“เจ้าสัวซีพี” เชื่อไฮสปีด 4 ปีเสร็จ แนะรัฐบาลไทยตั้งเป้าศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

FILE PHOTO: Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

วันที่ 16 เมษายน 2563 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) แถลงข่าวผ่าน วิดีโอ คอนเฟอร์เรนท์ ภายหลังเปิดเดินเครื่องโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยวันแรก ตอนหนึ่งของการแถลงข่าว นายธนินท์ กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และโครงการลงทุนของเครือซีพีว่า

“ผมยังมองในแง่ดี รถไฟความเร็วสูงอีก 4 ปี กว่าจะสร้างเสร็จ พอดีเลย ตอนนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกจะบูม เพราะทุกครั้งหลังวิกฤต เศรษฐกิจจะบูมอย่างก้าวกระโดด และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างคาดไม่ถึง”

“ผมไม่เชื่อว่า…ถ้าจะดีเลย์ก็รัฐบาล ผมคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนที่เราเตรียมให้พร้อมหลังวิกฤต เราไม่หยุดก่อสร้าง เพราะเราเตรียมพร้อมอยู่แล้ว รัฐบาลควรสนับสนุนให้ทั่วโลกมั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานเราไม่หยุด เดินหน้าเต็มที่ ชักชวนให้เดินทางมาเมืองไทย”

“ถามนักธุรกิจทั่วโลกว่าทำไมถึงยังจะมาเมืองไทย เพราะพื้นฐาน คนนิสัยดี เป็นศูนย์กลางค้าของโลก ทำไมรู้ไหม เราเป็นศูนย์ระดับโลก เพราะบริเวณนี้ มีประชากรสามพันกว่าล้านคน ครึ่งโลกแล้ว แล้วมีการเจริญเติบโต ในภูมิภาคนี้มี จีน ญี่ปุ่น กำลังเติบโต ญี่ปุ่นรวยที่สุด ตามมาด้วยจีน ซึ่งกำลังเติบโต มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน รองมาคืออินเดีย 1,200 ล้านคน”

“อินเดียรวยเท่าอเมริกาญี่ปุ่นได้แน่นอน ถ้าประชากร 30 % ของอินเดียรวย จำนวนคนก็เท่าอเมริกาแล้ว ส่วนจีนแค่ 30 % ก็เท่ากับ 400 ล้านคน ใหญ่เท่ายุโรปแล้ว วันหนึ่งต้องรวยแน่ ถ้าบอกว่า 30 % รวย ก็ใหญ่เท่ายุโรป ใหญ่กว่าอเมริกาอีก รวมทั้งรัสเซียก็อยู่ในนี้ส่วนหนึ่ง รวมแล้วก็กว่า 3,000 ล้านคน”

“ที่น่าสนใจมาก คือวัฒนธรรมประเทศไทย ใคร ๆ ก็ติดใจคนไทย วัฒนธรรมของเรา ใครมาเที่ยวเมืองไทยก็ชอบมาเที่ยวอีก มาอยู่ 1-2 ปี ไม่กลับประเทศ เราต้องรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ รัฐบาลไม่ต้องตั้งเป้าศูนย์กลางเศรษฐกิจเอเชีย เราต้องตั้งเป้าศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก จีนกำลังรวยขึ้นอีก อินเดียก็เก่ง เพียงแต่เขามีวัฒนธรรมหลายอย่าง ทำให้ของเมืองไทยเยี่ยมสุด ผมสั่งกับทั่วโลกว่า เรามีวัฒนธรรมยอดเยี่ยม อย่าทิ้ง เราต้องรักษาไว้ รับรองว่าเราเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก แต่รัฐบาลต้องเข้าใจ ต้องมีเป้าหมาย”

การแก้ปัญหาของรัฐบาลในมุมมองของเจ้าสัวธนินท์

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า การกู้เงินประมาณ 10% ของจีดีพี ถือว่าเล็กน้อยมาก เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะได้เงินจากภาษีคืนมาทั้งหมดแน่นอน ขอเพียงทำให้คนไทยเข้มแข็งก่อน เมื่อรัฐบาลรักษาทุกอย่างไว้ได้เหมือนเดิม สังคมก็จะเป็นปกติ มีการจ้างงานและการจับจ่ายใช้สอย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า เมื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ประเทศไทยจะวิ่งไปข้างหน้าได้ทันที ตรงกันข้าม หากปล่อยให้ทุกอย่างพังลงไป สังคมจะเดือดร้อน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนยากจนจะลุกฮือขึ้นมา

“การที่ผมพูดแบบนี้ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ตัว แต่ผมเห็นแก่ประเทศ เพราะถ้าประเทศอยู่ไม่ได้ ผมจะอยู่ได้อย่างไร ใครบอกผมไม่รักเมืองไทย ผมรักเมืองไทยที่สุด เพราะผลประโยชน์ผมอยู่ที่เมืองไทย ถ้าเมืองไทยเสียหาย ผมเสียหายที่สุด ผมไม่ได้คิดว่าเป็นประโยชน์ส่วนตัว เพราะถ้าเมืองไทยเจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีกำลังซื้อ สินค้าผมก็ขายได้”

