สมาร์ทซิตี้ “เกาะรัตนโกสินทร์” กทม. ปั้นย่าน “ปากคลองตลาด-บางลำภู”

สมาร์ทซิตี้ “เกาะรัตนโกสินทร์” กทม. เตรียมพัฒนาย่าน “ปากคลองตลาด-บางลำภู” สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.63 นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระหว่าง กทม. กับ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะโดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เพื่อผลักดันเป็น “กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ” (Bangkok Smart City) ภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับโครงการนี้เป็นการสร้างกรอบและต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นำพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นพื้นที่ศึกษา โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

มีขอบเขตการดำเนินการในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน บริเวณที่มีน้ำล้อมรอบทางด้านทิศตะวันออกจดคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่างและบางลำภู ตั้งแต่เชิงสะพานพระปกเกล้าขึ้นไปทางทิศเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณป้อมพระสุเมรุ และทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้กรอบแนวคิดใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่:

1. City Information Model ร่วมกันสร้าง ecosystem และพัฒนา Open World Platform เพื่อการบริหารจัดการและให้บริการข้อมูลเปิดของพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อสาธารณประโยชน์

2. Urban Development ร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนในแต่ละพื้นที่เพื่อให้มีส่วนร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน และมีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

3. Creative Economy ร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ทรงคุณค่าทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละย่านที่มีศักยภาพ เช่น ย่านศิลปากร แนวคิดการพัฒนาเป็น living gallery ย่านปากคลองตลาด แนวคิดการพัฒนาเป็น flower labและย่านบางลำภู มีแนวคิดการพัฒนาเป็น food lab เป็นต้น มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามร่วมกัน

นอกจากนี้ กทม. ยังดำเนินการพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนที่มีศักยภาพสูงช่วยกันพัฒนากรุงเทพมหานครสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรอบความร่วมมือ RMIT กับมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย และกรอบความร่วมมือ Future City กับสถานทูตอังกฤษ เป็นต้น

ทั้งนี้ กทม. เป็นผู้สนับสนุนพื้นที่ดำเนินงานพัฒนา หรือพื้นที่สาธารณะในความรับผิดชอบของ กทม. รวมถึงอำนวยความสะดวกในการประสานการระหว่างกัน ประชาชน และหน่วยงานอื่นในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่และพันธกิจของ กทม. สนับสนุนการเปิดข้อมูลที่กทม.จัดเก็บเพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้อย่างกว้างขวางเมื่อได้รับความยินยอมจากหน่วยงานในสังกัดเป็นรายกรณี

อีกทั้งร่วมมือกันศึกษาแนวทางการจัดทำแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของกรุงเทพฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนา กลยุทธ์ วิธีการดำเนินงาน ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่และพันธกิจของกทม.

ด้านมหาวิทยาลัยศิลปากร แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ค้นคว้า ศึกษา วิจัย และให้คำปรึกษาในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม ภูมิปัญญา เพื่อให้บริการประชาชน และการพัฒนาการปฏิบัติงานของกทม.ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ร่วมนำข้อมูลของเมืองมาต่อยอดให้เกิดการบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่