.ค. 2563 กำหนดมาตรการให้กระทรวงคมนาคมปฏิบัติตาม 5 ประการ 1.จัดหาเครื่องมือตรวจควันดำแบบทึบแสงให้เพียงพอ

2.ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งด่านตรวจจับรถควันดำให้ครบ 50 จุดทั่วกรุงเทพฯ 3.ให้ส่วนราชการทุกหน่วยตรวจยานพาหนะของตัวเองไม่ให้มีควันดำ 4.ให้ส่วนราชการพิจารณาปรับการทำงานแบบเหลื่อมเวลา และ 5.ให้ข้าราชการลดใช้รถส่วนบุคคลและส่งเสริมให้มาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะในการเดินทาง

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานในที่ประชุม กก.วล.รับทราบว่า ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2562-22 ม.ค. 2563 ได้ตรวจรถควันดำไปแล้ว 57,971 คัน เป็นรถควันดำเกินกฎหมายกำหนด 1,087 คัน โดยรถที่ตรวจพบได้พ่นเครื่องหมายห้ามใช้บนตัวรถแล้ว หากพบเห็นว่ามีการใช้งาน จะต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท

เปิดมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น

สำหรับมาตรการเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้จัดตั้ง และให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สนข.เป็นเลขานุการของศูนย์ ทำหน้าที่รับรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของทุกหน่วยงานทุกวัน และทำเป็นข้อมูลสะสม เพื่อวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป หรือปรับปรุงแผนงานเดิมให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สนข.มีมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวพร้อมแล้วในระยะสั้น 2563-2564 อาทิ ตรวจสภาพยานพาหนะของทุกหน่วยงาน รถโดยสาร เรือโดยสารสาธารณะในทุกเดือน รวมถึงเครื่องจักรก่อสร้างของผู้รับเหมาตามไซต์งาน, ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ให้รถ เรือโดยสารสาธารณะ และรถไฟ ใช้ไบโอดีเซล (B20)

แก้ปัญหาจราจรติดขัด หน้าด่านทางด่วนออกมาตรการปรับเวลาวิ่งรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าเขตเมืองตามพื้นที่ที่มีปริมาณ PM 2.5 เกินมาตรฐาน และห้ามรถบรรทุกดีเซลวิ่งเข้าพื้นที่ชั้นในด้วย

รวมถึงศึกษาปรับปรุงจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจูงใจใช้รถยนต์พลังงานสะอาด จะประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม และการคลังต่อไป ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการให้สำเร็จภายใน 5 ปี นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จะเจรจากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับลดค่าจอดอาคารจอดแล้วจร 50% จูงใจให้ใช้บริการสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง

“มาตรการระยะสั้นเหล่านี้ จะดำเนินการไปจนถึง ก.ค.-ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นฤดูฝนพอดี คาดว่าปัญหาจะลดลง แต่ทุกมาตรการจะทำอย่างต่อเนื่อง” นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำและว่า

ศึกษาเก็บภาษีรถก่อมลพิษ

ส่วนแผนระยะกลาง 2565-2569 เช่น เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าในแผนแม่บทให้เสร็จ เพิ่มจุด park and ride เร่งผลักดันระบบตั๋วร่วม เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด ต่อไปรถโดยสารของ ขสมก.และ บขส. รถแท็กซี่ สามล้อเครื่อง และเรือโดยสารสาธารณะ จะต้องเป็นรถ EV และ NGV ทั้งหมด ศึกษาการจัดเก็บภาษีมลพิษ ภาษีรถเก่า จัดรถ shuttle bus รับส่งพนักงานข้าราชการต่าง ๆ ไปรถไฟฟ้า BTS และ MRT, ออกบัตรโดยสารราคาประหยัดและระยะยาว ระหว่างปี 2570-2575 อาทิ บังคับใช้การจัดเก็บภาษีและจัดความต้องการในการเดินทาง เช่น ภาษีรถเก่า ภาษีมลพิษ เป็นต้น 2.เปลี่ยนท่าเรือคลองเตย จากเดิมเป็นท่าเรือรองรับตู้คอนเทนเนอร์ เป็นท่าเรือท่องเที่ยว (port city) และ 3.จำกัดใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลในกรุงเทพฯ

รายงานข่าวกล่าวเสริมว่า ในแผนระยะยาวที่ สนข.เสนอ ในนั้นมีมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเมือง (ค่าธรรมเนียมรถติด) ด้วย เพื่อบริหารจัดการเดินทางและลดมลพิษเหมือนที่ต่างประเทศ เช่น สวีเดน

ทั้งหมดเป็นแผนงานที่ตั้งต้นรอฝ่ายนโยบายเลือกหยิบมาปฏิบัติ อยู่ที่จะใช้เลี้ยงไข้แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หรือจะกล้าใช้ “ยาแรง” เพื่อให้ได้ผลสำเร็จ