ส่วนกรณีการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาล ซึ่งหลายคนมองว่ามีขั้นตอนยุ่งยาก เจ้าสัวธนินท์ ซึ่งออกตัวตลอดการแถลงข่าวว่า “มองโลกแง่ดี” กล่าวว่า รัฐบาลควรมองว่าคนไทยทุกคนเป็นคนดี หากมีหลักฐานก็ควรจ่ายเงินเลยทันที ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะ เหมือนที่อังกฤษและอเมริกา แต่หากพบว่ามีคนโกงก็ค่อยตามไปจัดการทีหลัง

“เพราะฉะนั้นรัฐบาลวันนี้ หนี้เท่าไหร่ต้องเกิด แม้หนี้ระยะยาว 10-30 ปี ก็ก่อไปสิ ประเทศไม่ล้มละลาย ประเทศจะได้เงินอีกด้วย ถ้าเราเอาเงินเหล่านี้ทุ่มไป คนเลี้ยงครอบครัวได้ สังคมไม่ได้เดือดร้อน ทุกอย่างอยู่รอด ภัตตาคาร แท็กซี่ แม่ค้าหาบเร่ โรงแรม แม้ว่าวันนี้ไม่มีคนท่องเที่ยวก็มีเงื่อนไขว่ายังจ่ายเงินเดือน แต่อย่าอยู่เฉยๆ ต้องฝึกอบรม เตรียมพร้อมหลังวิกฤต ว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมอย่างไร”

ดูแลบุคลากรซีพี

เรื่องแรกเพราะเรามีประสบการณ์ในเมืองจีน ซึ่งพนักงานเราไม่มีใครตายสักคน จาก 90,000 คน เพราะเราดูแลพนักงานของเรา นี่คือความสำเร็จของซีพี  เราจะสำเร็จเราต้องมีคน ทำไรทุกอย่างต้องคน ใครบอกหุ่นยนต์เก่งกว่าคนไม่จริง ยังไงคนก็สร้างหุ่นยนต์ รุ่นนี้สะสมหลายรุ่นที่เก่งขึ้น สุดท้ายพอมีรุ่นใหม่ก็เรียนรู้ต่อยอดอีก เราสร้างหุ้นยนต์มันจะไปเก่งกว่าเราได้ไง เพียงแต่เรามีการเสียชีวิต แต่หุ่นยนต์ไม่ตาย ซอฟแวร์อยู่ในหุ่นยนต์ คนใหม่ก็ต่อยอดสิ เพิ่มเติมให้ดีกว่าเดิม

“สุดท้ายก็ต้องใช้คน หุ่นยนต์ คือเครื่องมือเท่านั้น แต่อัจฉริยะเหมือนคนไม่ได้ ผมไม่เชื่อว่าวันนี้มีหุนยนต์ที่มีน้ำใจ จิตใจ ที่เก่งกว่ามนุษย์ไม่มี ทำไม่เหนื่อย แม่นยำ ไม่ลดคุณภาพ ซื่อสัตย์ สั่งให้ทำมันก็ทำ แล้วไม่ฟ้องเราด้วยนะ ถ้าเราใช้คนเกินเวลา ผิดกฎหมาย ใช้อายุต่ำกว่า 18 แต่หุ่นยนต์ไม่มีใครห้ามใช้ 24 ชั่วโมง ไม่มีสหภาพ  ซื่อสัตย์ แข็งแรง”

สำคัญ ทุกอย่างมีวิกฤตก็มีโอกาส แน่นอนเลย มันคู่กัน มีวิกฤตก็จะตามมาด้วยโอกาส แล้วใครเจอวิกฤตแล้วอยู่รอด โอกาสจะมา โอ้โห้ มันไม่รู้เบิ้ลกี่เท่า งั้นเราต้องทำยังไงให้อยู่รอดตอนวิกฤต แล้วในเวลานั้นไม่ใช่มัวแต่ตอนวิกฤต เราต้องคิดหลังวิกฤต ช่วงนี้คนเราว่างงาน เราต้องฝึกฝนคนของเรา เตรียมพร้อมช่วงหลังวิกฤต ที่คนอื่นอ่อนแอ แต่เราเข้มแข็ง หลังวิกฤตเราวิ่งเลย เราพร้อมกว่าคนอื่น

“หลักสำคัญสุดคือ ตอนไม่มีวิกฤต ต้องเตรียมทำเรื่องวิกฤตจะมาแล้วเราทำยังไง ตอนวิกฤตมา เราต้องทำเรื่องหลังวิกฤต ไม่ใช่รอเจอวิกฤตแล้วมาเตรียม มันก็สายเกินไป”

นโยบายไม่เลิกจ้าง

ใช่…ทำไมรู้ไหม คนเก่งเนี่ยหายาก มนุษย์วันนี้ยังสร้างหุ่นยนต์เก่งเท่าคนไม่ได้ นี่คือความสำเร็จของซีพี คือคน พูดเป็นหมื่นครั้งก็คน เรามเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็คือมนุษย์สร้าง สร้างเสร็จมนุษย์ก็เอาไปใช้ อย่าเข้าใจผิด มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ถ้าใช้ไม่เป็นก็ไม่มีวิญญาณ ก็ให้มนุษย์ใช้ สวมวิญญาณมนุษย์เข้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่ศูนย์ผู้นำซีพีเน้นมากคือคน ไม่มีอะไรที่ไม่มีคนทำ จากคนทั้งนั้นเลยครับ”

