บีทีเอส เร่งติดเครื่องกรองคลื่น 700 ชุดให้เสร็จพ.ค.รับ 5G

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และ นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ร่วมกันทดสอบการใช้คลื่นความถี่5G ที่สถานีสยาม เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

กรมรางหวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยปี61

นายสรพงศ์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบงานด้านระบบรางของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 5G ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหมือนเมื่อปี 2561 ที่บีทีเอสถูกคลื่น 2300 รบกวน จนทำให้ผู้โดยสารต้องรอรถไฟฟ้านาน

จึงได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งลงพื้นที่ทดสอบคลื่นความถี่ที่สถานีสยาม ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างAIS ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ 5G และบีทีเอสผู้ให้บริการรถไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบปัญหา อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และหาวิธีป้องกันการเกิดผลกระทบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบการเดินรถไฟฟ้า

“ผลการทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบ ซึ่งกรมขอให้ดำเนินการทดสอบผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และให้บีทีเอส ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นรบกวนตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครบภายใน 5 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในระยะยาว”

บีทีเอสเผย 5G ยังไม่กระทบ

ด้านนายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า บีทีเอสให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด โดยได้มีการศึกษาและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกันมาอย่างต่อเนื่องระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบโทรคมนาคมกับคลื่นที่ใช้ในการเดินรถไฟฟ้า นับจากมีประสบการณ์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นต่างคนต่างไม่รู้ แต่ครั้งนี้มีการหารือร่วมกันไม่น่าจะเกิดปัญหา

“เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เข้าไปหารือกับกสทช. ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางราง จัดประชุมประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เรากับAIS เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมา และที่ผ่านมาก็คุยหารือกันมาตลอด ก่อนที่จะประมูล5Gได้ เพราะAISมีเครือข่าย อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับคลื่นนี้อยู่แล้วที่จะสามารถทดลองได้ก็ทำงานด้วยกันมาตลอด จนAISประมูลได้คลื่นความถี่ 2500 – 2600 MHz เป็นคลื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับ คลื่นวิทยุ 2400 – 2500 MHz ที่ระบบอาณัติสัญญาณของบีทีเอสใช้อยู่ ”

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า หลังAISชนะประมูล ได้เริ่มทดสอบเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาในช่วงกลางคืนหลังปิดให้บริการ และในกลางวันของวันที่ 23 -24 ก.พ.พบว่าไม่มีผลกระทบ แต่จะทดสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นในมากยิ่งขึ้น เพราะคลื่อนมีความสลับซับซ้อนพอสมควร

ติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นเพิ่ม 700 ชุด

“เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาว เราลงทุนติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นหรือFilter เพิ่มเติม จำนวน 700 ชุดในเส้นทาง โดยอุปกรณ์ชุดแรกจะมาภายในเดือนมี.ค.นี้ ประมาณ 10 ชุดก่อน เพื่อทดสอบการกรองคลื่น หากได้ผลจะสั่งเพิ่มจนครบทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาในติดตั้งประมาณ 3-4 เดือน หรือแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ จะประสานกับ กสทช. ในการออกแบบ Filter ให้มีความคมชัด และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดต่อไป”

จูนระบบทดสอบต่อเนื่อง

ขณะที่นายวสิษฐ์ กล่าวว่า AISให้ความสำคัญกับการป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่มาโดยตลอด และทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับบีทีเอสซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของคนเมือง ได้ร่วมมือกันทดลอง ทดสอบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562ก่อนเปิดประมูลและเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังจากประมูลเรียบร้อย ในทุกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G / 5G

“เรากับบีทีเอสก็บูรณาการจูนระบบร่วมกันมาตลอด ซึ่งการทดสอบในเบื้องต้น ยังไม่พบผลกระทบแต่เราจะยังคงเดินหน้าทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้โดยสารและสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะได้ใช้งานระบบสื่อสารและระบบโดยสารที่ดีที่สุด ”

คิวต่อไปทดสอบสายสีม่วง

ทั้งนี้อธิบดีกรมการขนส่งทางรางยังกล่าวอีกว่า นอกจากรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว จะขอความร่วมมือ กสทช. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อร่วมทดสอบกับระบบรถไฟฟ้าสายสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM) เนื่องจากเป็นระบบเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินรถในอนาคต แม้ว่าจะไม่อยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองก็ตาม