ไม่มีเลิกจ้าง เรายังประกาศจ้างคนอีก 20,000 คน ไม่ใช่ลดคนนะ เราเพิ่มอีกสองหมื่นนะ บริษัทต้องดูแล นี่คือทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าคือคน ต้องรักษาตรงนี้ไว้ ถ้าไม่มีคนบริษัทจะใหญ่โตได้อย่างไร

แนะผู้ประกอบการรายอื่นๆ

ทำไมซีพีไม่ต้องเลิกจ้างคน เพราะธุรกิจของซีพีเตรียมพร้อมอยู่ ถ้าวิกฤต บริษัทจะอยู่รอดไหม ธุรกิจจะใช้ได้ไหม แต่บางธุรกิจ ไม่ใช่เค้าไม่เก่ง อย่างท่องเที่ยว จะไปบอกว่าไม่ลดคน ไม่ให้คนตกงาน ก็คนไม่มาเที่ยว แล้วเงินเขาก็มีจำกัด จ่ายไปก็ไม่ไหว ใน อังกฤษบอกกับเจ้าของโรงแรม จะจ่ายเงินให้พนักงาน 80 %  ห้ามเลิกจ้าง แล้วหลังวิกฤต โอกาสมาแล้ว ค่อยไปจ่ายเงิน ถ้าทำแบบนี้ ธนาคารก็ไม่มีหนี้เสีย ประชาชนก็มีเงินจับจ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มก็เพิ่ม คนก็ไม่ตกงาน ขนส่ง ค้าขาย แม่ค้าหาบเร่ ก็ยังมีคนซื้อ

อุ้มนักธุรกิจ ช่วยเศรษฐกิจไม่ให้ล้ม

ขณะที่การช่วยเหลือภาคธุรกิจ รัฐบาลควรรีบให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่มีปัญหา เพื่อไม่ให้บริษัทเหล่านี้ล้มหายตายจาก เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะบริษัทต่างๆ ทำได้ไม่ดีพอ

เจ้าสัวธนินท์ มองว่า การช่วยภาคธุรกิจ รัฐบาลไม่ควรคิดว่าเป็นการเอื้อให้นักธุรกิจ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เศรษฐกิจและประเทศชาติ นักธุรกิจอยู่ได้ ประเทศไทยก็อยู่ได้

เมื่อถูกถามว่า วิกฤตโควิดถือว่าร้ายแรงที่สุดหรือไม่ เจ้าสัวธนินท์ตอบว่า ไม่ หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะครั้งนั้นประเทศไทยมีปัญหาด้วยตัวเอง รัฐบาลและเอกชนเป็นหนี้ต้องเสียเงินมหาศาล ประเทศเข้าขั้นล้มละลาย ต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ มีสถานะไม่ต่างจากขี้ข้า ซึ่งต้องทำตามคำสั่งของไอเอ็มเอฟ

“ธุรกิจท่องเที่ยว” ฟื้นตัวเร็วสุด

เจ้าสัวธนินท์ ยังพูดถึงธุรกิจที่น่าจะมาแรงหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยระบุว่า “ธุรกิจท่องเที่ยว” จะได้เงินทันตาและเร็วมาก เนื่องจากในโลกยังมีคนรวยอยู่เป็นจำนวนมาก คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วที่สุด แต่ระหว่างนี้รัฐบาลควรให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักมีทุนในการปรับปรุงสถานที่ และสร้างความเชื่อมั่นว่าที่พักของตนปลอดเชื้อ ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย

นอกจากนี้ เจ้าสัวยังมองว่า รัฐบาลควรเริ่มผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวด เพราะตอนนี้ประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากคนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พร้อมยกตัวอย่างที่เมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาด ที่ตอนนี้เริ่มเปิดเมืองแล้ว

“อู่ฮั่นหนักขนาดนั้นจีนยังกล้าปล่อย เราลองทดลองดู อย่าปล่อยหมด แต่ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยมีภูมิต้านทานธรรมชาติดีกว่า ผมเคยคิดว่าตอนที่รัฐบาลสั่งปิดกรุงเทพฯ คนจะแห่กลับต่างจังหวัด แล้วเชื้อจะกระจายไปทั่วประเทศ อาจเพิ่มจากหลักสิบเป็นหลายร้อย แต่ถือว่าเราผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพราะคนกรุงเทพฯ ไม่เป็น เชื้อมาจากคนที่มาจากเกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ผมว่าไม่มีปัญหา ลองทดลองดูสิ อย่างชลบุรีเปิดแล้ว ถ้าไม่เป็นอะไร จังหวัดอื่น ๆ ก็ทยอยเปิด แต่ดีสุดเรียนรู้จากที่จีน”